xs
xsm
sm
md
lg

วิจิตรลั่น “ผมไม่ใช่ผู้ร้าย” ยันนอกระบบดีจริง กลุ่มต้านยื่นนายกฯระงับทูลเกล้าฯจุฬาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“วิจิตร” ยัน พ.ร.บ.3 มหาวิทยาลัยที่เพิ่งผ่าน สนช.เขียนหลักประกันทางการศึกษาให้ นศ.ยากจนชัดเจน ปลอดการสืบทอดอำนาจของผู้บริหาร โดยเฉพาะของ จุฬาฯ ที่กำหนดคุณสมบัติอธิการบดีอย่างเข้มข้น ลั่น “ผมไม่ใช่ผู้ร้าย” ขณะที่กลุ่มต้านดันจุฬาฯ ออกนอกระบบเตรียมเดินหน้าทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ระงับทูลเกล้าฯ ร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ โดยให้ดำเนินการตามกระแสรับสั่งที่ทรงให้รับฟังความเห็นอย่างกว้างขวางก่อน หากไม่เป็นผลจะทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาต่อไป

ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.มหาวิทยาลัย 3 แห่งที่ผ่านความเห็นชอบวาระ 3 จากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัย 3 แห่งที่เพิ่งผ่านการพิจารณา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.เชียงใหม่ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าลาดกระบัง ซึ่งมีการบัญญัติไว้ชัดเจนเหมือนกัน 3 เรื่อง คือ มหาวิทยาลัยจะต้องส่งเสริมนักศึกษาผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้ได้เรียนต่อเนื่องจนจบปริญญาตรี เป็นหลักประกันทางการศึกษาแก่นักศึกษายากจน ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยรัฐไม่เคยมีกฎหมายใดๆ ประกันเรื่องนี้มาก่อนเลย

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวยังกำหนดไม่ให้มีการสืบทอดอำนาจของฝ่ายบริหารระดับต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ผู้ดำรงตำแหน่งบริหารไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี นายกสภาฯ ดำรงตำแหน่งได้ไม่เกิน 2 วาระ และยังบัญญัติให้รัฐบาลต้องสนับสนุนเงินงบประมาณอย่างเพียงพอและต่อเนื่องแก่มหาวิทยาลัย เพื่อตัดข้อกังวลว่ามหาวิทยาลัยต้องรับภาระหาเงินเลี้ยงตัวเองจนก่อปัญหาภาระค่าเล่าเรียนแพง

ศ.ดร.วิจิตร กล่าวอีกว่า การออกนอกระบบจะทำให้มหาวิทยาลัยสามารถจัดระบบบริหารของตนเองได้ไม่ว่าจะด้านวิชาการ บุคคล งบประมาณ อย่างอิสระภายใต้การกำกับดูแลของสภามหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบนั้น การบริหารจะขึ้นตรงกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีมีอำนาจแค่กำกับให้มหาวิทยาลัยทำตามนโยบายรัฐ เสนอแนะการจัดเงินอุดหนุนแก่มหาวิทยาลัย ส่วนในรายละเอียดบางอย่าง กฎหมายของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะไม่เหมือนกัน เช่นจุฬาฯมีการกำหนดคุณสมบัติอธิการบดีไว้เข้มข้นไม่เหมือนมหาวิทยาลัยอื่น โดยระบุว่าอธิการฯ ต้องมีคุณสมบัติจบการศึกษาระดับปริญญาเอก หรือไม่ก็มีตำแหน่งศาสตราจารย์ เคยดำรงตำแหน่งระดับคณบดีมาแล้ว เป็นต้น

“พ.ร.บ.ของจุฬาฯ กำหนดให้ผู้ที่เป็นข้าราชการมีระยะเวลาสำหรับการเลือกที่จะเป็นข้าราชการต่อไปจนเกษียณอายุ หรือออกมาเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ในระยะเวลา 1 ปี หลังกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งกฎหมายของทุกมหาวิทยาลัยกำหนดไว้เหมือนกันเลยว่าผู้ที่เลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยจะได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม รวมทั้งสวัสดิการอื่นๆ ต้องไม่ต่ำกว่าที่เคยได้รับตอนเป็นข้าราชการ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบสถานภาพจะไม่ใช่ส่วนราชการ ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ เป็นหน่วยงานรัฐที่เรียกว่ามหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ”

“ผมไม่รู้สึกเป็นทุกข์ใจอะไรที่ผลักดันให้กฎหมายทั้ง 3 มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ของไทยผ่านสภา ผมทำหน้าที่ที่ไม่ใช่ผู้ร้าย แม้ใครจะมองผมเป็นผู้ร้ายก็ช่าง ผมไม่เคยเสียใจเลยที่ได้ทำเรื่องนี้ มันเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยต่างๆรอคอยมานาน ที่ผ่านมามีแต่พวกป้ายสีว่าการออกนอกระบบเป็นสิ่งเลวร้าย หาว่าพวกผมที่พิจารณากฎหมายมีประโยชน์ทับซ้อนนั่งเป็นนายกสภาฯกรรมการสภามหาวิทยาลัยหลายแห่ง ผมอยากรู้ว่าเป็นแล้วมันมีประโยชน์ทับซ้อนอะไร ค่าตอบแทนนายกฯสภาก็ได้แค่เดือนละ 12,500 บาท เบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาท แต่ที่ต้องรับภาระหนักคือต้องจ่ายภาษีสังคม ประโยชน์แค่นี้จะเรียกว่าทับซ้อนได้อย่างไร ส่วนคุณหญิง สุชาดา กีระนันท์ อธิการบดีจุฬาฯ ก็กล่าวหาว่าเขาผลักดันกฎหมายเพื่อสืบทอดตำแหน่ง เขาจะสืบทอดได้อย่างไร เขากำลังจะหมดวาระไม่มีโอกาสจะกลับมาดำรงตำแหน่งอธิการได้อีกแล้ว”


