แพทย์เผยอาการนักเรียนที่ถูกไฟช็อตจากฝนถล่มกรุงเทพฯ 3 ราย เมื่อวานนี้ ยังไม่พ้นขีดอันตราย ต้องติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และประเมินผลแบบรายวัน โดยพี่ชายคนโตมีอาการหนักที่สุด แพทย์ต้องเฝ้าระวังไม่ให้แผลติดเชื้อ และเฝ้าระวังเรื่องหัวใจ ไต และกระดูกใบหู
นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย นพ.รังสรรค์ นิรามิษ หัวหน้ากลุ่มงานศัลยกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ มหาราชินี และ พญ.สุรภี เรืองสุวรรณ ผู้อำนวยการสถาบัน ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าอาการป่วยของเด็ก 3 ราย ที่ได้รับอุบัติเหตุถูกกระแสไฟฟ้าช็อต เนื่องจากพายุฝนถล่มกรุงเทพฯ วานนี้ (28 มิ.ย.)
ด้าน นพ.รังสรรค์ แพทย์เจ้าของไข้ กล่าวว่า เย็นวานนี้ ได้รับผู้ป่วยเด็กชาย 1 ราย เด็กหญิง 2 ราย ที่ถูกสายไฟฟ้าช็อต ได้แก่ ด.ช.จักรกฤช ดอกเทียน อายุ 12 ปี ด.ญ.อัจฉรา ดอกเทียน อายุ 8 ปี และ ด.ช.ปิยะเนตร ดอกเทียน อายุ 5 ปี ซึ่งมีบาดแผลไฟไหม้ตามร่างกาย โดยได้รีบทำการรักษา ขณะนี้อาการของ ด.ช.จักรกฤช ยังหนักอยู่ ต้องให้น้ำเกลือเข้าหลอดเลือดจำนวนมากติดต่อกัน ส่วน ด.ญ.อัจฉรา ขณะนี้ปลายนิ้วเท้าทั้ง 2 ข้างมีสีคล้ำ แต่น้อยกว่า ด.ช.จักรกฤช ส่วน ด.ช.ปิยะเนตร ก็ได้ให้การรักษาเหมือนกับเด็ก 2 คนแรก อาการขณะนี้ทรงตัว แต่ดูดีกว่าผู้ป่วย 2 คนแรก อย่างไรก็ตาม ถือว่ายังไม่พ้นขีดอันตราย ต้องดูอาการเป็นระยะๆ ดูเป็นวันๆ ไป ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าจะดีขึ้นหรือเป็นอย่างไรต่อไป เพราะความรุนแรงจากกระแสไฟฟ้าลงไปลึก ทำลายเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะทำลายกล้ามเนื้อ เยื่อ เอ็น อาจจะทำลายกระดูก และหลอดเลือดของส่วนต่างๆ ได้ โดยเฉพาะที่เท้า ซึ่งเป็นจุดที่กระแสไฟฟ้าออก ความรุนแรงจะมากที่สุด
นพ.รังสรรค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เด็กทั้ง 3 คนขณะนี้รู้สึกตัวดี แต่ต้องให้น้ำมาก เพื่อทดแทนน้ำที่เสียออกไปอยู่ที่เนื้อเยื่อที่ไหม้ ส่วนแนวทางการรักษาของแพทย์เป็นรูปแบบของสหวิชาชีพ ประกอบด้วย แพทย์ศัลยกรรมและพยาบาลแพทย์โรคหัวใจ แพทย์โรคไต แพทย์โรคเลือด แพทย์ศัลยกรรมกระดูก โภชนาการฯ เน้นการทำความสะอาดบาดแผลทุกวัน ตรวจดูอาการไหลเวียนโลหิตเป็นระยะ โดยเฉพาะนิ้วมือและนิ้วเท้า เฝ้าระวังเรื่องหัวใจ ไต และกระดูใบหู ส่วนเรื่องค่ารักษาพยาบาลนั้น ทางผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มาเยี่ยมอาการเด็ก ได้ช่วยเหลือมาจำนวนหนึ่ง แต่ทางการไฟฟ้านครหลวงได้ส่งผู้แทนมาแสดงความรับผิดชอบแล้ว