xs
xsm
sm
md
lg

ปลัดกระทรวง อว. นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) ครั้งที่ 40 เดินหน้ายกระดับอุดมศึกษาอาเซียนสู่เวทีโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกระทรวง อว. นั่งหัวโต๊ะประชุมคณะกรรมการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN) ครั้งที่ 40 เดินหน้ายกระดับอุดมศึกษาอาเซียนสู่เวทีโลก เห็นชอบตั้งเครือข่ายใหม่ด้านความมั่นคงอาหาร–ปรับระบบประกันคุณภาพมหาวิทยาลัย-หนุนเคลื่อนย้าย นศ.ในอาเซียน รับมือโลกเปลี่ยนไว

เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2568 ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน (AUN Board of Trustees) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายมหาวิทยาลัยอาเซียน ครั้งที่ 40 (The 40th AUN Board of Trustees Meeting) ณ โรงแรม Diamond Hotel Manila กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ โดยมีผู้แทนจากมหาวิทยาลัยสมาชิก AUN และสำนักเลขาธิการอาเซียนเข้าร่วมประชุม

การประชุมมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดทิศทางและขับเคลื่อนความร่วมมือทางการอุดมศึกษาในภูมิภาคอาเซียนให้สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในระดับโลก ทั้งในมิติของเทคโนโลยี ความมั่นคงด้านอาหาร และการพัฒนาทุนมนุษย์ โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุม AUN Rectors’ Conference ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2568 ภายใต้หัวข้อ “From Networks to Impact: The Future of Global Higher Education” ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มและบทบาทของมหาวิทยาลัยอาเซียนในอนาคต

ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวว่า ปัจจุบันประชาคมอาเซียนกำลังเผชิญกับความท้าทายร่วมกัน ทั้งจากวิกฤตสิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี อันส่งผลต่ออนาคตของภูมิภาคอย่างมีนัยสำคัญ สถาบันอุดมศึกษาในฐานะกลไกหลักในการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ จึงต้องมีบทบาทเชิงรุกในการรับมือกับปัญหาเหล่านี้ ดั้งนั้น ในที่ประชุมครั้งนี้จึงเห็นชอบข้อเสนอสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ 1.แนวทางประกันคุณภาพ AUN-QA ฉบับที่ 3 เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทและความท้าทายใหม่ของการบริหารจัดการมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 2.การจัดตั้งเครือข่ายย่อยด้านเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร (AUN-AFS) เพื่อขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนากำลังคนด้านการเกษตรและอาหารในระดับภูมิภาค และ 3.การส่งเสริมความร่วมมือด้านการเคลื่อนย้ายนักศึกษา (Student Mobility) และการเทียบโอนหน่วยกิต (Credit Transfer) ให้ครอบคลุมและยืดหยุ่นยิ่งขึ้น

ปลัดกระทรวง อว. กล่าวเพิ่มเติมว่า กว่า 40 ปีที่ผ่านมา เครือข่าย AUN ได้ดำเนินกิจกรรมสำคัญอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการประกันคุณภาพ การแลกเปลี่ยนนักศึกษาและนักวิจัย และการฝึกอบรมเชิงลึกในสาขาต่าง ๆ ซึ่งช่วยเสริมสร้างศักยภาพของพลเมืองอาเซียนและวางรากฐานสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคและระดับโลก

“AUN เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการสร้างความร่วมมือที่มีผลกระทบจริง ทั้งต่อคุณภาพการศึกษา กำลังคน และเสถียรภาพของภูมิภาคในอนาคต” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว








กำลังโหลดความคิดเห็น