xs
xsm
sm
md
lg

“อภิรักษ์” ยันโรงเรียนสังกัด กทม.ปลอดเชื้อโรค มือ เท้า ปาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“อภิรักษ์” ยืนยันไม่มีการระบาดของโรคมือ เท้า ปากในโรงเรียนสังกัด กทม.ถึง 30 แห่ง เผยจากการตรวจสอบพบมีเพียงโรงเรียนเอกชนแห่งเดียวที่เขตวังทองหลางเท่านั้น และขณะนี้ได้เปิดเรียนตามปกติแล้ว
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าพบผู้ป่วยโรคมือเท่าปาก กทม.ว่าคิดว่าไม่น่าจะใช่เพราะได้ตรวจสอบกับนายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าฯ กทม.ที่ดูแลงานสาธารณสุขของ กทม.แล้ว เข้าใจว่ามีเพียง 1 แห่งที่มีเด็กป่วยด้วยโรคดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามได้สั่งการให้สำนักอนามัยไปตรวจสอบให้ครบถ้วนแล้วรายงานมาอีกครั้ง

ด้าน นายวัลลภ กล่าวว่า ได้ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักอนามัย กทม.ปรากฏว่าไม่มีการปิดโรงเรียนทั้ง 30 แห่งใน 20 สำนักงานเขตเนื่องจากได้รับเชื้อมือ เท้า ปาก ตามที่ได้เป็นข่าว กรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีเพียงโรงเรียนเดียวซึ่งเป็นโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งเขตวังทองหลาง โดยพบได้รายงานมายังศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2549 ว่ามีนักเรียนของโรงเรียนดังกล่าวป่วยมีอาการคล้ายได้รับเชื้อโรคดังกล่าว

หลังจากนั้น ในวันที่ 1, 7 และ 8 เดือนกันยายน ก็พบอีกจึงได้ประสานกับโรงเรียนดังกล่าวเพื่อขอปิดโรงเรียนเพื่อดำเนินการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคให้หมด และขณะนี้โรงเรียนดังกล่าวได้เปิดให้นักเรียนมาเรียนตามปกติแล้ว

“การปิดโรงเรียนเป็นมาตรการปกติในการควบคุมโรคและมีเพียงโรงเดียวเท่านั้นที่ปิด ผมขอยืนยันว่าไม่ได้ปิดโรงเรียนทั้ง 30 แห่งตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด แต่หากจะมีโรงเรียนสามารถพิจารณาได้เองว่าจะปิดหรือไม่ เพราะเป็นมาตรการที่ กทม.ได้ประกาศให้โรงเรียนได้รับทราบหากเกิดกรณีอย่างนี้ขึ้น สำหรับผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสของโรคมือ เท้าปาก จะมีอาการไข้หวัด 2-4 วัน ปวด เมื่อยกล้ามเนื้อ ผิวหนังจะเป็นผื่นตุ่ม ที่ลิ้น เหงือก กระพุ้งแก้ม ลามมาที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ต่อมาจะกลายเป็นตุ่มใสและเป็นแผล ในกรณีที่เป็นที่ผิวหนัง ส่วนกรณีที่ได้รับเชื้อทางเดินระบบหายใจก็จะเข้าสู่คอ หลอดลม ปอด หัวใจทั้งหมด โดยแพทย์จะรักษาตามอาการไม่สามารถรักษาได้ทั้งหมด และที่สำคัญขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวได้ ทั้งนี้ หากพบว่าเด็กมีอาการตามนี้จะต้องจับเด็กแยกไม่ให้สัมผัสกับเด็กอื่น และรีบส่งตัวไปไว้ในความดูแลของแพทย์เพื่อรักษาตามอาการอย่างใกล้ชิดต่อไป”

นายวัลลภ กล่าวอีกว่า สำหรับการแพร่ระบาดของโรคมือ เท้า ปากในพื้นที่ กทม.นั้นพบว่าจากรายงานตั้งแต่เดือน ม.ค.จนถึงเดือน ก.ค. พบผู้ป่วยโรคมือ เท้า ปาก ทั่วประเทศ 1,009 ราย เสียชีวิต 4 ราย แต่ในพื้นที่ กทม. มีสถิติตั้งแต่เดือน พ.ค.จนถึงปัจจุบันพบผู้ป่วยติดเชื้อเฉพาะในสถานศึกษามี 28 ราย แต่ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต

