xs
xsm
sm
md
lg

“สามชุก ตลาดร้อยปี”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา ชื่อ “ตลาดร้อยปีสามชุก” ดูเหมือนจะกลายเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายของสังคมไทย ยิ่งในช่วงระยะหลังๆ ที่มีรายการโทรทัศน์ประเภทนำเที่ยวเข้าไปถ่ายทำ แนะนำว่าเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจขึ้นชื่อติดอันดับของเมืองขุนแผน สุพรรณบุรี ก็เท่ากับยิ่งเพิ่มมูลค่าทางการตลาดของสถานที่แห่งนี้ และยังไปเพิ่มคุณค่าเชิงการเมืองสำหรับผู้ปกครองไปด้วยในตัว

ตลาดร้อยปีสามชุก มีดีที่ตรงไหน อย่างไร!?

เชื่อว่าคำถามนี้ หลายท่านคงมีคำตอบ ซึ่งอาจจะเป็นคำตอบจากประสบการณ์ตรงที่ได้ไปเยี่ยมเยือนตลาดสามชุกมาด้วยตนเอง หรือจากคำบอกเล่า หรือจากหน้าสื่อแขนงต่างๆ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวของตลาดร้อยปีแห่งนี้ออกมาให้รับรู้รับทราบกัน

พิพิธภัณฑ์บ้านขุนจำนง จีนารักษ์ ข้าวห่อใบบัว ร้านหรั่งศรีโรจน์ กาแฟโบราณท่าเรือส่ง เป็ดย่างจ่าเฉิด โรงแรมอุดมโชค ร้านถ่ายรูปศิลป์ธรรมชาติ ร้านฮกอันโอสถสถาน ร้านฮกง้วนตึ้ง ร้านคูเช่งฮวด ร้านทองมีชัย ร้านไพศาล ขายของเก่า ฯลฯ
เหล่านี้คือมนต์เสน่ห์ที่เป็นจุดดึงดูดผู้คนให้สนใจตลาดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีที่ชื่อ สามชุก

แต่ที่เป็นมากกว่ามนต์เสน่ห์คือ วิถีชุมชนท้องถิ่นแห่งนี้ วิถีแห่งชีวิตของผู้คนที่ทำมาค้าขาย ประกอบอาชีพหาอยู่หากิน และดำรงตนอยู่บนพื้นฐานวัฒนธรรม ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากบรรพบุรุษ สืบเนื่องเกี่ยวพันอยู่กับความเป็นศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนหรือตลาด มานานนับศตวรรษนั่นเอง

ตลาดร้อยปีสามชุก จึงยกระดับตัวเองผงาดขึ้นมาเป็นสถานที่ ซึ่ง ณ เวลานี้ จ.สุพรรณบุรี ขึ้นป้ายว่า เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัด

ประเด็นคำถามที่หลายท่านอาจอยากรู้คำตอบก็คือ “ตลาดร้อยปีสามชุก” พัฒนาเติบโตขึ้นมาได้อย่างไร ท่ามกลางการแข่งขันเพื่อช่วงชิงการเปิดพื้นที่หรือสถานที่ท่องเที่ยว อย่างเป็นบ้าเป็นหลังในยุคปัจจุบัน เพื่อสนองตอบต่อตลาดการท่องเที่ยวที่ภาคส่วนซึ่งเกี่ยวข้อง เชื่ออย่างหัวปักหัวปำว่า เป็นรายได้หลักที่จะธำรงไว้ซึ่งความอยู่รอดของประเทศชาติแห่งนี้

ในความเป็นจริง ย้อนหลังไปก่อนหน้าปี 2545 ตลาดสามชุกไม่ได้อยู่ในสภาพเช่นปัจจุบัน บ้านเรือนที่เก่าแก่เต็มไปด้วยศิลปกรรมที่งดงามถูกปล่อยให้ชำรุดทรุดโทรม ขณะที่กรมธนารักษ์ เจ้าของที่ดินในเมืองนี้มีเมกะโปรเจ็คต์ รื้อบ้านเก่า ชุมชนเก่า ตลาดเก่า เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้นแทนที่ แต่มีชาวตลาดสามชุกกลุ่มหนึ่งที่มองเห็นถึงคุณค่าแห่งรากของตนเอง ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว จึงเลือกที่จะร่วมกันฟื้นฟูเมืองเก่า แทนการรื้อทำลายเพื่อสร้างเมืองใหม่ อย่างที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในเมืองอื่นๆ ทั่วประเทศ

