“ในประเทศไทยมีอัตราการตายเสียชีวิตสูงจากโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยในปัจจุบันการใช้การรักษาโรคมะเร็งใช้เคมีบำบัดเป็นวิธีหลักในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งส่วนใหญ่ยาเคมีบำบัดนำเข้ามาจากต่างประเทศมีราคาค่อนข้างสูง และทำให้ผู้ป่วยมีอาการข้างเคียงหลายอย่าง คณะผู้วิจัยของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการพัฒนาเปปไทด์ ซึ่งเป็นโปรตีนสายสั้นๆ มีความจำเพาะ จึงได้มีการพัฒนายา สารประกอบหรือเปปไทด์จากสารสมุนไพร โดยคณะผู้วิจัยของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการพัฒนาเปปไทด์ ซึ่งเป็นโปรตีนสายสั้นๆ มีความจำเพาะ ราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับยาเคมีบำบัด ซึ่งงานวิจัยนี้ได้พัฒนาเปปไทด์จากกระเทียมและทำการศึกษาฤทธิ์ของเปปไทด์ในการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว ซึ่งเริ่มต้นทดสอบจากหลอดทดลอง และทำการทดสอบในเซลล์เม็ดเลือดจากผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว”
คำว่า “เปปไทด์” คือ โปรตีนสายสั้นๆ โดยงานวิจัยนี้สังเคราะห์เปปไทด์จากกระเทียมที่มีลำดับของกรดอะมิโน 9 ตัวเรียงตัวกัน โดยกำหนดชื่อเป็น เปปไทด์วีเอสไนน์ (VS9)
รองศาสตราจารย์ ดร. ดลินา ตันหยง อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า งานวิจัยชิ้นนี้ได้ทำการวิจัยร่วมกับศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และนักวิจัยจากต่างประเทศ โดยกรรมวิธีการผลิตเปปไทด์นี้ได้รับอนุสิทธิบัตรเมื่อปี 2566 โดยมีการใช้เทคนิคในการสกัดเปปไทด์จากกระเทียม ตามลำดับขั้นตอนจนได้เปปไทด์ที่มีบริสุทธิ์ จากนั้นจึงทำการศึกษาผลของเปปไทด์ต่อการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดมัยอิลอยด์และลิมฟอยด์ และทำการศึกษากลไกการตายของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยเน้นการตายแบบอะพอพโตซีส (apoptosis) ผลการวิจัยพบว่าเปปไทด์จากกระเทียมสามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาวทั้งสองชนิดได้ และมีผลต่อเซลล์ปกติน้อยมาก โดยผลงานวิจัยนี้สามารถนำไปต่อยอดเรื่องการผลิตสารสกัดหรือเปปไทด์จากสารสมุนไพรไทยเพื่อพัฒนาเป็นยาทางเลือกในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ แต่อย่างไรก็ตามแม้ว่าคณะผู้วิจัยได้รับอนุสิทธิบัตร แต่ในแง่ของการนำไปใช้จริงยังมีอีกหลายขั้นตอน โดยจำเป็นต้องทดสอบการศึกษาต่อไปเกี่ยวกับปริมาณหรือผลกระทบต่อเซลล์คนปกติและผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โดยโครงการวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนเบื้องต้นจากสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (INT) ของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชาสัมพันธ์เพื่อหาแหล่งผลิตหรือความร่วมมือต่างๆ โดยผลที่ได้จากงานวิจัยนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แพทย์ และนักวิจัยในการพัฒนาเปปไทด์จากสารสมุนไพรไทยเพื่อการรักษาโรคต่างๆรวมทั้งโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์ ดร. ดลินา ตันหยง ได้ฝากข้อคิดให้กับอาจารย์ หรือนักวิจัยรุ่นใหม่ ว่า “ถ้าสามารถผลิตผลิตภัณฑ์ หรือสารใดๆ ก็ตามที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ หรือสามารถพัฒนาเป็นยาที่ผลิตในประเทศ จะสามารถช่วยในด้านเศรษฐกิจ นอกจากการส่งเสริมการปลูกพืชสมุนไพร แล้วยังสามารถลดการนำเข้าของยาจากต่างประเทศ ที่สำคัญในอนาคต ถ้าสามารถผลิตยารักษาโรคมะเร็งต่างๆจากสารสมุนไพรหรือสารธรรมชาติ ที่อาจใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัดในทางการแพทย์ในปัจจุบันจะมีประโยชน์มาก ซึ่งจากผลเบื้องต้นงานวิจัยนี้พบว่าเปปไทด์จากกระเทียมนี้มีฤทธิ์เสริมกับยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว ดังนั้นน่าช่วยลดการใช้ยาเคมีบำบัดที่ราคาแพงหรือลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติได้ โดยในอนาคตควรสนับสนุนการพัฒนายาจากสมุนไพรไทยหรือสารธรรมชาติมากยิ่งขึ้น จะสามารถช่วยเหลือผู้ป่วย รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปได้เป็นอย่างมาก”