xs
xsm
sm
md
lg

“แอ็บบอต” กร้าวไม่ยอมลดราคาอลูเวีย ยันถูกที่สุดแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สธ.เจรจาต่อรองราคารอบ 3 “แอ็บบอต” กร้าวไม่ลดราคายาอลูเวีย ยืนกราน 1,000 เหรียญต่อคนต่อปี ถูกที่สุดแล้ว เผย ยอมขึ้นทะเบียนยากับอย.แต่มีเงื่อนไขไทยต้องไม่ทำซีแอล ส่วน “ยาพลาวิกซ์” บ.ซาโนฟี ยื่นข้อเสนอใหม่เตรียมยา 3.4 ล้านเม็ด/ปี ให้ผู้ป่วยโรคหัวใจ 34,000 คน เข้าถึงยา 1 ปี “หมอศิริวัฒน์” เตรียมนำผลเจรจาเสนอ “หมอมงคล” พร้อมนัดเจรจาบริษัทยาอีกรอบ 1 มิถุนายนนี้ ด้าน “หมอวิชัย” ยันซื้อยาพันเหรียญต่อปี กับแทนที่ซื้อจากอินเดีย 695 เหรียญ จะตอบประชาชนได้อย่างไร ส่วนยาโคพิโดเกรล แม้ทำโครงการแล้วลดเหลือเม็ดละ 27 บาทก็ไม่คุ้ม เพราะอินเดียขายแค่ 2-5 บาทเท่านั้น

วันนี้ (14 พ.ค.) ในการประชุมเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร ครั้งที่ 3 กับบริษัทยาที่เป็นผู้แทนผู้ทรงสิทธิบัตรของยาที่กระทรวงสาธารณสุข บังคับใช้สิทธิบัตรไปแล้ว 3 ตัว คือ ยาต้านไวรัสเอดส์ เอฟฟาไวเรนซ์ ยาคาเลตต้า หรืออลูเวีย และยาโรคหลอดเลือดและหัวใจ พลาวิกซ์ โดยในครั้งนี้มีผู้แทนบริษัทยา 2 บริษัท คือ บริษัท แอ็บบอต แลบอราตอรีส จำกัด เจ้าของยาสูตรผสมริโทรนาเวียร์ และโลปินาเวียร์ ในสูตรตำรับพิเศษยาเม็ดเคลือบฟิล์ม ชื่อว่ายาอลูเวีย และบริษัท ซาโนฟี อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งจัดจำหน่ายยาพลาวิกซ์ เข้าร่วมต่อรองราคาโดยบริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของยาเอฟฟาไวเรนซ์ ได้มีการเจรจาต่อรองราคากับ นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว ก่อนหน้านี้ จึงไม่ได้มาเข้าร่วมการเจรจา ส่วนบริษัท โนวาตีส ก็ไม่สามารถมาร่วมเจรจาได้เช่นกัน เนื่องจากมีภารกิจสำคัญ อย่างไรก็ดีการเจรจาต่อรองราคาครั้งนี้ ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง

นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะประธานคณะกรรมการเจรจาต่อรองราคายาจำเป็นที่มีสิทธิบัตร กล่าวถึงผลการเจรจาครั้งนี้ ว่า ทางบริษัท แอ็บบอต แลบอราตอรีส จำกัด ได้เสนอรายละเอียดเงื่อนไขต่างๆ ของยาอลูเวีย ซึ่งเป็นยาเม็ดสูตรผสมชนิดเคลือบฟิล์มที่มีความคงตัวดีกว่ายาสูตรผสมเดิม คือ คาเลตตรา โดยได้เสนอเงื่อนไขราคาค่าใช้จ่ายเท่ากับ 3,488.20 บาท/คน/เดือน หรือ 1,000 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี ซึ่งเท่ากับราคายาคาเลตตรา ที่เคยเสนอให้พิจารณามาก่อนแล้ว โดยจะนำยาดังกล่าวมาขอรับการขึ้นทะเบียนอีกครั้งกับ อย.แต่มีเงื่อนไขไม่ให้ สธ.ประกาศ CL ต่อยาอลูเวีย นอกจากนี้ ทางบริษัทขอให้ อย.พิจารณาอำนวยความสะดวกในการขอรับการขึ้นทะเบียนยาอลูเวียให้รวดเร็ว

