xs
xsm
sm
md
lg

ชาวล้านนาบวงสรวงถอดพระธาตุดอยตุงองค์ปัจจุบัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“คุณหญิงไขศรี” ร่วมกับชาวล้านนาเชียงราย บวงสรวงถอดพระธาตุดอยตุงองค์ปัจจุบัน กรมศิลป์บูรณปฏิสังขรณ์องค์เดิมสมัยครูบาศรีวิชัยกลับคืนตามคำเรียกร้องของชาวเชียงราย เร่งให้แล้วเสร็จก่อน 5 ธ.ค.ปีหน้า ถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ พระชนมายุครบ 80 พรรษา

วันนี้ (15 ธ.ค.) คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยการบูรณะพระธาตุดอยตุง อ. แม่สาย จ.เชียงราย ว่า เมื่อวานนี้ (พฤหัสบดี) ได้เดินทางไปร่วมทำพิธีบวงสรวงบูรณะพระธาตุดอยตุงที่ตั้งอยู่เหนือขึ้นไปทางพระตำหนักดอยตุงสมเด็จย่า โดยมีเจ้าคณะจังหวัดและพระเถระผู้ใหญ่จำนวน 11 รูป ข้าราชการกระทรวงวัฒนธรรมและกรมศิลปากร อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย นายอำเภอแม่สาย ตลอดจนชาวบ้านที่อยู่รอบๆ ดอยตุง ได้เข้ามาร่วมพิธีบวงสรวงครั้งนี้ร่วมสองร้อยคน

ในพิธีบวงสรวง ดำเนินการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาพราหมณ์-พุทธ ของชาวล้านนาเพื่อขมาองค์พระธาตุ ขอความเป็นสิริมงคลในการดำเนินการถอดองค์พระธาตุปัจจุบัน ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของคนในท้องถิ่นที่ต้องการให้นำพระธาตุองค์เก่าที่คาดว่าสร้างในสมัยครูบาศรีวิชัย และองค์เก่าแก่เดิมสุดอีกองค์หนึ่งที่ถูกครอบอยู่มาบูรณะใหม่

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า เห็นด้วยที่นำองค์พระธาตุเดิมมาบูรณะ เป็นการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่น เพราะเป็นของคู่บ้านคู่เมืองชาวล้านนาเก่าแก่ที่สุด อีกทั้งองค์พระธาตุปัจจุบันได้สร้างไว้เมื่อปี 2516 กว่า 30 ปีที่แล้ว บางส่วนของปลายยอดได้ชำรุดทรุดโทรมไปตามสภาพธรรมชาติ ขั้นตอนต่อไปทางสำนักโบราณคดีที่ 8 เชียงใหม่ จะทำการถอดองค์ปัจจุบัน ที่ประกอบเป็นชิ้นๆ ออก แล้วนำไปเก็บรักษาเพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรม

ด้าน นายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวความเป็นมาของพระธาตุนี้ ว่า ในตำนานพื้นเมืองสิงหนวัติ ว่า สร้างในสมัยพระเจ้าอนุตราชแห่งราชวงศ์สิงหนวัติมาร เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุส่วนพระรากขวัญเบื้องซ้าย หรือกระดูกไหปลาร้า ที่อัญเชิญมาจากประเทศอินเดียในเวลานั้นมาประดิษฐานดอยดินแดงหรือดอยตุงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่เกี่ยวกับประวัติพระพุทธศาสนา รวมถึงหลักฐานทางสถาปัตยกรรมและศิลปกรรม พระธาตุดอยตุงน่าจะสร้างในยุคกษัตริย์ราชวงศ์มังรายแห่งอาณาจักรล้านนา ราว พ.ศ.1805 – 2101 หรือราว 700 ปีมาแล้ว ต่อมาในปี พ.ศ.2470 พระครูบาศรีวิชัย นักบุญที่เคารพศรัทธาของชาวล้านนาได้ขึ้นมาดอยตุง เห็นพระธาตุนี้อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมจึงได้ทำการบูรณะตามสถาปัตยกรรมท้องถิ่นล้านนา กระทั่งปี พ.ศ.2516 ได้มีการบูรณะขึ้นใหม่อีกครั้ง โดยกระทรวงมหาดไทยมอบหมายให้ ศ.จิตต์ บัวบุศย์ ออกแบบสร้างพระเจดีย์ใหม่ที่ตั้งอยู่ปัจจุบันครอบลงบนองค์พระธาตุเดิม

ครั้นต่อมาคณะสงฆ์ และผู้เกี่ยวข้องหลายท่าน อาทิ ม.ร.ว.ดิศนัดดา ดิศกุล เลขาธิการมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง นายคำรณ บุญเชิด ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในเวลานั้น รวมถึงประชาชนจังหวัดเชียงราย มีความเห็นว่าพระธาตุที่สร้างขึ้นใหม่นี้ ไม่ใช่รูปแบบสถาปัตยกรรมล้านนา จึงมีความประสงค์ให้มีการบูรณะซ่อมแซมกลับสู่สภาพสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ทางกรมศิลปากรจึงได้ประสานกับ ศ.จิตต์ ผู้ออกแบบ ยินดีให้ดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของคนท้องถิ่น พร้อมกับให้ข้อมูลนำมาศึกษาเพิ่มเติม

อธิบดีกรมศิลป์ กล่าวอีกว่า การบูรณะพระธาตุดอยตุงครั้งนี้ เป็นโครงการหนึ่งตามแผนงานบูรณะโบราณสถานที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ทั้งเพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระชนมายุครบ 80 พรรษา โดย นายสหวัฒน์ แน่นหนา ผอ.สำนักโบราณคดีเชียงใหม่ ดูแลดำเนินการบูรณะให้เสร็จทันก่อนวันที่ 5 ธ.ค.2550 ใช้งบประมาณ 22 ล้านบาทเศษ

ขณะที่ นายคำรณ บุญเชิด อดีตผู้ว่าฯ เชียงราย กล่าวถึงนำพระธาตุองค์ปัจจุบันตั้งประดิษฐานที่ใหม่ ว่า องค์พระธาตุดอยตุงเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวล้านและเพื่อนบ้าน หลังจากถอดองค์พระธาตุนี้เสร็จเรียบร้อยแล้วนำไปประดิษฐานที่ดอย..... เป็นที่เคารพสักการะอีกแห่งหนึ่ง เท่ากับคนท้องถิ่นได้พระธาตุของเดิมกลับคืนมาและของปัจจุบันอีกด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น