xs
xsm
sm
md
lg

การใช้สิทธิ CL ต่อไปเพื่อคนไทยเข้าถึงยา : รศ. ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รศ. ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์
โครงการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


การประกาศเลื่อนระดับสถานะคู่ค้าของประเทศไทย โดยสหรัฐอเมริกาจากประเทศที่ต้องถูกขับตามอง (WL) เป็นประเภทที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) มีลักษณะสำคัญ 3 ประการคือ หนึ่ง สหรัฐฯ ต้องการแสดงว่ามีฐานะในการเจรจาที่เหนือกว่า สอง เป็นการเตือนให้หยุดการทำสิ่งต่างๆ ที่สหรัฐฯ ไม่พอใจ สาม สหรัฐฯ ต้องการที่จะนำข้อเสนอที่ยังไม่ได้รับการปฏิบัติมารุกต่อในการเจรจาต่อรองในการจัดทำแผนปฏิบัติการระหว่างไทย-สหรัฐฯ ที่กำลังจะเกิดขึ้น

แม้จะมีหลายฝ่ายกังวลต่อท่าทีดังกล่าว แต่ก็มีข้อสังเกตว่า ในระยะหลังๆ การดำเนินการเพื่อปกป้องสิทธิ สุขภาพของประชาชนในการเข้าถึงยา ภาคส่วนต่างๆ มีความเข้าใจเรื่องบทบาทหน้าที่ในการพิทักษ์สิทธิดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ฐานะของประเทศไทยในเวทีโลกสูงขึ้นจากบทบาทผู้นำในการใช้สิทธิ CL สหรัฐฯ ในฐานะคู่การค้าย่อมเห็นว่าภาวะดังกล่าวเป็นภาวะคุกคาม โดยเห็นว่าหากไทยได้ประโยชน์แล้ว ตนเองจะเสียประโยชน์ ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงผู้ป่วยที่จะใช้ยาจาก CL เป็นผู้ที่ไม่มีโอกาสจะได้ใช้ยามาก่อน และประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดยาในโลกไม่ถึง 1% แต่เรื่องดังกล่าวถูกทำให้ดูเป็นเรื่องพิเศษ เป็นการกระทำที่ “ไม่โปร่งใส และไม่ถูกต้อง” ดังปรากฏในเหตุผลการเลื่อนระดับเป็น PWL ความพยายามเหล่านี้จึงเป็นความพยายามที่จะคงสถานะการเจรจาที่จะมีต่อไปให้มีสถานะเหนือกว่า เป็นฝ่ายรุก และคู่เจรจาจะต้องยอม เนื่องจากเป็นผู้ถูกทำให้ผิดโดยไม่โปร่งใส และไม่ถูกต้อง

การเตือนให้หยุดใช้สิทธิ CL ต่อไป เห็นได้ชัดจากการขยายความในคำพูดว่า แม้จะถูกกฎหมายและจำเป็น แต่น่าจะมีการเจรจาและหาทางเลือกอื่นๆ บางทีก็กล่าวว่า การเลื่อนฐานะเป็น PWL ไม่เกี่ยวกับการใช้สิทธิไม่ใช่เรื่องหลัก แต่กลับกล่าวว่าเป็นส่วนหนึ่ง ความพยายามทำให้คลุมเครือนี้ก็เนื่องด้วย กระทรวงสาธารณสุขไทยได้ใช้ปัญญาในการต่อสู้เพื่อใช้สิทธิ มีการเตรียมทำ CL ที่เป็นระบบตลอดจนได้รับการสนับสนุนจากประชาชนอย่างกว้างขวาง ดังนั้น หากมีการหยุดประกาศใช้สิทธิก็จะถือได้ว่าคำประกาศ PWL ของสหรัฐฯ มีผลในทางปฏิบัติทันที

สิ่งสำคัญที่สุด คือ ปฏิบัติการเชิงรุก โดยการระบุเนื้อหาที่มาจากสาระในร่างข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหรัฐฯ เช่น สิทธิการครอบครองข้อมูลยา (Data Exclusivity) ไว้ในเหตุผลในการเลื่อนระดับ PWL เปHนการเปิดเกมเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐฯ ที่เกี่ยวกับยา ที่ได้ถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

