xs
xsm
sm
md
lg

บีอาร์ที : ฝันที่ใกล้เป็นจริงของคนกรุง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เปิดตัวกันมานานพอสมควรสำหรับ “โครงการรถเมล์ด่วนพิเศษ” หรือ “บีอาร์ที” แต่ก็มีอันต้องสะดุดหรือหยุดชะงักไปด้วยปัจจัยทางการเมืองที่มารุมเร้า โดยเฉพาะเจ้าของแนวคิดอย่าง “สามารถ ราชพลสิทธิ์”
อย่างไรก็ตาม คงต้องบอกว่าเป็นข่าวดีของคนกรุงเทพมหานครเมื่อมีบทสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า กทม.จะผลักดันโครงการนี้อย่างเต็มที่ และลงมือรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคเพื่อก่อสร้างสถานีแรกกันที่บริเวณ “ช่องนนทรี-ราชพฤกษ์” เรียบร้อยแล้ว และมีกำหนดเปิดให้บริการในต้นปี 2551 นี้

**กว่าคนกรุงจะได้บีอาร์ที
พนิช วิกิตเศรษฐ์
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ข้อมูลถึงโครงการสร้างรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีสายแรกว่า ในเดือนพฤษภาคมนี้ กทม.จะเปิดประกวดราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อจัดซื้อรถโดยสารยูโร 3 ชนิดใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิงเบื้องต้นจำนวน 50 คัน ขนาดความยาว 12 เมตร สามารถจุคนได้ 80 คนต่อคัน

ทั้งนี้ คาดว่าจะใช้งบจัดซื้อรถระยะแรกทั้งหมด 500 ล้านบาท หรือตกคันละ 8-12 ล้านบาท โดยผู้ที่ประกวดราคาได้จะใช้เวลาผลิตรถ 6-7 เดือน จากนั้นจึงส่งรถต้นแบบเข้ามาทดลองจำนวน 2-3 คันภายในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคมนี้ และส่งให้ครบ 50 คัน ภายในต้นปีหน้า

สำหรับระบบไอทีเอสควบคุมการเดินรถอัจฉริยะ ขณะนี้ร่างทีโออาร์ใกล้เสร็จแล้ว ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และแจ้งข้อมูลการเดินทางแก่ผู้โดยสาร โดยจะทำให้ผู้โดยสารที่รอรถบีอาร์ทีตามสถานีต่างๆ ทราบว่า ขณะนี้รถบีอาร์ที แต่ละคันอยู่ในจุดใดบ้าง ส่วนระบบตั๋วโดยสารก็จะเปิดประกวดราคาทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ในเดือน พ.ค.เช่นกัน ขณะที่การเจรจาในตั๋วร่วมกับบีทีเอส อยู่ระหว่างดำเนินการ คาดว่า ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด

“ถ้ามีประชาชนใช้บริการ 30 ,000 คนต่อวัน ก็จะถึงจุดคุ้มทุนสำหรับการบริหารจัดการ แต่ถ้าไม่มีประชาชนมาใช้บริการและยังเดินรถอยู่กทม.ก็ต้องกลับมาทบทวน" พนิชคาดการณ์

ด้านเผด็จ ประดิษฐเพชร เจ้าหน้าที่วิเคราะห์จากสำนักพัฒนาระบบขนส่งและจราจร สำนักนโยบายและแผนการจราจรและขนส่ง(สนข.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สนข.ได้ร่วมมือกับกทม.ตั้งคณะทำงานเพื่อมาศึกษาแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีเพื่อไม่ให้ทับซ้อน แต่จะมีความสอดคล้องกัน ส่วนระบบตั๋วโดยสารก็ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาเพื่อดูทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอสและรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีเช่นเดียวกัน โดยทำการศึกษาด้านเทคโนโลยีมาตรฐานของบัตร เครื่องอ่านบัตรให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งการตั้งศูนย์บริหารจัดการรายได้ว่าทำอย่างไรจะร่วมกันจัดตั้งได้

“ส่วนนี้เรามีหน่วยงานกลางคือ สนข.กับธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลัง กำลังร่วมกันดูแลอยู่ว่าเราจะลงทุนอย่างไร ที่สำคัญที่สุดในการดำเนินการระบบตั๋วร่วมทำอย่างไรอัตราค่าโดยสารจะมีความเป็นธรรม และทำอย่างไรจะลดภาระค่าแรกเข้าค่าบริการระบบขนส่งมวลชนได้ซึ่งจะเป็นการสนับสนุนรถบีอาร์ทีมีความสอดคล้องระบบขนส่งมวลชนอื่นๆ”