ศ.ดร.วิจิตร กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้ มหาวิทยาลัยที่ พ.ร.บ.ออกนอกระบบผ่านการพิจารณาของสภาจะต้องรอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯ พระราชทานกฎหมายกลับมาก่อนจึงจะบังคับใช้กฎหมายได้ ซึ่งในรัฐบาลชุดนี้มีการผลักดัน พ.ร.บ.ออกนอกระบบไปทั้งหมด 7 ฉบับ รวม พ.ร.บ.ที่เพิ่งผ่านสภา 3 ฉบับนี้แล้ว มีเพียง พ.ร.บ.ของ ม.มหิดลฉบับเดียวที่ทรงโปรดเกล้าฯ ลงมา ยังเหลือของ ม.บูรพา ม.ทักษิณ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กับอีก 3 ฉบับที่เพิ่งผ่าน สนช.นี้ ซึ่งตนคิดว่ามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ออกนอกระบบต่อไปถ้าวางระบบบริหารจัดการไม่ดีไม่มีความยุติธรรม โปร่งใส ตัวนายกสภามหาวิทยาลัยจะต้องถูกฟ้องร้องเป็นจำเลยที่ 1 เลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้ คงไม่มีใครกล้าจะบริหารงานแบบไร้ธรรมาภิบาลแน่นอน

ขณะที่นายพอพันธ์ วัชจิตพันธ์ ประธานสภาคณาจารย์จุฬาฯ กล่าวว่า ในวันพรุ่งนี้ (21 ธ.ค.) สภาคณาจารย์จะประชุมกันเพื่อประกาศแนวทางที่สภาคณาจารย์จะดำเนินการหลังร่าง พ.ร.บ.จุฬาฯ ผ่านการพิจารณาของ สนช.โดยจะติดตามให้ฝ่ายบริหารมหาวิทยาลัยปฏิบัติตามสิ่งที่ได้พูดไว้กับสภาคณาจารย์ว่าปฏิบัติตามพระราชกระแสรับสั่งของในหลวงเมื่อเดือนเมษายน 2543 ที่ทรงให้แนวทางว่าก่อนจะประกาศใช้กฎหมายมหาวิทยาลัยควรมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับร่างกฎหมายประกอบที่จะมารองรับ พ.ร.บ.จุฬาฯ อย่างครบถ้วน เป็นไปในทางประชาพิจารณ์ รับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างกว้างขวาง รวมถึงความคิดเห็นของประชาชน ส่วนการเคลื่อนไหวเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในหลวงนั้น ทางสภาคณาจารย์ยังไม่ได้คิดและยังไม่มีกลุ่มใดมาชักชวน

ส่วน นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ แกนนำการคัดค้านการออกนอกระบบของจุฬาฯ กล่าวว่า แม้กฎหมายผ่าน สนช.แต่ก็ยังไม่ได้ส่งทูลเกล้าฯ ให้ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย ดังนั้น ทางกลุ่มต่อต้านจะทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีโดยด่วน เพื่อให้นายกฯ พิจารณาทำตามกระแสรับสั่งในหลวงเรื่องการทำประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายลูกประกอบ พ.ร.บ.ของจุฬาฯ ให้เสร็จสิ้นเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายก่อน จึงค่อยทูลเกล้าฯ กฏหมายหลักให้ในหลวงลงพระปรมาภิไธย หากไม่ทำตามนี้กลุ่มคัดค้านก็จะยื่นถวายฎีกาในหลวงเพื่อคัดค้าน พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อไป

ขณะที่นายกิตติ ตีระเศรษฐ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า สำหรับ สจล.ให้ระยะเวลาแก่ผู้บริหาร เช่น อธิการบดี คณบดี มหาวิทยาลัยไว้ 60 วันหลังกฎหมายประกาศใช้ ที่จะเลือกเป็นพนักงานมหาวิทยาลัยหรือข้าราชการ ส่วนระดับอาจารย์และข้าราชการทั่วไปให้เวลา 180 วัน และถ้าเลือกในระยะเวลาที่กำหนดก็จะไม่ต้องถูกประเมิน ถูกทดลองงานแต่อย่างใด ส่วนนักศึกษาที่ยากจนนั้น มหาวิทยาลัยมีทุนการศึกษารองรับให้เรียนจนจบได้อย่างสบายปีละ 20 ล้านบาท ส่วนการออกกฎหมายลูกรองรับ พ.ร.บ.ของสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารด้านต่างๆ จะมีการทำประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวางให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยทุกระดับได้ช่วยกันวางระเบียบรองรับให้การบริหารงานเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดย พ.ร.บ.ของสถาบันได้กำหนดชัดว่ามหาวิทยาลัยจะต้องส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในมหาวิทยาลัยในการบริหารงาน จะต้องมีธรรมาภิบาล โปร่งใส สุจริต ตรวจสอบได้ ถ้าผิดจากนี้ฝ่ายบริหารก็จะต้องรับผิดชอบทางกฎหมายหากมีการฟ้องร้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น