สกอ.ทุ่มเงิน 2 แสนซื้อโฆษณาหนังสือพิมพ์มติชน แจกแจงรายละเอียด ข้อสงสัยเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัย และหลัง 8 กันยานี้ เปิดเว็บwww.ranking.mua.go.th ให้ประชาชนเข้าไปอ่าน พร้อมย้ำการจัดอันดับครั้งนี้ “ไม่มีความได้เปรียบเสียเปรียบ” เสนอลดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มหาวิทยาลัยที่ไม่พอใจการจัดอันดับ มาคุยกันในที่ประชุม ทปอ. จะได้นำดัชนีไปจัดในการจัดอันดับปีถัดไป พร้อมจวกเอแบคโพลล์ตั้งคำถามโดยไม่ศึกษาข้อเท็จจริง ระบุไม่เคยมีอคติกับ สมศ. ซึ่ง สมศ.จะวัดถี่เป็นนิ้ว ขณะที่ สกอ.วัดเป็นเซ็นต์
ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) กล่าวว่า เหตุผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในประเทศไทย มีเหตุผลหลัก ๆ อยู่ 3 ข้อ ได้แก่ 1.เป็นสิทธิของสาธารณชนที่จะต้องรับรู้ว่ามหาวิทยาลัยมีคุณภาพ มีจุดเด่น จุดด้อย อย่างไร เพื่อประโยชน์ในการเข้าเรียนหรือเลือกใช้บริการ 2.เป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารงานในมหาวิทยาลัยทุกระดับ และจะส่งผลต่อการสรรหาผู้บริหารระดับสูง นั่นก็คือ อธิการบดี ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการบริหารงานมหาวิทยาลัย และ3.ผลการจัดอันดับจะถูกนำไปใช้ในการจัดสรรทรัพยากร โดยเฉพาะงบประมาณให้แต่ละสถาบัน ในที่สุดจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษา
ทั้งนี้ ตนมองว่าการจัดอันดับมหาวิทยาลัยครั้งนี้จะมีผลทางบวก อย่างประเทศอื่น ๆ ที่มีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยก็จะมองว่าจะเป็นผลทางบวกกับมหาวิทยาลัย และผู้ที่เกี่ยวข้อง เนื่องเพราะมหาวิทยาลัยจะรู้ตำแหน่งของตัวเองว่าอยู่ตรงไหน แล้วรู้ด้วยว่ามีจุดด้อยตรงไหน เขาจะได้นำข้อมูลนี้ไปพัฒนาสถาบันของเขา เพื่อเป็นการยกระดับในปีถัดๆ ไป
เลขาธิการ กกอ. กล่าวต่อว่านับตั้งแต่มีการประกาศผลการจัดอันดับมหาวิทยาลัย ตอนนี้มีการถกเถียงกันมากโดยเฉพาะประเด็นการอันดับมหาวิทยาลัยระหว่างมหาวิทยาลัยขนาดเล็กและขนาดใหญ่ จะได้เปรียบเสียเทียบกันอย่างไร โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่ได้งบประมาณน้อย จริงแล้วคณะทำงานจะมีวิธีการคิดโดยเปรียบเทียบจากหลายเกณฑ์ สำหรับมหาวิทยาลัยขนาดเล็กที่มีงบประมาณน้อย ก็ควรจะเลือกดำเนินการให้สอดคล้องกับงบประมาณและกำลังทรัพยากร แต่หากมหาวิทยาลัยได้รับงบร้อยล้านบาท มีอาจารย์ไม่เกิน 200-300 คนแต่รับนักศึกษา 2-3 หมื่นคน เท่ากับมหาวิทยาลัยได้เกณฑ์พันล้านบาท และมีอาจารย์พันคน ก็แน่นอนจะกระทบกระเทือนด้านคุณภาพ ประเมินออกมาก็ได้คะแนนต่ำ และการอ้างว่าเพราะได้งบน้อยมหาวิทยาลัยต้องหาเงินเพิ่มนั้น คงไม่ใช่คำอธิบายได้ หากจะเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบคงอยู่ที่มหาวิทยาลัยไม่ทำงาน
