xs
xsm
sm
md
lg

หยุดวงจร HIV เริ่มที่เรา! แพทย์ชี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือ เร่งสร้างความเข้าใจ-ป้องกันถูกวิธี ลดการแพร่ระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรกฎาคม เดือนแห่งการรณรงค์ตรวจเอชไอวี ท่ามกลางตัวเลขผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ที่พุ่งต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น แพทย์เตือนต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ในการป้องกันอย่างจริงจัง ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง และเข้าถึงยาเพร็พ (PrEP) ที่ลดโอกาสการติดเชื้อได้ถึงมากกว่า 90% เพื่อหยุดวงจรการแพร่ระบาด และสร้างสังคมปลอดภัย

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์โอภาส พุทธเจริญ รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยโรคเอดส์และโรคติดเชื้อ สภากาชาดไทย หัวหน้าสาขาวิชาโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานฝ่ายวิชาการสมาคมโรคเอดส์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อเอชไอวี (HIV) ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยพบผู้ติดเชื้อรวมกว่า 5 แสนคน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากขาดการป้องกันและไม่มีความรู้เกี่ยวกับวิธีการป้องกันที่ถูกต้อง

“ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายจึงควรเร่งสร้างความตระหนักรู้แก่ประชาชนกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ให้รู้ทันความเสี่ยงและเตรียมป้องกันตัวเองล่วงหน้า เพราะโรค HIV เป็นโรคที่ป้องกันได้ ไม่ว่าการใช้ถุงยางอนามัยหรือการใช้ยาเพร็พ หรือ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสป้องกัน”ก่อน”การมีความเสี่ยง4 ช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV5 ซึ่งเป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันการแพร่ระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

“HIV เป็นเชื้อไวรัสที่ทำลายระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดอาการภูมิคุ้มกันบกพร่อง และหากไม่ได้รับการรักษาจะส่งผลให้ป่วยเป็นโรคเอดส์ได้ เราสามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV เองได้ ด้วยการใช้การใช้ถุงยางอนามัยหรือการใช้ยาเพร็พ เพื่อลดโอกาสที่เชื้อเข้าสู่เซลล์ในร่างกาย ซึ่งผลการวิจัยยืนยันว่า ยาเพร็พสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้สูงมากกว่า 90% การใช้ยาเพร็พจึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการลดการแพร่ระบาดของ HIV ทั่วโลก และลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ4 ไม่เพียงเป็นการป้องกันการติดเชื้อ แต่ยังช่วยให้สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น"

สำหรับยาเพร็พ คือยาต้านไวรัสป้องกันการติดเชื้อก่อนที่บุคคลนั้นจะสัมผัสกับเชื้อ โดยมีทั้งรูปแบบยากินและยาฉีดป้องกันระยะยาว รูปแบบยาเพร็พมีให้เลือกตามความสะดวกและความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ถือเป็นวิธีการป้องกันที่มีประสิทธิภาพและได้รับการยอมรับในวงการแพทย์ทั่วโลก เหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ เช่น ผู้ที่มีคู่นอนติดเชื้อ HIV ที่ไม่ทราบสถานะของการรักษา หรือผู้ที่มีคู่นอนหลายคนหรือคู่นอนที่มีโอกาสมีเชื้อเอชไอวี โดยสามารถรับคำปรึกษาวิธีป้องกันด้วยการกินหรือฉีดยาเพร็พอย่างถูกวิธีจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพ

จากข้อมูลล่าสุดของกรมควบคุมโรค รายงานสถานการณ์การติดเชื้อในประเทศไทย ปี 2568 ว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมรวม 547,556 คน และมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 13,357 คน โดยผู้ติดเชื้อรายใหม่ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอายุ 25-49 ปี และพบว่าประมาณ 1 ใน 5 ของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 15-19 ปี โดยร้อยละ 97 ของผู้ติดเชื้อรายใหม่ ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน รวมถึงผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่ทราบสถานะการติดเชื้อของตนเอง ส่งผลให้ไม่ได้เข้าสู่ระบบการรักษาและอาจถ่ายทอดเชื้อ HIV ไปสู่คู่นอนได้โดยไม่รู้ตัว

“สถานการณ์ HIV วันนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของบุคคลใดบุคคลหนึ่ง แต่คือวิกฤตสุขภาพที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันรับมือ เราจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจ ลดการตีตรา และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงการป้องกันและการรักษาอย่างเท่าเทียม ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน บุคลากรทางการแพทย์ สื่อมวลชน รวมทั้งครอบครัว ต่างมีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคมที่ปลอดภัย ปราศจากการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV เสริมสร้างความมั่นคงในระบบสุขภาพไทย” รศ. นพ. โอภาส พุทธเจริญ กล่าวทิ้งท้าย

เอกสารอ้างอิง
1. เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม, กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ, เพลินจันทร์ เชษฐโชติศักดิ์, สุวััฒน์ จริยาเลิศศักดิ์, ศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล, วินัย รัตนสุวรรณ, และคณะ. (2022). แนวทางการตรวจรัักษาและป้องกัันการติิดเชื้อเอชไอวีี ประเทศไทย 2021/2022 (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรมควบคุมโรค.
2. กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (2025, กรกฎาคม 1). กรมควบคุมโรค ชวนคนไทย รู้สถานะ “เอชไอวี ตรวจเร็ว รู้ทัน ป้องกันได้ ตรวจได้ด้วยตนเอง”. กรมควบคุมโรค. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2568, จาก https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=53821&deptcode=brc&news_views=195
3. Centers for Disease Control and Prevention. (2025, January 14). About HIV. Retrieved July 18, 2025, from https://www.cdc.gov/hiv/about/index.html
4. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค. (2021). แนวทางแห่งชาติการใช้ยาป้องกันก่อนสัมผัสเชื้อเอชไอวี ประเทศไทย พ.ศ. 2564 (พิมพ์ครั้งที่ 2). นนทบุรี: กรมควบคุมโรค.
5. Centers for Disease Control and Prevention. (2024, January 18). Pre-exposure prophylaxis (PrEP). Retrieved July 18, 2025, from https://www.cdc.gov/hiv/prevention/prep.html#cdc_prevention_overview-overview
6. U.S. Department of Health and Human Services, National Institutes of Health. (n.d.). HIV prevention. Retrieved July 18, 2025, https://hivinfo.nih.gov/understanding-hiv/fact-sheets/print/24.
7. Centers for Disease Control and Prevention. (2025, February 10). Pre-exposure prophylaxis (PrEP) for HIV prevention. Retrieved July 18, 2025, from https://www.cdc.gov/hivnexus/hcp/prep/index.html
8. กองโรคเอดส์และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข. (ม.ป.ป.). ศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศด้านเอชไอวีประเทศไทย. สืบค้นเมื่อ 18 กรกฎาคม 2568, จาก https://hivhub.ddc.moph.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น