xs
xsm
sm
md
lg

สับ “กรมกร๊วก” อืด ไม่คุมโฆษณา “ขนมเด็ก” ตามมติ ครม.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สภาที่ปรึกษาฯ ฟ้องรัฐบาล “กรมประชาสัมพันธ์” อืดไม่คุมโฆษณาขนมเด็ก ชี้ สคบ.-อย.หนุนเต็มที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเชื่อทำยาก เหตุใกล้ชิดกลุ่มผลประโยชน์ นักวิชาการยันคุมโฆษณาได้ผล ต่างชาติตื่นก่อนไทยเกือบ 30 ปี เด็กอ้วนน้อยลง

ที่สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สป.) มีสัมมนา “ติดตามข้อเสนอปัญหาขนมเด็ก” โดย นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานคณะทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขนมกรุบกรอบเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญทำให้เด็กไทยมีปัญหาสุขภาพ สภาที่ปรึกษาฯจึงมีข้อเสนอไปถึงรัฐบาล 4 ข้อ โดยวันที่ 3 เม.ย.ที่ผ่านมา ครม.เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ คือ 1.ควบคุมคุณภาพขนมและฉลาก ซึ่ง อย.กำลังจัดทำ 2.งดจำหน่ายขนมกรุบกรอบในโรงเรียน กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการแล้ว 3.ส่งเสริมขนมให้มีคุณภาพ ซึ่งกรมอนามัยกำลังหารือกับผู้ประกอบการ

“ข้อสำคัญมีผลตรงต่อการตัดสินใจซื้อ และบริโภคขนมของเด็ก คือ 4.การดูแลการโฆษณา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สนับสนุนเต็มที่ แต่ผู้มีอำนาจจัดการ คือ กรมประชาสัมพันธ์กลับนิ่งเฉย ผ่านไปถึง 3 เดือน ไม่เคยแจ้ง ครม.หรือสภาที่ปรึกษาฯว่า ติดขัดจุดใด ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องจิตสำนึกที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน กรมประชาสัมพันธ์ควรมีคำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลว่า ทำไมไม่ยอมทำตามมติครม.” นพ.ประวิทย์ กล่าว

นพ.ประวิทย์ กล่าวอีกว่า การดูแลการโฆษณาขนมเด็กที่เสนอไป คือ 1.จำกัดเวลาโฆษณาในรายการเด็กและเยาวชนในโทรทัศน์ 2.ห้ามใช้เด็กและเยาวชน ตัวการ์ตูน ดารา นักร้องศิลปิน หรือบุคคลมีชื่อเสียงเป็นผู้นำเสนอสินค้าและบริการ 3.ห้ามส่งเสริมการขายด้วยการ แจกแถมชิงรางวัล ชิงโชค หากพิจารณาดู จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ควรทำทั้งสิ้น โดยสภาที่ปรึกษาฯ จะติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดต่อไป

ด้านนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การทำงานของกรมประชาสัมพันธ์อาจอยู่ในกรอบราชการที่แข็งตัวเกินไป ไม่เหมาะกับโลกยุคปัจจุบัน และใกล้ชิดกับกลุ่มผลประโยชน์ กลุ่มผู้ผลิต เจ้าของสถานีโทรทัศน์ ยากที่จะกล้าหาญมาขัดแย้ง เหมือนตัวอย่างเรื่องเรตติ้งโทรทัศน์ ดังนั้นจึงยากที่จะผลักดันเรื่องนี้ให้สำเร็จ หากภาคประชาชนไม่ออกมาร่วมกันส่งเสียงสนับสนุน ซึ่งรัฐบาลควรลงมาดูแลเรื่องนี้ด้วย

รศ.ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ ผู้จักการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า มาตรการคุ้มเข้มด้านโฆษณามีผลสูงสุดต่อผู้บริโภค รัฐควิเบค แคนนาดา ห้ามโฆษณาสินค้าเพื่อจูงใจเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี มาตั้งแต่ปี 1978 หรือ 27 ปีมาแล้ว ข้อมูลล่าสุดพบเด็กในรัฐนี้อ้วนน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับรัฐอื่นๆ ทั้งที่ออกกำลังกายน้อยกว่า จึงจะขยายมาตรการให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพราะมีตัวอย่างชัดเจน ส่วนที่อังกฤษ เมื่อวันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา ได้ประกาศห้ามโฆษณาอาหารไขมัน เกลือ น้ำตาล สูง ก่อนหลังและในรายการที่มุ่งเด็กก่อนวัยเรียน รายการที่จูงใจเด็กอายุ 4-9 ปี และจะขยายไปถึงเด็กอายุ 15 ปี วันที่ 1 ม.ค.2551

ทพญ.จันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการโครงการรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน เสนอว่าต้องควบคุมปัจจัยด้านโรงเรียน การคุ้มครองผู้บริโภคและสื่อ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่สำคัญที่ส่งผลให้เด็กมีภาวะโภชนาการเกินและเป็นโรคอ้วนควบคู่ไปกับมาตรการด้านสุขภาพอื่นๆ รวมทั้งการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ เพื่อลด เกลือ น้ำตาล และไขมัน ปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดเล็กลง และ ให้ข้อมูลโภชนาการบนฉลากอาหาร
กำลังโหลดความคิดเห็น