เผด็จบอกด้วยว่า เนื่องจากขณะนี้มีโครงข่ายรถไฟฟ้า ขสมก.จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเส้นทางเดินรถรถเมล์ ขสมก. และบีอาร์ทีให้สอดคล้องไม่ทับซ้อนแย่งกันรับผู้โดยสาร ซึ่งขณะนี้ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษาแล้ว นอกจากนี้ สนข.ไม่อยากเห็นสถานีรถไฟฟ้ากับสถานีขนส่งอยู่ห่างไกลกัน อย่างกรณีสถานีขนส่งหมอชิตก็อยู่ห่างไกลกับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสหมอชิต ซึ่งไม่สะดวกในการเดินทางประชาชนต้องนั่งรถต่ออีก ดังนั้นทำอย่างไรจะพัฒนาระบบจุดเชื่อมต่อของระบบขนส่งมวลชนต่างๆให้สอดรับกัน รวมถึง Park & Ride จุดจอดแล้วจรด้วย

ขณะที่ พล.ต.ต.วัจนนท์ ถิระวัฒน์ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ให้ความเห็น ว่า หลังจากบีอาร์ทีเปิดให้บริการ คาดว่าจะมีปริมาณรถยนต์หายไปจากถนนมากพอสมควรจนทำให้สภาพการจราจรเปลี่ยนแปลงไปจากปัจจุบัน แต่รถจะหายไปอย่างไรอยู่กับผู้ใช้บริการ ซึ่งปัจจุบันยังยืนยันไม่ได้เพราะต้องดูหลังจากมีการใช้บีอาร์ทีแล้ว

“จริงๆ ส่วนตัวเห็นว่าการเลือกใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางแรกที่จะดำเนินการที่น่าจะเอื้อประโยชน์ทำให้บีอาร์ทีก้าวต่อไปในอนาคตได้”

**เสียงจากคนบางคอแหลม-ยานนาวา
อภิมุข ฉันทวานิช ส.ก.เขตบางคอแหลม ผู้แทนประชาชนในพื้นที่เส้นทางนำร่อง ให้ความเห็นว่า รถเมล์บีอาร์ทีเป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาจราจรในพื้นที่ชั้นในโดยเฉพาะเขตบางคอแหลมและเขตยานนาวาได้ โดยตัวเลขที่คาดการณ์ไว้จะสามารถลดจำนวนรถยนต์ 12,000 คันต่อวัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรบนถนนเจริญกรุงได้เป็นอย่างดี และเชื่อว่าประชาชนจะสนับสนุนโครงการนี้แน่นอน

ขณะที่กรณ์ จาติกวนิช อดีตส.ส.เขตยานาวา ผู้แทนประชาชนในพื้นที่เส้นทางนำร่อง สรุปว่า ส่วนรวมจะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ แต่ก็มีผู้ที่ไม่ได้รับความสะดวกเช่นกัน ซึ่งต้องดูว่าจะเพิ่มโอกาสให้รถติดมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันมีปริมาณรถเพิ่มบนถนนพระราม 3 ถึง 50% ขณะที่ถนนนราธิวาสฯ เพิ่ม 100 % แต่ปัญหาสำคัญตอนนี้ก็คือถนนพระราม 3 มีลักษณะเป็นคอขวดอยู่ที่ 5 แยก ณ ระนอง พื้นที่เขตคลองเตย ซึ่งเส้นทางนี้จะมีรถใหญ่โดยเฉพาะจากวงแหวนอุตสาหกรรมวิ่งผ่านบริเวณนี้เพื่อไปยังท่าเรือ ดังนั้น ควรแก้ไขสภาพการเป็นคอขวดให้โดยเร็วที่สุดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อบีอาร์ที

นอกจากนี้ช่องทางซ้ายสุดของถนนพระราม 3 และนราธิวาสฯจะมีร้านอาหาร ร้านคาราโอเกะ ซึ่งผู้ที่มาทานก็จะจอดรถไว้หน้าร้าน ทั้งที่เมื่อก่อนจะมีป้ายห้ามจอดแต่ตอนนี้ไม่มีแล้ว จาก 4 ช่องทางจราจรเหลือ 3 ช่องทาง และเมื่อมีบีอาร์ทีก็จะเหลือแค่ 2 ช่องทางจราจรเท่านั้น ตนจึงอยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างเข้มงวดไม่ให้มีการจอดรถไว้บนผิวการจราจรที่มีไว้สำหรับรถวิ่งไม่ใช่มีไว้เพื่อบางคน

