xs
xsm
sm
md
lg

โผไม่พลิก “ธวัชชัย ปิยนนทยา” นั่งประธานสภา กทม.คนที่ 16

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มท.1 เปิดประชุมสภา กทม.นัดแรกอย่างเป็นทางการ พร้อมแนะให้ทุกฝ่ายน้อมนำพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องคุณธรรม ความรัก ความสามัคคี เศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางปฏิบัติเพื่อความสุขของคน กทม. ขณะที่ “ธวัชชัย ปิยนนทยา” ได้รับเสียงโหวตอย่างท้วมท้นนั่งแท่นประธานสภา กทม.คนที่ 16 ตามคาด

เมื่อเวลา 10.00 น. นายอารีย์ วงศ์อารยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (มท.) เป็นประธานเปิดการประชุมสภากรุงเทพมหานครนัดแรก หลังจากที่คณะกรรมการการเลือกตั้งรับรองผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 23 ก.ค.2548 อย่างเป็นทางการ ตามที่พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ประกอบกับข้อบังคับการประชุมสภา กทม.พ.ศ.2541 กำหนดให้ รมว.มหาดไทย เรียกและเปิดประชุมสมาชิกสภา กทม.ครั้งแรกหลังจากการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เป็นการทั่วไป โดยมีจำนวน ส.ก.ทั้งสิ้น 57 คน จาก 50 เขต แยกเป็นชาย 47 คน หญิง 10 คน สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 35 คน พรรคไทยรักไทย 18 คน กลุ่มพัฒนาหนองแขม 1 คน กลุ่มคนบางซื่อ 2 คน และอิสระ 1 คน

นายอารีย์ กล่าวว่า ตนเชื่อว่า ส.ก.ทุกคนพร้อมที่จะทุ่มเท และเสียสละในการทำหน้าที่ตามที่ชาว กทม.ได้ให้ความไว้วางใจ เลือกเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ และเนื่องจาก กทม.เป็นมหานครขนาดใหญ่ความต้องการของประชาชน และปัญหาต่างๆ จึงมีมากมาย จึงเป็นภารกิจที่ท้าทาย ส.ก.คณะผู้บริหาร และข้าราชการ กทม.ที่จะต้องบริหารจัดการอย่างไรก็ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาในทุกๆ ด้าน เพื่อประโยชน์ของชาว กทม.

ทั้งนี้ ตนขอน้อมนำแนวพระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในเรื่องคุณธรรม ความรัก ความสามัคคี และแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อเป็นหลักคิด หลักในการทำงาน รวมทั้งนโยบายแห่งชาติเรื่องความรู้รัก สามัคคี และความสมานฉันท์ การป้องกันเหตุอันประพฤติมิชอบ เพื่อร่วมการเฉลิมฉลองในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในปี 2550

จากนั้นนางผุสดี วงศ์กำแหง ส.ก.เขตราชเทวี พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งอาวุโสสูงสุดได้ทำหน้าที่ประธานสภา กทม.ชั่วคราว เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภากทม.ซึ่งข้อบังคับการประชุมสภา กทม.กำหนดให้ ส.กแต่ละคนสามารถเสนอชื่อผู้ที่จะรับเลือกเป็นประธานและรองประธานสภาได้หนึ่งชื่อ และมี ส.ก.รับรองไม่น้อยกว่า 5 คน หากเสนอมากกว่าให้สมาชิกลงมติเลือกผู้ที่ได้แคะแนนสูงสุดจะได้เป็นประธานสภาแต่หากคะแนนเท่ากันจะให้ลงคะแนนใหม่ แต่หากยังเท่ากันอีกให้ประธานชั่วคราวเป็นผู้ชี้ขาด

ต่อมา นายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.เขตบางรัก พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อนายธวัชชัย ปิยนนทยา ส.ก.เขตสาทร พรรคประชาธิปัตย์ เป็นประธานสภากทม.โดยไม่มีสมาชิกคนใดเสนอชื่อ ส.ก.คนอื่น ดังนั้น นายธวัชชัย จึงได้รับเลือกให้เป็นประธานสภากทมคนที่ 16 ต่อจากนายธนา ชีรวินิจ

จากนั้น นายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง 2 พรรคประชาธิปัตย์ ได้เสนอชื่อ นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ พรรคประชาธิปัตย์ เป็นรองประธานสภา กทม.คนที่ 1 และนายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ พรรคประชาธิปัตย์ เสนอชื่อ นางสาวปราณี เชื้อเกตุ ส.ก.เขตบางเขน 2 พรรคประชาธิปัตย์ โดยทั้ง 2 คนต่างก็ได้รับเลือกเช่นกัน

รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้ ส.ก.ปชป.ทั้งหมดได้มีการประชุมนอกรอบก่อนที่จะมีการเลือกตั้งประธานและรองประธานสภา กทม.อย่างเป็นทางการ โดยได้มีการเลือกตั้งกันภายในกลุ่มซึ่งมี 2 รายชื่อที่ได้รับการเสนอชื่อ คือ นายธวัชชัย ปิยนนทยา ส.ก.เขตสาทร และนายพิพัฒน์ ลาภปรารถนา ส.ก.เขตบางรัก ผลปรากฏว่า นายธวัชชัย ได้รับเสียงโหวต 19 เสียง ชนะนายพิพัฒน์ที่ได้รับเสียงโหวต 13 เสียง เป็นไปตามความคาดหมาย

ขณะที่การโหวตเสียงเลือกรองประธานสภา กทม.คนที่ 1 มีผู้ได้รับการเสนอชื่อ 3 คน คือ นายไสว โชติกะสุภา ส.ก.เขตราษฎร์บูรณะ นายอมรเทพ เศตะพราหมณ์ ส.ก.เขตยานนาวา และนายสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก.เขตจอมทอง 2 โดยทั้งหมดได้ 13, 11 และ 10 ตามลำดับ ส่วนรองประธานสภา กทม.คนที่ 2 มีผู้ถูกเสนอชื่อจำนวน 2 คน คือ นางสาวปราณี เชื้อเกตุ ส.ก. เขตบางเขน 2 และนายพินิจ กาญจนชูศักดิ์ ส.ก.เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่ง นางสาวปราณี ได้รับเลือกไปด้วยเสียงโหวต 13 ต่อ 12 เสียง จึงทำให้การออกสียงเลือกตั้ง 3 ตำแหน่งในครั้งนี้ไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสภา กทม.และรองประธานสภา กทม.จะต้องได้รับการรับรองจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อนจึงจะสามารถเปิดสมัยประชุมสามัญประจำปี 2549 ได้ โดย 1 สมัยประชุมจะมีระยะเวลา 30 วัน หากไม่เพียงพอประธานสภาสามารถต่อสมัยประชุมได้อีก 15 วัน ทั้งนี้ จะเริ่มนับสมัยประชุมสามัญตั้งแต่วันที่ 13 พ.ย.2549 เป็นต้นไปจนครบ 30 วัน
กำลังโหลดความคิดเห็น