“วิจิตร” รับประกันกำจัดแปะเจี๊ยะออกไปจากระบบการศึกษาไทยแน่ แต่ขอดูรายละเอียด ว่า กระทรวงเคยมีการออกมาตรการเกี่ยวกับแปะเจี๊ยะหรือไม่ หากมีทำไมยังมีการเรียกเก็บอยู่ พร้อมแนะคณะกรรมการโรงเรียน เข้ามามีบทบาทต่อโรงเรียน เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษา ลั่นไม่เคยคัดค้านการถ่ายโอน แต่เสนอทางเลือก อาจให้ท้องถิ่นตั้งโรงเรียน ศธ.ทำหน้าที่สนับสนุน ขณะที่โพลไม่มั่นใจแก้แป๊ะเจี๊ยะสำเร็จ ระบุปัญหาการศึกษาชาติส่วนใหญ่เกิดเพราะรัฐบาล
ธุรกิจบัณฑิตย์โพลล์ ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “ความคิดเห็น ความมั่นใจ และความกังวลต่อการศึกษาของไทยใน 1 ปีข้างหน้า” ระหว่างวันที่ 12-13 พฤศจิกายน จำนวน 1,484 คน ผลสำรวจพบว่า คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 43.1 เห็นว่า สาเหตุที่ทำให้การศึกษาของชาติตกต่ำมาจากรัฐบาล ร้อยละ 24.1 เพราะโรงเรียน สถาบันการศึกษา ร้อยละ 19.1 มาจากตัวนักเรียน นักศึกษา ร้อยละ 7.9 คิดว่า เพราะครู และร้อยละ 3.4 เป็นเพราะพ่อแม่ ผู้ปกครอง ส่วนความต้องการที่คนกรุงเทพฯ ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการเร่งด่วนภายในเวลา 1 ปี มากที่สุด 4 อันดับ คือ พัฒนาคุณภาพครูผู้สอน สร้างครูให้มีคุณธรรม จริยธรรม พัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย เป็นสากล ไม่ลืมความเป็นไทย จัดหาอุปกรณ์การศึกษาที่มีคุณภาพ และเพียงพอ
สำหรับความมั่นใจต่อความสำเร็จของรัฐบาลในการแก้ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาภายใน 1 ปีนั้น ในส่วนของการเก็บแปะเจี๊ยะของโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.9 ตอบว่า ไม่แน่ใจว่าจะทำสำเร็จ ร้อยละ 35.3 คิดว่าไม่สำเร็จ และร้อยละ 19.8 คิดว่าสำเร็จ ปัญหาเด็กฝากนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 46.2 คิดว่าทำไม่สำเร็จ ร้อยละ 32.3 ไม่แน่ใจ และร้อยละ 21.5 คิดว่าสำเร็จ ส่วนความผิดพลาดและล่าช้าของแอดมิชชันนั้น กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.7 ตอบว่า ไม่แน่ใจ ร้อยละ 29.5 คิดว่าสำเร็จ และร้อยละ 25.8 คิดว่าไม่สำเร็จ
ศ.ดร.วิจิตร ศรีสอ้าน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า เรื่องแปะเจี๊ยะนั้นเป็นสิ่งประชาชนไม่อยากให้มีมานานแล้ว ซึ่งยืนยันว่า ตนเองจะเข้าไปแก้อย่างแน่นอน เพียงแต่ยังไม่ได้บอกประชาชนว่าจะเข้าไปแก้อย่างไร
ทั้งนี้ ผลการสำรวจเรื่องนี้ประชาชนยังใช้ข้อมูลและแนวคิดเดิมๆ อย่างไรก็ตาม หากจะเปลี่ยนจะต้องมาดูวิธีการกัน
“ตอนนี้ผมกำลังให้ตั้งเรื่องว่า กระทรวงเคยออกมาตรการการเก็บแปะเจี๊ยะรึเปล่า ออกไว้อย่างไร ถ้าออกแล้วและทำไมไม่ได้ผลเพราะอะไร หากจะทำให้ได้ผลควรทำอย่างไร นั่นคือ เรื่องถัดไปที่จะทำ ระหว่างนี้ขอทำเรื่องการรับเด็ก ม.1 ให้เสร็จก่อน”
