xs
xsm
sm
md
lg

12 สิงหา เตรียมชมฝนดาวตกวันแม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เตรียมชมฝนดาวตกวันแม่ 12 ส.ค.นี้ ตั้งแต่ 23.00 น.ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น โดยมองไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ หากลุ่มดาวเพอร์ซิอุสที่อยู่ระหว่างดาวค้างคาวกับดาวลูกไก่ นักวิชาการชี้แม้แสงจันทร์เป็นใจ ทำให้เห็นชัดขึ้น แต่ยังต้องลุ้นว่าเมฆฝนจะมากหรือไม่ แนะอย่าคาดหวังมากให้นับดาวแก้ง่วง

นายอารี สวัสดี
นายกสมาคมดาราศาสตร์ไทย กล่าวว่าปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์ซิอิดส์ (Perseids) ที่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจะได้เห็นในคืนวันที่ 12 สิงหาคมต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันที่ 13 สิงหาคมนี้ เป็นฝนดาวตกที่เกิดจากดาวหางสวิฟต์ - ทัตเทิลที่โคจรมาทุก 133 ปีนั้น ได้โคจรผ่านมาล่าสุดเมื่อ 15 ปีก่อน และทิ้งสะเก็ดฝุ่นดาวหางไว้ในเส้นทางวงโคจรของโลกบริเวณเดือนสิงหาคมของทุกปี เมื่อโลกโคจรมาถึงจุดนี้ในแต่ละปี แรงดึงดูดของโลกก็จะดึงดูดสะเก็ดเหล่านี้เข้ามาในโลก ขณะที่โลกฝ่าผ่านเกิดการเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลกจนลุกไหม้เป็นลำแสงลักษณะต่าง ๆ ก่อนตกลงมาสู่พื้นโลก ทำให้เราได้เห็นเป็นลักษณะเหมือนกับดาวตกจำนวนมาก โดยฝนดาวตกจากดาวหางสวิฟต์ - ทัตเทิลนี้ คนบนโลกจะเห็นเหมือนกับลำแสงนั้นพุ่งตรงออกมาจากกลุ่มดาวเพอร์ซิอุส (Perseus) จึงเป็นที่มาของชื่อ ฝนดาวตกเพอร์ซิอิดส์

นายอารี กล่าวว่า สำหรับการชมฝนดาวตกครั้งนี้ให้รอชมในที่กว้างโล่งและไม่มีแสงสว่างรบกวน เมื่อถึงเวลาประมาณ 23.00 น. ให้มองไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ มองไปยังกลุ่มดาวเพอร์ซิอุส ซึ่งจะอยู่ระหว่างดาวค้างคาวและดาวลูกไก่ อย่างไรก็ตาม แม้คืนดังกล่าวจะเป็นคืนจันทร์ดับพอดี คือจะไม่มีแสงจันทร์มารบกวน ทำให้เห็นดาวตกชัดขึ้น แต่ก็ยังต้องคอยดูว่า มรสุมหรือเมฆฝนจะมาปกคลุมหรือไม่ ถ้าคืนนั้นพื้นที่ใดมีเมฆฝนก็หมดสิทธิ์ที่จะได้ชมแน่นอน

“ในฤดูฝนอย่างนี้ ต้องภาวนาขอให้คืนนั้นฟ้าโปร่ง ไม่มีเมฆมากนัก ก็จะมีโอกาสได้เห็นฝนดาวตก ทั้งนี้ ยังไม่แน่ใจว่าจะมีปริมาณดาวตกมากหรือน้อยอย่างไร แต่คงจะไม่มากเหมือนกับฝนดาวตกลีโอนิดส์เมื่อหลายปีก่อน” นายกสมาคมดาราศาสตร์ กล่าว

ด้านนายสิทธิชัย จันทรศิลปิน หัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา กล่าวถึงปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์ซิอิดส์ ว่าหลายคนเรียกฝนดาวตกนี้ว่า ฝนดาวตกวันแม่ เพราะจะมาให้เห็นในช่วงวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี ในการชมนั้นสามารถเอนนอนดูได้โดยไม่ต้องใช้อุปกรณ์ ช่วงเวลาที่น่าจะเห็นมากสุดคือ 01.00 - 02.00 น.ที่กลุ่มดาวเพอร์ซิอุสจะเคลื่อนมาอยู่กลางฟ้าพอดี เราจะเห็นดาวตกพุ่งไปทุกทิศทาง นักวิชาการต่างประเทศคาดจะมีดาวตกประมาณชั่วโมงละ 60 ดวง

“อย่าคาดหวังว่าจะได้เห็นมีดาวตกลงมาจำนวนมาก บางครั้งอาจต้องรอนานกว่าจะเห็นสักดวงหนึ่ง แต่ถ้าคืนนั้นว่าง และท้องฟ้าเป็นใจ ไม่มีเมฆฝน ก็สามารถรอดูชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้ ทั้งนี้ ยังไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าแต่ละปีจะเห็นฝนดาวตกมากหรือน้อยเท่าใด มีแต่การคาดการณ์จากสถิติเดิมเท่านั้น บางปีก็มีน้อย บางปีก็มีมากโดยเฉพาะถ้าโคจรผ่านสะเก็ดดาวหางกลุ่มใหญ่ สำหรับสะเก็ดดาวหางเหล่านี้ เมื่อมาค้างอยู่ในวงโคจรโลก จะอยู่ได้นานนับหมื่นปี” นายสิทธิชัย กล่าว

หัวหน้าฝ่ายท้องฟ้าจำลองฯ ยังแนะนำว่า ในการชมที่มีดาวตกอยู่ไม่มาก หรือต้องรอนาน อาจใช้เทคนิคนับดาวตกเพื่อเพิ่มอรรถรสการชมเป็นกลุ่ม เช่น กำหนดช่วงเวลา 30 นาที ใครเห็นดวงใดให้ตะโกนเลขจำนวนขึ้นมาต่อเนื่องกันไป ทั้งช่วยแก้อาการง่วง และยังทำให้ทราบจำนวนดาวตกตามหลักวิทยาศาสตร์จริงด้วย ส่วนคนที่จะถ่ายภาพฝนดาวตกให้หาที่ปราศจากแสงรบกวน เปิดหน้ากล้องรอไว้ แต่ถ้าเปิดหน้ากล้องไว้นานโดยที่ไม่มีดาวตกจะเห็นดาวแต่ละดวงเป็นเส้น เพราะโลกหมุนอยู่ตลอดเวลา จึงต้องใช้ขาตั้งกล้องดูดาวมาช่วย ทั้งนี้ ยังเป็นโอกาสพิเศษที่ใกล้ ๆ ดาวลูกไก่ยังมีดาวอังคารปรากฏเป็นฉากหลังดาวตกที่สวยงามรอให้เก็บภาพ

ทั้งนี้ ในแต่ละปีมีฝนดาวตกเกิดขึ้นหลายครั้ง สำหรับในปี 2550 หลังจากดาวตกเพอร์ซิอิดส์ครั้งนี้แล้ว ยังมีฝนดาวตกนายพราน (Orionids) ในคืนวันที่ 21 ต.ค. คาดมีดาวตก 10 - 15 ดวงต่อชั่วโมง ฝนดาวตกสิงโต (Leonids) ในคืนวันที่ 17 พ.ย. คาดมีดาวตก 10 - 15 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกคนคู่ (Geminids) ในคืนวันที่ 14 ธ.ค. คาดมีดาวตก 100 ดวงต่อชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น