กอรปกับในช่วงปี 2545 ได้เกิดโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ โดยมูลนิธิชุมชนไท ภายใต้การสนับสนุนของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มีพื้นที่ปฏิบัติการนำร่องใน 12 เมือง และสามชุกเป็นหนึ่งในเมืองนำร่องตามโครงการฯ ซึ่งโครงการปฏิบัติการชุมชนและเมืองน่าอยู่ เป็นการพัฒนาเมืองแนวใหม่ที่ผู้คนหลากหลายในเมืองมาร่วมกันคิด ร่วมกันพัฒนาเมืองของตนเอง แทนที่จะสั่งการมาจากส่วนกลางเหมือนที่ผ่านมา

ประเด็นพิจารณาก็คือ การฟื้นฟูพัฒนาตลาดสามชุก ไม่ได้เกิดจากนโยบาย ไม่ได้เชื่อมโยงกับการเมืองตั้งแต่แรกเริ่ม หากแต่กระบวนการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่นตลาดสามชุกนั้น เกิดขึ้นด้วยความรักในถิ่นฐานบ้านเกิดของชาวตลาดสามชุก เกิดเนื่องจากมุมคิดที่ไม่เชื่อว่า เมืองใหม่จะมีคุณค่ามากกว่าเมืองเก่าที่เคยอยู่เคยกินกันมาหลายชั่วคน จึงร่วมกันหันมาฟื้นฟู พัฒนา ค้นหาความเป็นตัวตนคนสามชุก ซึ่งพบว่า สามชุกมีของดีอยู่มากมาย ทั้งบ้านเรือนเก่าแก่ที่เต็มไปด้วยศิลปกรรมอันงดงาม อาหารพื้นบ้านที่ขึ้นชื่อหลายอย่าง ตลอดจนวิถีชีวิต ที่คนหลากหลายเชื้อชาติร่วมกันสร้าง และอยู่ร่วมกันอย่างเป็นปกติสุขมาถึงทุกวันนี้

ประเด็นต่อมาที่ต้องพึงตระหนักก็คือ “คณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุก” ไม่ใช่คณะกรรมการภายใต้อาณัติของฝ่ายใดทั้งสิ้น ทุกองคาพยพที่ประกอบขึ้นเป็นคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นด้วยเจตนารมณ์เพื่อร่วมกันทำให้ชุมชนท้องถิ่นที่เรียกขานว่าตลาดสามชุกดำรงอยู่อย่างมีเอกลักษณ์ท้องถิ่น มีการพัฒนาโดยมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนโดยไม่มีประโยชน์ซ่อนเร้นใดๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยว โบราณสถาน หรืออื่นๆ เพราะฉะนั้นหากจะมีความปรารถนาดีจากฝ่ายปกครอง ไม่ว่าจะเป็นส่วนท้องถิ่น ส่วนภูมิภาค ที่จะถือเอาโดยเหตุผลกลใดก็ตามว่า สามชุกตลาดร้อยปี เป็นสมบัติที่ต้องมีเจ้าของ และจำเป็นต้องมีการพัฒนาต่อยอดโดยถือเอาตัวเอง หน่วยงาน เป็นผู้ขีดเส้นใต้การพัฒนา และละเลยการมีส่วนร่วมอย่างสำคัญของคณะกรรมการพัฒนาตลาดสามชุกแล้ว จิตวิญญาณและมนต์เสน่ห์ของสถานที่แห่งนี้ จะเสื่อมความขลังไปโดยปริยาย

ประเด็นที่ควรต้องจดจารคือ แนวทางเช่นนี้คือการพัฒนาแนวใหม่ที่เปิดให้ชุมชนท้องถิ่นเป็นแกนหลัก หน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นจังหวัด อำเภอ องค์กรปกครองท้องถิ่น เช่น อบจ.เทศบาล ฯลฯ ภาคีพัฒนาอื่นๆ เช่น องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา ฯลฯ เป็นผู้สนับสนุนส่งเสริม ประคับประคอง อำนวยการ ตลอดไปจนถึงการช่วยพัฒนาข้อติดขัด เช่น เทศบัญญัติ กฎเกณฑ์ ระเบียบต่างๆ โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การพัฒนาร่วมกันทุกฝ่าย มิใช่การจับจ้องเพื่อฉกฉวยเอารากฐานการพัฒนาที่ภาคประชาชนร่วมคิดร่วมทำกันมาไปต่อยอดทางการเมืองการปกครอง อย่างเป็นด้านหลักเหมือนเช่นที่ผ่านมา

และถือเป็นนวัตกรรมแห่งการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ที่ผู้ปกครองควรต้องจดจำและนำไปใช้...

สุรินทร์ จตุการ
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)






กำลังโหลดความคิดเห็น