ประชาคมจุฬาฯ ประกาศถวายฎีกาหยุดมหาวิทยาลัยออกนอกระบบวันนี้ หลังพบข้อสงสัยในร่าง พ.ร.บ.หลายจุด พร้อมเผย “อธิการบดี” ทำแปลกเรียกประชุมสภาคณาจารย์ด่วนวันนี้ หลังไม่เคยใส่ใจมาก่อน คาดเกลี้ยกล่อมให้หยุดค้าน ขณะที่ม.เชียงใหม่ก็เดินหน้าล่ารายชื่อคัดค้านการแปรรูปมหาวิทยาลัยเช่นกัน ด้านประธานทปอ.ยันหนุนออกนอกระบบเต็มที่ เผยวันพุธนี้นำ “จุฬาฯ-มช.-ลาดกระบัง”เข้าสนช.เหมือนเดิม
แหล่งข่าวจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในนามเครือข่ายคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ....เปิดเผยว่า ในวันนี้(17 ธ.ค.) ทางเครือข่ายจะนำหนังสือคัดค้านการนำจุฬาฯ ออกนอกระบบขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกา เนื่องจากร่างกฎหมายมีข้อบกพร่องในหลายจุด รวมทั้งไม่ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากส่วนต่างๆ อย่างเพียงพอ
โดยเฉพาะอย่างตัวร่างกฎหมายที่เผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์ของจุฬาฯ นั้นก็เป็นคนละฉบับกับที่นำเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)
“ตอนที่เราเปิดเผยเรื่องกฎหมายคนละฉบับ ปรากฏว่า ทางผู้บริหารรีบไปเปลี่ยนเอาฉบับที่เข้าสนช.ไปขึ้นเรียบร้อยแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา ตรงนี้ถามว่า เกิดอะไรขึ้น เป็นการแสดงเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ใช่หรือไม่ อีกจุดที่น่าแปลกใจคือตอนที่องค์การนิสิตนำข้อความเกี่ยวกับการออกนอกระบบไปแจกจ่ายและชี้แจงให้คนจุฬาฯ ปรากฏว่าเป็นข้อความเดียวกับร่างกม.ฉบับที่นำเข้าสนช. ถามว่า นิสิตเหล่านั้นได้ข้อมูลเหล่านั้นมาจากไหน ในขณะที่อาจารย์และคนส่วนใหญ่ในจุฬาฯ ไม่รู้ด้วยซ้ำไป”
แหล่งข่าวจากจุฬาฯ กล่าวต่อว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมาคุณหญิงสุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้เรียกคณบดีเข้าพบเพื่อพุดคุยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องที่ผิดปกติอะไร แต่เรื่องที่แปลกคือในวันที่ 17 ธ.ค.นี้คุณหญิงสุชาดาได้ทำหนังสือเรียกประชุมสภาคณาจารย์ทุกท่านเพื่อหารือในเรื่องเดียวกัน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านั้นอธิการบดีแทบจะไม่เคยพูดคุยกับสภาคณาจารย์เลย
ที่สำคัญคือเรียกประชุมในฐานะที่ปรึกษาอธิการบดีอีกต่างหาก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ว่า เป็นการเรียกเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ยุติความเคลื่อนไหวคัดค้านการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ
แหล่งข่าวยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเหตุการณ์ลักษณ์นี้คล้ายกับมหาวิทยาลัยนเรศวร(มน.)ที่อธิการบดีเรียกคณบดีและสภาคณาจารย์เข้าพบเพื่อให้ลงชื่อเห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.มน. และเกรงว่าการที่อธิการบดีจุฬาฯเรียกสภาคณาจารย์เข้าพบในวันนี้จะเกิดการรวบรัดและนำมากล่าวอ้างว่าสภาคณาจารย์เห็นด้วยกับการออกนอกระบบ
ขณะที่แหล่งข่าวจากม.เชียงใหม่ให้ข้อมูลว่า ขณะนี้ประชาคมชาวม.เชียงใหม่ที่กำลังล่ารายชื่อเพื่อหยุดยั้งการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ โดยคาดว่าจะนำรายชื่อทั้งหมดยื่นต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวันอังคารนี้ก่อนที่กฎหมายจะเข้าสู่การพิจารณาของสนช.
ด้านรศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า ที่ประชุม ทปอ.ยืนยันสนับสนุนให้ทุกมหาวิทยาลัยเป็นม.ในกำกับรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาสามารถผลักดันออกไปเป็นม.ในกำกับได้แล้ว 4 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ในวันที่พุธ ที่ 19 ธ.ค. นี้อีก 3 แห่งคือ ร่างพ.ร.บ.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ร่างพ.ร.บ.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และร่างพ.ร.บ.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้ง 3 ฉบับที่เหลือน่าจะสามารถผ่านการพิจารณาของสนช.ไปได้อย่างไม่มีปัญหา
“ที่ประชุมทปอ.ยืนยันสนับสนุนในหลักการที่ให้ทุกมหาวิทยาลัยออกนอกระบบ สำหรับมหาวิทยาลัยที่ยังมีปัญหาไม่ว่าจะเป็นข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่นร่างพ.ร.บ.จุฬาฯ ทางทปอ.จะไม่ขอเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องที่แต่ละแห่งต้องจัดการกันเอง ทปอ.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายเรื่องภายในของแต่ละมหาวิทยาลัย”รศ.ดร.วันชัย กล่าว