“มีบีอาร์ทีความสะดวกของพวกเรามีแน่แต่ต้องประเมินความคุ้มค่าต่อการลงทุนให้ดี เพราะต้องดูคนในพื้นที่ใช้บริการจริงๆมีเท่าไหร่ และใช้เพื่อเชื่อมโยงไปยังระบบรถไฟฟ้ามีเท่าไหร่ และเมื่อรถไฟฟ้าสายรัชดา-ราชพฤกษ์ของรัฐบาลสร้างเสร็จแล้วมีผลกระทบต่อจำนวนผู้มาใช้บริการบีอาร์ทีหรือไม่ และจะทับซ้อนกับบีอาร์ทีหรือไม่” อดีตส.ส.เขตยานนาวาสรุป

ส่วนผศ.เฉลิม มัติโก อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ(มทร.กรุงเทพ) บอกว่า เรื่องการจราจรเป็นปัญหาของพวกเรามาตลอดเพราะอยู่ในเขตใกล้กับถนนบางสายที่ค่อนข้างติด เช่น สาทร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนแทบเป็นถนนต้องห้ามผ่าน

“บ้านผมอยู่บางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย ห่างจากที่นี่ 12 กิโลเมตร หากออกจากบ้านตีห้าหรือตีห้าครึ่ง จะใช้เวลาเดินทาง 20 นาทีมาถึงมหาวิทยาลัยโดยใช้เส้นทางจรัญสนิทวงศ์ ลอดอุโมงค์ท่าพระ เลี้ยวซ้ายเข้าสาทร แล้วเลี้ยวขวาออกนราธิวาสฯ จึงค่อยเข้ามหาวิทยาลัย แต่หากออก เจ็ดโมงเช้า หรือเจ็ดโมงครึ่งจะมาทางสาทรไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนเส้นไปใช้สะพานกรุงเทพ ออกพระราม 3 เลี้ยวเข้าถนนนางลิ้นจี่ มาถึงนี่ใช้เวลา 1 ชั่วโมง”

“จากที่ใช้เส้นทางนี้มานานทำให้มองเห็นปัญหาว่า รถบีอาร์ทีถ้าข้ามสะพานกรุงเทพลงไปเลี้ยวซ้ายออกราชพฤกษ์ ซึ่งปกติช่วงเร่งด่วนรถติดมากโดยเฉพาะรถเมล์ที่วิ่งทางซ้ายอยู่แล้ว แล้วรถบีอาร์ทีจะออกทุก 5 นาทีในชั่วโมงเร่งด่วน 7 นาทีนอกเวลาเร่งด่วน ผมคิดว่าคงจะเห็นหลังรถอีกคันในระยะ 100 เมตร แน่นอนเพราะ 5 นาทีสามารถไปได้แค่นี้จริงๆ แต่เมื่อคนเริ่มหันมาใช้รถมากขึ้นหลังจากที่ทำให้มั่นใจได้ว่ามีความปลอดภัยและสะดวกจริงๆ การใช้รถยนต์ก็จะลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจึงเป็นตัวเร่งให้โครงการบีอาร์ทีประสบความสำเร็จได้”ผศ.เฉลิมให้ความเห็น

อนึ่ง สำหรับรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีสายช่องนนทรี-ราชพฤกษ์ มีจำนวน 12 สถานี ใช้เงินลงทุน 2,000 ล้านบาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 100-120 ล้านบาท ต่ำกว่ารถไฟฟ้า 12 เท่าและรถไฟใต้ดิน 30 เท่า ก่อสร้างได้รวดเร็วกว่ารถไฟฟ้าถึง 3 เท่า ซึ่งโครงการรถเมล์ด่วนพิเศษบีอาร์ทีจะใช้ระยะเวลาดำเนินการ 12 เดือน

สำหรับระยะเวลาวิ่งตลอดเส้นทาง 28-35 นาทีเปิดบริการตั้งแต่เวลา 05.00 - 23.00 น. ใช้ระบบตั๋วไร้สัมผัส(Contactless Smart Card ) เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าซึ่งสามารถใช้ตั๋วร่วมกับระบบขนส่งมวลชนอื่นๆได้ เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดิน แต่จะมีราคาไม่แพงโดยเก็บในราคาเท่ากับรถเมล์ปรับอากาศ
กำลังโหลดความคิดเห็น