“ในการเจรจาคณะกรรมการได้ถามทางผู้แทนบริษัทยาแอ็บบอต 2-3 ครั้ง ว่า สามารถลดราคาอีกได้หรือไม่ ซึ่งทางบริษัทยืนยันว่า ราคา 1,000 เหรียญต่อคนต่อปีหรือ เป็นราคาที่ถูกที่สุดแล้วที่บริษัทจัดให้กับประเทศกำลังพัฒนา โดยไม่สามารถที่จะลดราคาได้อีก คณะกรรมการ ก็ยังถามย้ำว่า ยังเปลี่ยนใจได้ แต่ทางแอ็บบอต ยังคนยืนยันราคานี้อยู่ ซึ่งคณะกรรมการจะส่งต่อให้รัฐมนตรี เป็นผู้ตัดสินใจ เพื่อนำไปเทียบกับราคาที่บริษัท แมททริกซ์ ของประเทศอินเดียเสนอมา ที่ราคา 695 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี” นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ บริษัท แอ็บบอต จะขอรับการขึ้นทะเบียนอีกครั้งกับ อย.โดยที่ไม่มีการพูดถึงตัวยาอื่นๆ อีกนอกจากยาอลูเวียตัวเดียวเท่านั้น

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวต่อว่า ส่วนบริษัท ซาโนฟี อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด เจ้าของยาพลาวิกซ์ครั้งนี้ได้ส่งผู้แทนผู้ทรงสิทธิบัตรของยานี้มารับทราบรายละเอียดค่าตอบแทนจากการใช้สิทธิตามสิทธิบัตร ร้อยละ 0.5 ของมูลค่ายาสามัญที่จำหน่ายในตลาด เพื่อนำไปพิจารณาก่อนเสนอให้คณะกรรมการทราบ พร้อมกันนี้ ผู้แทนบริษัทยังได้นำเสนอโครงการพิเศษเพื่อขยายการเข้าถึงยาโคลพิโดเกรลสำหรับผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้ยานี้ โดยสาระสำคัญหลักๆ คือ บริษัทจะได้จัดเตรียมยาจำนวน 3.4 ล้านเม็ด/ปี สำหรับผู้ป่วย ราว 34,000 คน ซึ่งเป็นผู้ป่วยภายใต้ระบบประกันสังคมและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยปกติไม่สามารถเข้าถึงยานี้ได้ ทั้งนี้ โครงการพิเศษนี้จะไม่เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของกระทรวงที่จ่ายในปัจจุบัน นอกจากนี้โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการฯความร่วมมือระหว่าง สธ.กับบริษัทเป็นข้อเสนอลักษณะปีต่อปี เมื่อครบกำหนด 1 ปี ก็จะต้องมีการหารือใหม่อีกในปีต่อไป

นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม โครงการนี้ ไม่ครอบคลุมผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการข้าราชการอยู่แล้ว ซึ่งคณะกรรมการได้คำนวณตัวเลขจากโครงการนี้แล้ว เท่ากับบริษัทได้ลดราคายาลงจากเม็ดละประมาณ 90 บาท ลงมาเหลือเม็ดละประมาณ 27 บาท และจะได้นำเสนอโครงการนี้ต่อกระทรวง เพื่อพิจารณาความเหมาะสมต่อไป

“การเจรจาครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งสุดท้าย จุดยืนของ สธ.ยังยึดหลักของความสมานฉันท์ เปิดกว้างเสมอหากบริษัทยาจะขอเข้ามาเจราจาต่อรองหารือในการเพิ่มการเข้าถึงยาของประชาชนให้มากขึ้น โดยจะมีการนัดหารือใหม่อีกครั้งในวันที่ 1 มิถุนายนนี้ เวลาประมาณ 13.00 น.โดยเฉพาะข้อเสนอของบริษัท ซาโนฟี คณะกรรมการจะต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม โดยตรวจสอบตัวเลขที่แท้จริงของยอดผู้ป่วยว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แล้วยา 3.4 ล้านเม็ด/ปีจะเพียงพอกับผู้ป่วย 34,000 คนหรือไม่”นพ.ศิริวัฒน์ กล่าว