อย่างไรก็ดี เพื่อแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการจัดอันดับ ทาง สกอ. ได้ขอความร่วมมือไปยังหนังสือพิมพ์มติชน และเสียค่าใช้จ่ายเรื่องกระดาษจำนวน 2 แสนบาท เพื่อทำหนังสือฉบับพิเศษเผยแพร่การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย จะเป็นแทรกในหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 8 ก.ย. 2549 นอกจากนี้หลังวันที่ 8 ก.ย. สกอ.จะเปิดเว็บไซต์ www.ranking.mua.go.th ที่รวบรวมรายละเอียดการจัดอันดับของมหาวิทยาลัย ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อให้เด็กที่สนใจเรียนในสาขาต่าง ๆ ได้เข้าไปศึกษาทำความเข้าใจ เช่น สนใจเรียนวิชาเคมี ก็จะดูได้ว่ามีมหาวิทยาลัยแห่งไหนเปิดสอนบ้าง และมหาวิทยาลัยแห่งใดอยู่อันดับไหน
ศ.พิเศษ ภาวิช กล่าวว่า คณะผู้วิจัยได้เสนอทางออกผ่านตนว่า ขอให้ตัวแทนที่ประชุมประธานสภาอาจารย์มหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย (ปอมท.) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) มหาวิทยาลัยเอกชน จำนวนกี่คนก็ได้มาร่วมกันวิเคราะห์ดัชนีที่คณะผู้วิจัยใช้ร่วมกันว่าสมเหตุสมผลหรือไม่ อย่างไร และเมื่อได้ข้อสรุปที่ตรงกันแล้ว ในปลายปีมหาวิทยาลัยจะต้องเริ่มทำการส่งข้อมูลเข้ามายังฐานข้อมูลออนไลน์ เพี่อที่ สกอ. จะนำใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทย ปี 2549 หรือหากยังกังวลอีกก็สามารถตั้งคณะกรรมการเข้ามาร่วมกลั่นกรองข้อมูลได้ และเมื่อผลออกมาเช่นใดก็เป็นไปตามนั้น ทุกฝ่ายต้องยอมรับความจริง
“ผลการจัดอันดับเมื่อได้ออกมาแล้วมหาวิทยาลัยต้องยอมรับว่าใครอยู่ตรงไหนก็อยู่ตรงนั้น และไม่ควรมาปิดบังหรือบิดเบือนข้อมูล เพราะสาธารณชนมีสิทธิ์ในการรับรู้ และมหาวิทยาลัยก็ควรให้เกียรติสาธารณชนในการรับรู้ด้วย ปัจจุบันเรามีสถาบันอุดมศึกษากว่า 200 กว่าแห่งวันนี้ขนาดอาจารย์สอนอยู่ในมหาวิทยาลัยเดียวกันยังไม่รู้จักกันเลยว่าใครทำหน้าที่ใดกันบ้าง อย่างนี้สาธารณชนเขาจะรู้ได้ไง โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยของรัฐที่ใช้ภาษีประชาชน หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากสาธารณชนให้ประกอบการ ต่างมีหน้าที่ต้องให้สาธารณาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง”
ผู้สื่อข่าวถามว่า สกอ. ไม่เคยเชิญมหาวิทยาลัยมาร่วมคิดดัชนีร่วมกัน ศ.พิเศษ ภาวิช กล่าวว่า จริงแล้วมีการคิดร่วมกัน คือเราคงไม่สามารถจะเชิญอาจารย์มหาวิทยาลัย 50,000 คนมาร่วมคิดไม่ได้อยู่ และถามว่าจะให้อาจารย์มหาวิทยาลัยคิดฝ่ายเดียวหรือไม่ ซึ่งน่าจะต้องมีคนอื่นร่วมคิดด้วย ทั้งนี้เรามีอาจารย์มหาวิทยาลัยจาก 7-8 แห่ง รวมประมาณ 18 คนมาร่วมคิดและเมื่อได้ดัชนีได้นำไปถามอาจารย์มาหวิทยาลัยกลุ่มต่าง ๆ และตนได้เคยพยายามนำเข้าในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เพื่ออธิบาย แต่ที่ประชุมบอกว่าหมดเวลาแล้วเลยไม่ได้เสนอ