ศ.ดร.วิจิตร กล่าวด้วยว่า ได้เสนอให้มีการปรับปรุงบทบาทของสมาคมผู้ปกครอง สมาคมครูทุกโรงเรียน เพื่อให้เข้ามามีส่วนร่วมในการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เนื่องเพราะปัจจุบันนี้แม้แต่ผู้ที่มีรายชื่อเป็นคณะกรรมการโรงเรียนมักจะมีแค่ชื่อเท่านั้น อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการหารือว่าจะให้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ และมีประโยชน์ต่อการศึกษา ควรจะต้องทำอย่างไร เพราะปัจจุบันนี้มีแต่ไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์ ซึ่งน่าเสียดาย ดังนั้น ควรมีหนังสือกำหนดว่าบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษา คณะกรรมการเขตพื้นที่การศึกษาเพื่อได้ทำหน้าที่อย่างเต็มภาคภูมิ ประโยชน์จะเกิดแก่วงการศึกษาอย่างมาก
ส่วนการถ่ายโอนสถานศึกษาไปเขตพื้นที่นั้น ควรมีข้อยกเว้นบางประการ และบางลักษณะควรทำเป็นส่วนกลาง มากกว่าไปจำกัดที่ท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการทบทวนว่าหลักเกณฑ์ที่ใช้อยู่แล้วมีตรงไหนบ้างที่ควรทบทวน แต่ยืนยันว่าจะยังคงยึดหลักกระจายอำนาจ
“นอกเหนือวิธีการถ่ายโอน เราจะต้องมาดูว่ายังมีอย่างอื่นอีกไหมเพื่อทำงานร่วมกัน เช่น อาจมาตกลงกันว่าพื้นที่นี้จะร่วมกันบริหาร จะขยายอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งไม่ใช่ถ่ายโอนไปทั้งหมด อย่างพื้นที่ในกรุงเทพฯบางบางเขตพื้นที่ มีนักเรียนจำนวนมาก ผมก็เสนอ นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม.แทนที่จะถ่ายโอนโรงเรียนไป จะให้ กทม.ตั้งโรงเรียนขึ้นมาเพื่อรองรับนักเรียน ซึ่งผู้ว่าฯ กทม.เห็นด้วย เพราะฉะนั้นการถ่ายโอนน่าจะใช้หลักการเดียวกัน เพียงแต่มาดูว่าแต่ละเขตพื้นที่ควรใช้วิธีการใด และไม่ว่าจะถ่ายโอนสถานศึกษาจากกระทรวงไป หรือตั้งโรงเรียนขึ้นมาเอง กระทรวงศึกษาธิการ ยินดีทำหน้าที่สนับสนุนด้านการศึกษา”รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าว
นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย กล่าวในการอภิปราย “1 ปีกับการขับเคลื่อนการศึกษาขับเคลื่อนอะไรและอย่างไร” ตอนหนึ่งถึงการแก้ปัญหาเด็กฝาก ว่า การฝากเด็กเป็นระบบที่ทำลายชาติอย่างมาก ซึ่ง ศ.ดร.วิจิตร เคยตั้งกระทู้ถามเรื่องเงินกินเปล่า หรือแปะเจี๊ยะ เมื่อคราวเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ดังนั้น สูตรรับนักเรียน ม.1 50:50 ที่รับเด็กพื้นที่บริการร้อยละ 50 และสอบร้อยละ 50 เป็นเรื่องที่ดี ตนก็จะคอยดูว่าจะแก้ปัญหาเด็กฝากได้หรือไม่ เพราะขณะนี้มีประมาณ 500 โรงเรียนเท่านั้น ถ้า ศ.ดร.วิจิตร ทำได้จริง ก็ถือว่าเป็นการปฏิรูปการศึกษา แต่หากทำไม่ได้ก็เป็นปฏิกูล