ต่อข้อถามว่า มีอุตสาหกรรมยาภายในประเทศที่สามารถผลิตยาพลาวิกซ์ได้ ทางคณะกรรมการจะมีการนำยาดังกล่าวมาพิจารณาเปรียบเทียบราคากับยาต้นตำรับ หรือยาสามัญที่นำเข้าจากประเทศอินเดียหรือไม่ นพ.ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ยาที่ อย.จะขึ้นทะเบียนจะต้องเป็นยาที่มีความมั่นใจในคุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีบริษัทยาที่ผ่านขั้นตอนการประเมินชีวสมมูล แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียด รวมทั้งราคายาที่จะนำออกสู่ท้องตลาดได้

ด้านนพ.วิชัย โชควิวัฒน ผู้ทรงคุณวุฒิระดับ 11 ในฐานะประธานคณะกรรมการสนับสนุนการดำเนินงานเกี่ยวกับการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ แม้ว่าตนเองจะไม่ใช่คนตัดสินใจ แต่ถ้าเปรียบเทียบกับราคายาต้านไวรัสเอดส์ คาเรตตาชนิดเม็ด หรืออลูเวีย ที่บริษัท แมททริกซ์ จำกัด จากประเทศอินเดีย ที่เสนอมาให้ไทยและอีก 66 ประเทศที่จัดซื้อร่วมกันกับมูลนิธิคลินตันในราคา 695 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี หรือประมาณ 2,027 บาทต่อคนต่อเดือน และการเสนอราคาของบริษัท แอ็บบอต แลบอราตอรีส (ประเทศไทย) จำกัด ที่เสนอมาในราคา 1,000 เหรียญต่อคนต่อปี ด้วยเงื่อนไขว่าไทยจะต้องไม่ประกาศบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาที่ติดสิทธิบัตร หรือซีแอลกับอลูเวีย หากเทียบกันแล้วจะซื้อจากที่ใด ถ้าเลือกที่ราคาสูงกว่า และมีเงื่อนไข สธ.จะตอบคำถามประชาชนได้อย่างไร

“หากซื้อจากบริษัทของอินเดียในราคา 695 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อปี ครั้งหน้าอาจได้ในราคาที่ถูกลงอย่าง 500 เหรียญสหรัฐฯด้วยซ้ำ แต่ถ้าซื้อในราคาพันเหรียญสหรัฐฯก็ต้องซื้อเป็นพันเหรียญสหรัฐฯต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งข้อมูลทั้งหมดที่ได้นั้นก็จะเสนอให้ นพ.มงคล ณ สงขลา ตัดสินใจต่อไป แต่ประเด็นที่บริษัท แอ็บบอตฯ เสนอมานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด” นพ.วิชัย กล่าว

นพ.วิชัย กล่าวว่า ส่วนที่บริษัท ซาโนฟี อเวนตีส (ประเทศไทย) จำกัด เสนอโครงการและทำให้ราคายาโคพิโดเกรล ชื่อทางการค้าว่า พลาวิกซ์ ถูกลงจากประมาณ 90 บาท มาเหลือ 27 บาทนั้น ถือว่าเป็นราคายาที่ดลลงดีขึ้นมาก แต่เท่าที่ทราบข้อมูลเบื้องต้นราคายาสามัญของอินเดียมีราคาตั้งแต่ 2-5 บาทเท่านั้น แต่ทั้งนี้ ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกมากว่าราคาดังกล่าวเป็นราคาภายในประเทศอินเดียหรือราคาที่สามารถขายในไทย รวมถึงเรื่องคุณภาพของโรงงานว่าได้มาตรฐานหรือไม่ คุณภาพยามีประสิทธิภาพอย่างไร ฯลฯ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น