กระทรวงสาธารณสุข เตือนครูประจำศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ ที่นิยมจัดปาร์ตี้ฉลอง วันคริสต์มาส ปีใหม่ ระวังแจ๊กพ็อตโรคมือเท้าปาก แนะให้คุณครูช่วยดูแลเป็นกรณีพิเศษ ชี้เชื้อที่ระบาดตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในขณะนี้เป็นเชื้อไม่รุนแรง หายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน
นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรคมือเท้าปากที่ระบาดตามศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและโรงเรียนในขณะนี้ ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเป็นสถานที่เด็กมาอยู่รวมกัน ทำให้เป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อได้ดี เนื่องจากโรคนี้ติดต่อโดยการสัมผัสตรงกับน้ำมูก น้ำลาย อุจจาระของผู้ป่วย หรือน้ำในตุ่มพอง หรือแผลของผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ ซึ่งเด็กจะได้รับเชื้อจากการรับประทานอาหาร และน้ำที่มีเชื้อปนเปื้อนเข้าไป
“โดยเฉพาะในช่วงนี้ต้องระวัง เนื่องจากโรงเรียนอนุบาล หรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก มักนิยมจัดงานปาร์ตี้ฉลองวันคริสต์มาส เลี้ยงฉลองปีใหม่ ซึ่งจะมีเด็กจำนวนมาก มาร่วมกิจกรรมกลุ่ม เล่นเกมต่างๆ อย่างสนุกสนาน หากมีเด็กคนหนึ่งคนใดเป็นโรคมือเท้าปาก ก็จะติดกันง่ายขึ้น จึงขอให้ครูพี่เลี้ยงเคร่งครัดความสะอาดสถานที่ อาหารการกิน ของเล่นต่างๆ โดยให้เด็กล้างมือก่อนรับประทานอาหาร และภายหลังขับถ่าย ซึ่งเป็นวิธีที่จะลดการแพร่ระบาดได้มาก” นายแพทย์ปราชญ์ กล่าว
นพ.ปราชญ์ กล่าวต่อว่า เชื้อโรคมือเท้าปากที่ระบาดในขณะนี้เป็นเชื้อไวรัสอยู่ในลำไส้คนชนิดที่ไม่รุนแรง เด็กจะหายได้เองประมาณ 1 สัปดาห์หากไม่มีอาการซ้อนอื่นๆ ยังไม่พบเชื้อรุนแรง หลังพบการระบาดในครั้งนี้ ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสนับสนุนโรงเรียนในการทำความสะอาดอาคารเรียน โรงอาหาร อุปกรณ์การเรียนและของเล่นเด็กให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ
ทางด้านนพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากรายงานการเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคมื้อเท้าปาก ของสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่มกราคม – 24 พฤศจิกายน 2550 ทั่วประเทศ พบโรคมือเท้าปากทั้งหมด 8,720 ราย เสียชีวิต 1 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมาในช่วงเดียวกันพบเพียง 3,527 ราย โดยพบมากที่สุดในภาคกลาง รองลงมา ได้แก่ ภาคเหนือ โดยเฉพาะในสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 18-24 พฤศจิกายน 2550 พบโรคมือเท้าปาก 288 ราย เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วพบเพียง 70 ราย แต่ในปีนี้ยังไม่พบโรคแทรกซ้อนรุนแรงเช่นปีที่ผ่านมา
นพ.ธวัช กล่าวต่ออีกว่า แหล่งที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคมือเท้าปาก คือ สถานที่ที่มีเด็กมารวมกัน ไม่ว่าจะเป็นสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และสถานที่สำคัญ คือ ครอบครัว ซึ่งหากมีเด็กป่วยด้วยอาการของโรคมือเท้าปาก คือ มีไข้ อ่อนเพลีย ไม่ดื่มนม เบื่ออาหาร เจ็บคอ ปวดศีรษะ มีตุ่มน้ำใสหรือแผลที่คอ ปาก ลิ้น กระพุ้งแก้ม ตุ่มน้ำใสขนาดเล็กขึ้นตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า ก้น ซึ่งระยะตุ่มน้ำใสจะพบเชื้อไวรัสมากที่สุด และติดต่อได้ง่ายที่สุด ขอให้แยกเด็กออกจากกันและให้หยุดเรียน ไม่ให้เล่นคลุกคลีกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด นอกจากนี้ควรสังเกตอาการเริ่มต้นด้วย เพราะโรคมือเท้าปากโดยทั่วไปจะมีไข้ต่ำๆไม่สูง แต่ในรายที่รุนแรงนั้นพบว่าจะมีไข้สูง หรือมีอาการชัก หรือหายใจหอบ ทานอาหารไม่ได้ ให้รีบพาไปพบแพทย์