รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และคณบดี คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลงนามความร่วมมือกับ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด โดย นายเอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล และ (รักษาการ) หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกลุ่มธุรกิจองค์กร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น พร้อมด้วย นายณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์ กรรมการบริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ ประธานกรรมการ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด เพื่อพัฒนานวัตกรรม “หุ่นยนต์ผู้ช่วยรักษาพยาบาลและทำกายภาพบำบัด” ที่จะเป็นเสมือนหนึ่งในทีมบุคลากรการแพทย์ช่วยดูแลและให้บริการผู้ป่วยติดเชื้อที่อยู่ในระยะให้ยาและรักษาในห้องแยกโรค เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ยกระดับบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลที่เป็นเลิศและเป็นต้นแบบเพื่อสร้างเสริมสังคมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (Innovation for society)
ความร่วมมือครั้งนี้ เป็นการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือของทั้งสององค์กรไปอีกขั้น หลังจากประสบความสำเร็จในการร่วมพัฒนาหุ่นยนต์ตัวแรกคือ “หุ่นยนต์อัจฉริยะช่วยบริการรักษามะเร็งต่อมไทรอยด์ด้วยสารรังสีไอโอดีน” ที่ช่วยดูแลและสร้างความประทับใจแก่ผู้ป่วยมะเร็งต่อมไทรอยด์ จนสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ ระดับดีเด่น ประจำปี 2567 สาขาบริการภาครัฐ ประเภทนวัตกรรมการบริการ จากคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร)
ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการดิจิทัลครบวงจร ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ได้คิดค้น วางโครงสร้างเทคโนโลยี เชื่อมต่อการสื่อสาร และออกแบบพิเศษเพื่อภารกิจนี้โดยเฉพาะ โดยผนวกองค์ความรู้ทางการแพทย์ของภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนความเชี่ยวชาญของบุคลากรของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เข้ากับเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานยุคใหม่ที่ประกอบด้วย คลาวด์ AI และข้อมูล ตอกย้ำความตั้งใจของ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ที่จะทำให้เทคโนโลยีสามารถเข้าถึงได้และสร้างประโยชน์สูงสุด โดยช่วยสนับสนุนงานของทีมแพทย์ ช่วยพัฒนาการดูแลผู้ป่วยในกลุ่มแยกโรคให้ดีขึ้นกว่ามาตรฐานทั่วไป ตลอดจนลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่บุคคลอื่น และลดการใช้อุปกรณ์สิ้นเปลืองราคาสูงของบุคลากรแพทย์ที่ต้องใช้ในการดูแลผู้ป่วยในช่วงกักโรค ซึ่งจะเป็นต้นแบบการพัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถต่อยอดไปสู่งานรักษาพยาบาลฟื้นฟูของสถานพยาบาลต่างๆ ของระบบสาธารณสุขไทยในอนาคต
ทั้งนี้ “หุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อช่วยรักษาพยาบาลและทำกายภาพบำบัด” อยู่ระหว่างการพัฒนาภายใต้แนวคิดการออกแบบรูปลักษณ์ที่เป็นมิตรกับผู้ใช้งาน (Humanized Design) ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกมีความสุขผ่อนคลายในขณะที่อยู่ในช่วงกักตัวให้ยาในห้องแยกโรค และเพิ่มความร่วมมือต่อการทำกายภาพบำบัด ขณะเดียวกันยังใช้งานง่ายสำหรับทั้งผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ พร้อมอัดแน่นเทคโนโลยีล้ำสมัย สามารถสื่อสารและตอบสนองได้แบบเรียลไทม์ผ่านเครือข่ายทรู 5G พร้อม AI ช่วยวิเคราะห์พฤติกรรมการเคลื่อนไหวของผู้ป่วยและให้คำแนะนำแบบเรียลไทม์ เพิ่มประสิทธิภาพการฝึกสมรรถภาพร่างกายได้อย่างแม่นยำ และรองรับการต่อยอดพัฒนาฟังก์ชันอื่นๆ ในอนาคต อาทิ สามารถปรับรูปแบบการฝึกตามแผนการฟื้นฟูของผู้ป่วยรายบุคคล ไม่ว่าจะเป็น ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวหลังการผ่าตัด เป็นต้น