xs
xsm
sm
md
lg

สมศ.เปลี่ยนเกณฑ์เลื่อนวิทยฐานะ “ประเมินจากลูกศิษย์ ไม่ใช่กระดาษ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“สมหวัง” เผย 7 หลักการสำคัญใช้ประเมินวิทยฐานะ ย้ำเลื่อนให้เฉพาะผู้ที่มีผลงาน แย้มประเมินจากลูกศิษย์มีประสิทธิภาพ พร้อมสกัดครูทำผิดวินัยร้ายแรง ชวดรับวิทยฐานะ


ศ.กิตติคุณ ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วิสามัญเฉพาะกิจปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษามีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะ กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะ ว่า คณะอนุกรรมการฯ มีมติเห็นชอบร่วมกันใน 7 หลักการสำคัญ ดังนี้
1.เนื่องจากวิทยฐานะไม่ใช่สวัสดิการ เพราะเป็นตำแหน่งทางความรู้ ความสามารถเฉพาะบุคคล ดังนั้นไม่ใช่ทุกคนต้องการเลื่อนวิทยฐานะก็เลื่อนได้ 2.การประเมินเลื่อนวิทยฐานะทุกระดับ ได้แก่ ชำนาญการ ชำนาญการพิเศษ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ จะต้องสะท้อนประสิทธิภาพ ผลงานการปฏิบัติหน้าที่ อย่างเช่น ศึกษานิเทศก์ (ศน.) ต้องการขอเลื่อนวิทยฐานะก็ต้องประเมินจากคุณภาพการนิเทศก์ ผลการนิเทศก์ที่มีผลต่อโรงเรียน นักเรียน และครู เป็นต้น ในเมื่อมีการเจริญก้าวหน้าตามวิทยฐานะ คุณภาพการศึกษา คุณภาพลูกศิษย์ก็ต้องก้าวหน้าหรือมีคุณภาพตามวิทยฐานะที่เพิ่มขึ้นด้วย

3.ได้กำหนดเรื่องภาระการทำงานของครู ประมาณ 12-15 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จากเดิมที่ไม่เคยกำหนดไว้ แต่อาจจะต้องศึกษาในรายละเอียดเรื่องภาระงานอีกครั้งโดยอาจจะมีการผ่อนปรนเพื่อให้เกิดการปรับตัว เนื่องจากครูหลายคนไม่ได้ทำหน้าที่งานสอนเพียงอย่างเดียว ขณะที่ ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้มอบให้สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.)ไปศึกษาเรื่องภาระงานของครูอยู่ด้วย ทั้งนี้การกำหนดภาระงาน เพราะต้องการส่งสัญญาณ One Job full Time งานเดียวเต็มเวลา ให้กับคนวงการศึกษา หวังให้คนเป็นครู ศน. ผู้บริหาร ทำงานเพื่อลูกศิษย์ เพื่อคุณภาพการศึกษา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะเป็นการช่วยกระจายครูได้ในทางหนึ่ง เพราะหากครูที่อยู่ในโรงเรียนใหญ่ต้องการความก้าวหน้าก็อาจจะต้องไปอยู่ในโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อให้มีภาระงานมากขึ้น

4.จะเปลี่ยนการประเมินในส่วนคุณธรรมจริยธรรมที่ให้คะแนน 100 คะแนน เป็นการตรวจสอบประวัติว่ามีการทำผิดวินัย หรือมีความผิดตามที่ ก.ค.ศ.กำหนดหรือไม่โดยตรวจสอบไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) โรงเรียน และจะไม่อนุญาตให้ผู้ที่มีความผิดวินัยร้ายแรงใช้สิทธิ์ขอเลื่อนวิทยฐานะ แต่หากมีการร้องเรียนระหว่างที่ขอเลื่อนวิทยฐานะก็จะทำไปตามกระบวนการก่อน ถ้าหากตรวจสอบพบว่าทำจริงตามร้องเรียนก็จะไม่ให้ผ่านการประเมิน หรือหากประเมินผ่านได้วิทยฐานะแล้วก็จะถอนกลับคืนและงดจ่ายเงินประจำตำแหน่ง อย่างไรก็ตาม ยังต้องไปกำหนดในรายละเอียดอีกว่ากรณีทำผิดวินัยจะกำหนดระยะเวลาไม่ให้ขอเลื่อนวิทยฐานะเป็นเวลากี่ปี 5.จะไม่เอาเงินเดือนเป็นอุปสรรค คือ ไม่กำหนดเงินเดือนขั้นต่ำ

6.เห็นชอบหลักการให้มีระบบ fast track เช่น หากมีครูที่เชี่ยวชาญ เป็นผู้รู้และเป็นที่ยอมรับประจักษ์ชัด มีความดี มีผลงาน รวมถึงฝีมือการสอน การขอเลื่อนอาจจะไม่ต้องเลื่อนจากระดับชำนาญการ อาจจะไปเชี่ยวชาญ เป็นต้น และ 7.จะมีการประเมิน 2 ส่วนคือ 1.ประเมินด้านคุณภาพ ว่าคุณภาพการสอน คุณภาพในการพัฒนาผู้เรียนเป็นไร โดยดูจากแผนการสอน อุปกรณ์การสอน พฤติกรรมการสอน การประเมินการสอน แต่ก็ต้องมีผู้ประเมินลงไปดูด้วยตนเองด้วย 2.ประเมินด้านผลการสอน โดยดูจากคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) มาประกอบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะเตรียมไปดำเนินการเพื่อยกร่างรายละเอียด แล้วนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา พิจารณา ก่อนนำมาใช้จริง

อนึ่ง ที่มาของการปรับเกณฑ์วิทยฐานะ เพราะก่อนหน้านี้ได้มีการวิพากษ์วิจารณ์ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ทำไมถึงมีครูที่ได้เลื่อนวิทยฐานะในแต่ละปีจำนวนมาก ขณะที่คุณภาพการศึกษาซึ่งดูจากผลการเรียนของนักเรียนไม่ได้ขยับแถมนับว่าจะถอยหลัง ศ.ดร.วิจิตร จึงได้สั่งให้ สมศ.ไปปรับปรุงหลักเกณฑ์การขอเลื่อนวิทยฐานะมาเสนอ ศธ.อีกครั้ง พร้อมกำชับเน้นคุณภาพเด็กเป็นสำคัญ ใช่ดูผลงานจากเปเปอร์ ซึ่งที่ผ่านมาครูหลายคนละทิ้งหน้าที่การสอนมัวแต่มานั่งทำรายงานเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ

กำลังโหลดความคิดเห็น