"เคยมีผู้เสนอว่าทำไมไม่ถามความเห็นกลุ่มอื่น เช่น กลุ่มสถานประกอบการ เนื่องเพราะได้มีการโจมตีว่าการจัดอันดับไม่ยุติธรรมกับมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก ดังนั้น อยากถามว่าหากไปถามผู้ประกอบการด้วยจะยิ่งกลายว่าไม่เป็นธรรม พวกนักศึกษาราชภัฏ หรือสถาบันอื่นยิ่งถูกถล่มไปใหญ่หรือ การจัดอันดับครั้งนี้ ผมมีแนวคิดว่าข้อมูลใดที่น่าเชื่อถือควรใช้ก็นำมาใช้ ข้อมูลใดที่ยังไม่จำเป็นก็ยังไม่เอามาใช้ และหากถึงเวลาหนึ่งก็ยกเหตุผลหนึ่งขึ้นมาเรื่อย ๆ แบบนี้ก็น่าเป็นห่วงเหมือนกัน"
“การจัดอันดับก็เหมือนกับการแข่งเทนนิสจะต้องว่ากันปีต่อปี เพราะฉะนั้นข้อมูลที่นำมาใช้จัดอันดับในปีนี้คือข้อมูลของปี 2548 บางมหาวิทยาลัยส่งข้อมูลของเมื่อ 10 ปีที่แล้วมามากมาย ซึ่งสกอ.ก็ต้องคัดเอาเฉพาะข้อมูลของปี 2548 หากนำมาใช้หมดก็จะเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างมหาวิทยาลัยเล็กกับใหญ่ มหาวิทยาลัยใหญ่ๆ จะกินบุญเก่าอยู่เรื่อย”
เลขาธิการ กกอ.บอกว่า สิ่งที่เราเป็นห่วงคือหลักการคิดของบ้านเรา เช่น ข้อเสนอของ ปอมท. ที่บอกว่าไม่ชัดเจนในเรื่องของวัตถุประสงค์ หรือเรื่องของเกณฑ์ ตนได้ทำความเข้าใจกับ ปอมท. เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ตนได้ถามว่า ปอมท.รู้หรือไม่ว่าวัตถุประสงค์คืออะไร และตัวชี้วัดที่นำมาใช้คืออะไร ซึ่ง ปอมท.บอกไม่รู้ เหมือนกับที่เอแบคโพลล์ ไปถามเด็กว่า มีความมั่นใจในมาตรฐานของการชี้วัดหรือไม่ เด็กตอบว่าไม่มั่นใจ
แต่ที่สำคัญที่สุดคือเด็กรู้หรือไม่ว่าวิธีการวัดเป็นอย่างไร ในเมื่อเด็กไม่รู้ว่าวิธีวัดเป็นอย่างไรแล้วทำไมต้องไปถามว่ามั่นใจหรือไม่มั่นใจได้อย่างไร ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทำโพลล์ของเอแบคโพลล์ควรจะมีการทบทวนอีกครั้ง เพราะระยะหลังพบว่าเอแบคโพลล์ทำโพลล์แบบชี้นำออกมาเรื่อยๆ
ทั้งนี้ สกอ.ไม่เคยขัดแย้งกับสำนักรับรองและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เพราะ สมศ.จะทำหน้าที่แค่กำหนดมาตรฐานว่าผ่านหรือไม่ผ่านและจะดำเนินการ 4 ปีครั้ง ส่วนการดำเนินงานจัดอันดับมหาวิทยาลัยของ สกอ.จะดำเนินการทุกปี ซึ่งสามารถเปรียบเทียบได้ว่า สมศ.ใช้มาตราวัดระยะเป็นนิ้ว แต่ สกอ.ใช้มาตราวัดระยะเป็นเซนติเมตร ซึ่ง สกอ.จะวัดถี่หน่อย แต่ไม่ว่าจะใช้มาตราวัดเป็นนิ้วหรือเป็นเซนติเมตร เราควรจะมีความเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้สถานศึกษาระดับอุดมศึกษาที่มีคุณภาพเข้มแข็งขึ้น