จากท่าทีของสหรัฐฯ ที่ต้องการแสดงฐานะเหนือคู่เจรจา การเตือนให้หยุด และการรุกคืบต่อรองผลประโยชน์ด้านยาจากพิมพ์เขียวในเอฟทีเอที่เกี่ยวกับยา จึงเห็นได้ชัดเจนว่า ภาคส่วนต่างๆ ที่สนับสนุนการใช้ CL ต้องพิจารณาท่าทีดังกล่าวให้ชัดเจน และผลักดันให้รัฐบาลกำหนดท่าทีต่อการเจรจากับสหรัฐฯ โดยเฉพาะในเรื่องแผนปฏิบัติการ (Plan of Action) ที่จะต่อรองให้สหรัฐฯ คืนสถานภาพจาก PWL เป็น WL เหมือนเดิม ข้อเสนอต่อท่าทีของประเทศไทยได้แก่ ความเสมอภาคในการเจรจา การเดินหน้าใช้สิทธิ CL ต่อไป และการไม่ยอมให้เรื่องยาเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรอง

1. ความเสมอภาคในการเจรจาประเทศไทยต้องมีศักดิ์ศรีโดยการดำเนินการอย่างสุภาพบุรุษที่เคารพกติกาสากล และกฎหมายของประเทศ ไม่หวาดกลัวต่อ “กุ้งฝอยจีเอสพี”

วรตุลย์ ตุลารักษ์ ในโครงการ FTAdigest/สกว.กล่าวว่า ไม่ควรสนใจคำขู่ของสหรัฐฯ ในการทำเอฟทีเอ แม้สหรัฐฯ ยกเลิกจีเอสพี ผู้ประกอบการก็สามารถส่งออกได้ในอัตราภาษีนำเข้าปกติ แม้ไม่สูงแต่ก็สามารถแข่งขันได้ แน่นอนว่าไทยไม่ควรเสียจีเอสพี เพราะไม่ได้ทำอะไรผิด แต่อาจทำให้สหรัฐฯ ไม่พอใจ การเจรจาแบบมิตรจึงต้องเคารพศักดิ์ศรีต่อกัน มากกว่ายอมให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเหนือกว่าในการเจรจา

2.การเดินหน้าช้สิทธิ CL ต่อไป ได้แก่ การสื่อสารกับสังคมให้เข้าใจในบทบาทของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข ต่อการใช้ CL ไม่มีการยกเลิกการใช้ CL ที่ได้ทำไปแล้ว และพิจารณาความจำเป็นในการใช้ CL กับยาที่จำเป็นต่อผู้ป่วยต่อไป

3.การไม่ยอมให้เรื่องยาเข้ามาเกี่ยวข้องในการเจรจาต่อรอง ถือเป็นประเด็นสำคัญมาก ก่อนหน้าการเจรจาเอฟทีเอไทย-สหรัฐฯ ทั้งฝ่ายสหรัฐฯ และผู้เกี่ยวข้องฝ่ายไทย ไม่ยอมเปิดเผยร่างข้อตกลงด้วยเกรงว่าจะมีผู้คัดค้านข้อตกลงที่เกี่ยวกับสิทธิบัตรยา ได้แก่ การขยายอายุสิทธิบัตร การตัดการคัดค้านก่อนการออกสิทธิบัตร สิทธิการ
ครอบครองข้อมูลยา และการจำกัดสิทธิ CL รวมถึงให้สิทธิบัตรการผ่าตัด และวินิฉัยโรค

มาบัดนี้เห็นชัดแล้วว่า การเจรจาของสหรัฐฯ มุ่งประเด็นเรื่องการขยายการผูกขาดยาให้ครอบคลุมและเข้มข้นมากยิ่งขึ้น ความเพลี่ยงพล้ำจากการยอมแก้ไข พ.ร.บ.สิทธิบัตรให้ครอบคลุมยา ทำให้ไทยล้าหลังกว่าประเทศจีน และอินเดียที่เพิ่งมีการใช้ พ.ร.บ.สิทธิบัตรที่เกี่ยวยาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ในขณะที่ไทยยอมรับไปกว่าสิบปีก่อนหน้า ในการเจรจาแผนปฏิบัติการจะต้องไม่ยอมให้สหรัฐฯ นำข้อต่อรองเกี่ยวยาเข้ามาในการเจรจา

ภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมจะต้องแสดงบทบาทอย่างแข็งขันที่จะสู้ไม่หยุดในการใช้สิทธิ CL ต่อไปเพื่อคนไทยเข้าถึงยา
กำลังโหลดความคิดเห็น