xs
xsm
sm
md
lg

เผย “โรคมือเท้าปากยังไม่สงบ” เหตุเป็นฤดูแห่งการระบาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สช.ประชุมร่วมกับสำนักอนามัย กทม.และผู้บริหารโรงเรียน วางมาตรการป้องกันโรคมือเท้าปาก เผยน่าจะมีโรคนี้อีกหลายแห่ง เพราะยังอยู่ในฤดูกาลระบาด โดยเฉพาะก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2 ต้องคัดกรองเด็กอีกรอบ  กำชับผู้บริหาร ผู้ปกครอง สังเกตเด็กว่ามีไข้ มีตุ่มขึ้นหรือไม่ หากพบให้พาไปพบแพทย์ ที่สำคัญ ถ้าผลการตรวจพบว่าเป็นเป็นโรคให้แจ้งโรงเรียนและกันเด็กออกจากเด็กปกติ เพื่อให้เจ้าหน้าที่สำนักอนามัยมาดำเนินการฆ่าเชื้อโรค

วันนี้ (25 ก.ย.) สำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ประชุมวางมาตรการป้องกันโรคมือเท้าปาก โดยเชิญตัวแทนจากสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร (กทม.) และผู้บริหารโรงเรียนที่มีเด็กเสียชีวิตมาร่วมประชุม โดยมีนายสำรวม พฤกษเสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา และ นพ.ชาญชัย คุ้มพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. เป็นผู้ร่วมเสนอ และสรุปเพื่อวางมาตรการป้องกันโรค

นพ.ชาญชัย คุ้มพงษ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังการประชุม ว่า ในที่ประชุมได้มีการกำหนดมาตรการป้องกันโรคมือ เท้า ปากระบาดในสถานศึกษา โดยขอความร่วมมือจากผู้บริหารโรงเรียน ครูทุกคนให้มีความรู้เกี่ยวกับโรคดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ให้มีการติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะโรงเรียนที่มีการเปิดสอนในระดับประถมศึกษา เพราะโรคนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 10 ปีลงมามีโอกาสป่วยสูงถึง 86%  และอายุระหว่าง 5-10 ปีมีโอกาสติอดเชื้อ 4-5% ในระหว่างนี้พบว่ามีเด็กป่วยหลายราย จึงต้องป้องกันไม่ให้ให้เด็กปกติติดเชื้อ

ด้วยเหตุนี้จึงขอความร่วมมือจากโรงเรียน ถ้าพบมีอาการเจ็บป่วยที่คาดว่าจะเป็นโรคดังกล่าวให้แจ้งผู้ปกครองทราบทันที แล้วให้ผู้ปกครองว่าพาบุตรหลานไปพบแพทย์ และถ้าผลการตรวจออกมาว่าเด็กติดเชื้อให้ผู้ปกครองแจ้งกลับมายังโรงเรียนได้ทันที ทางโรงเรียนมีจะได้แจ้งไปยังสำนักบริการสาธารณสุขเพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้อต่อไป
              
สำหรับกรณีที่มีการระบาดของโรคอาจจะต้องปิดโรงเรียน ขอให้ผู้บริหารชี้แจงแก่ผู้ปกครองว่า สถานศึกษาจะต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ต่างๆ ที่เด็กใช้ร่วมกัน เช่น ของเล่น แก้วน้ำ เป็นต้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กปกติติดเชื้อไปด้วย และในช่วงปิดเรียนให้ผู้ปกครองสังเกตอาการของเด็กช่วง 2-6 วัน เนื่องจากโรคดังกล่าวจะแสดงอาการภายหลังจากไป 6 วัน  และหากเด็กติดเชื้อให้แจ้งให้โรงเรียนทราบ เพื่อทำการบันทึกไว้เป็นประวัติว่ามีเด็กคนใดที่เป็นโรคนี้ อย่างไรก็ตาม ทุกครั้งก่อนเปิดภาคเรียน ทางโรงเรียนควรมีการคัดกรองหรือดูว่านักเรียนมีอาการผิดปกติหรือเปล่าเพื่อป้องกันโรคแพร่ระบาด
              
“โรคนี้ส่วนใหญ่จะเกิดในเด็กเล็ก ระยะนี้มีการแพร่ระบาดของโรค จึงอยากให้ผู้ปกครองควรสังเกตอาการของเด็กว่ามีอาการตัวร้อนหรือมีตุมขึ้นตามมือ หรือจุดต่างๆ ของร่างกายหรือไม่ ถ้าเห็นว่าลูกมีสิ่งผิดปกติให้รีบพาไปหาหมอ และถ้าหมอระบุว่าเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แจ้งกลับมายังโรงเรียนเพื่อแยกเด็กเอาไว้ จะได้ไม่ติดกับเด็กปกติ”

นพ.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า ในช่วงนี้อยู่ในฤดูการระบาดของโรค เพราะฉะนั้นเด็กมีโอกาสติดเชื้อได้ และคาดว่า โรคนี้จะมีการระบาดอีกหลายแห่ง ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่โรคนี้กระจายวงกว้างออกไปยังเด็กหรือโรงเรียนอื่น ๆ ขณะนี้กรมอนามัยได้ส่งวิทยากรลงไปให้ความรู้กับโรงเรียน ผู้ปกครองเพื่อให้มีส่วนร่วมในการป้องกัน อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-14 ก.ย.2549 พบว่า มีเด็กที่ติดเชื้อในเขต กทม. จำนวนกว่า 300 ราย และเสียชีวิตไปแล้ว 5 ราย
         
ด้านนายสำรวม พฤกษ์เสถียร ผู้อำนวยการกลุ่มงานโรงเรียนสามัญศึกษา กล่าวว่า ทาง สช.จะได้ทำหนังสือแจ้งให้สถานศึกษาทราบถึงมาตรการป้องกัน และการดูแลเด็กเพื่อป้องกันการเกิดโรค อย่างไรก็ตาม ในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนที่ 2/2549 จะให้โรงเรียนเชิญผู้ปกครองมาประชุมทำความเข้าใจร่วมกันอีกครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ปกครองเกิดความตระหนกเกินไป เพราะช่วงที่เปิดเทอมจะให้เจ้าหน้าที่สำนักอนามัยเข้ามาดำเนินการฆ่าเชื้อโรค
กำลังโหลดความคิดเห็น