ทั้งนี้ ได้กำชับมาตรการดูแลป้องกันการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในสถานศึกษาที่มีเด็กเล็กเป็นกลุ่มเสี่ยงติดโรค ให้ดูแลความสะอาดในโรงเรียนอย่างเคร่งครัด เน้นในห้องนอนเด็กอนุบาล หากที่ใดมีพรมต้องดูดฝุ่นเป็นประจำ และปรับให้มีสภาพอากาศถ่ายเทได้ดี ส่วนพื้นห้องน้ำและโรงอาหารต้องเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ รวมถึงสระว่ายน้ำต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำและ เติมคลอรีนในปริมาณที่เหมาะสม พร้อมกำชับผู้ปกครองและพี่เลี้ยงเด็กต้องล้างมือก่อนใกล้ชิดกับเด็ก เนื่องจากเด็กมีภูมิคุ้มกันต่ำและติดเชื้อได้ง่าย

นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้พบว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคดังกล่าวทั่วประเทศ 1,360 ราย เสียชีวิตแล้ว 4 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่ กทม. ลำปาง เชียงราย โดย กทม. มีผู้ป่วย 274 ราย แต่ไม่มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ หากพบเด็กเป็นโรคนี้เพียง 2 ราย ใน 1 ห้องเรียน ก็ต้องทำการปิดห้องเรียนนั้นทันที เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ หากพบเด็กป่วย 5 ราย ในโรงเรียน ก็ต้องปิดโรงเรียนทันที 5-7 วัน สำหรับโรงเรียนใน กทม.ที่ปิดไปแล้วระยะหนึ่ง มีจำนวน 9 แห่ง

โรคมือ เท้า ปาก ติดต่อทางน้ำลาย น้ำมูก มักเกิดกับเด็กเล็ก หรือติดเชื้อจากการล้างมือ ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลเด็กด้วยการล้างมือเด็กบ่อย ๆ หากเด็กมีอาการไข้ ให้สังเกตว่ามีตุ่มแดงตามฝ่ามือ ฝ่าเท้า หรือเนื้อเยื่อในปากหรือไม่ หากพบให้รีบพบแพทย์ทันที ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ได้หารือร่วมกับสำนักอนามัย กทม. และกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพื่อขอความร่วมมือให้ดูแลเด็กนักเรียนในโรงเรียนให้ปลอดจากการแพร่ระบาดของโรคนี้โดยด่วน

“ขอให้โรงเรียนทำความสะดาดอุปกรณ์และของเล่นทุกอย่างในโรงเรียน รวมทั้งสอนให้นักเรียนทำความสะอาดร่างกาย ล้างมือให้สะอาดภายหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง และก่อนรับประทานอาหาร หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องใช้ร่วมกัน เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า ของเล่นเด็ก” นายพินิจ แนะนำ

ด้านนายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า ขณะนี้ กทม. มีโรงเรียนปิดอยู่ 1 แห่ง เป็นโรงเรียนเอกชนที่เขตวังทองหลาง โดยพบเด็กป่วยคนแรกเมื่อ 27 สิงหาคม 2549 ต่อมาพบอีก 3 ราย ในวันที่ 1, 7 และ 8 กันยายน ที่ผ่านมา รวมทั้งหมด 4 ราย เป็นเด็กอนุบาล 1 ห้องเดียวกัน 3 คน อนุบาล 2 จำนวน 1 คน จึงทำการปิดโรงเรียน 4 วัน ระหว่างวันที่ 9-12 กันยายน ที่ผ่านมา แต่ต้องเปิดเรียนเพื่อทำการสอบ ระหว่างวันที่ 13-18 กันยายน 2549 จะปิดอีกครั้งในวันที่ 19 ก.ย. - 2 ต.ค. 2549 นอกจากนี้ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สำนักอนามัยไปดูแลโรงเรียนดังกล่าวทันที เพื่อทำความสะอาดพรม ห้องแอร์ อุปกรณ์ของเล่นเด็ก โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อ

วันเดียวกัน นายพินิจ และนายวัลลภ เดินทางตรวจโรงเรียนเอกชนย่านวังทองหลาง โดยนายพินิจ กล่าวว่า จากการตรวจเยี่ยม ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนทุกแห่งของ กทม. แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงการสอบปลายภาค 1 จะต้องแบ่งการปิดโรงเรียนเป็นระยะ ๆ นายพินิจได้ย้ำให้เด็ก ผู้ปกครอง อย่าตื่นตกใจ เพราะโรคนี้รักษาให้หายขาดได้ เพียงแต่ผู้ปกครองใส่ใจสุขอนามัยเด็ก โดยให้ล้างมือบ่อย ๆ และในสัปดาห์หน้าจะให้สำนักอนามัย กทม. เป็นเจ้าภาพเรียกประชุมโรงเรียนใน กทม. และโรงเรียนต่างจังหวัดที่มีความสนใจเข้าร่วมประชุม โดยทางกระทรวงฯ จะสนับสนุนน้ำยาฆ่าเชื้อ เจลล้างมือ อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคนี้ ในประเทศไทยไม่รุนแรงเท่ากับในประเทศไต้หวัน มาเลเซีย ที่มีเด็กติดเชื้อคราวละหลายพันคน
กำลังโหลดความคิดเห็น