xs
xsm
sm
md
lg

จี้ สกอ.ขอโทษนักศึกษา เหตุจัดอันดับมหาวิทยาลัย “กระทบจิตใจ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอแบคโพลล์ ระบุนักศึกษากังวลว่าจะไม่มีงานทำ และสังคมไม่ยอมรับ ถ้าหากมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับท้ายๆ แต่ยังคงภูมิใจในสถาบัน ผอ.เอแบคโพลล์ แนะให้ สกอ.ขอโทษนักศึกษา เพราะผลสำรวจมีผลกระทบต่อความรู้สึกของผู้เรียน ด้าน อธิการ มก. ติง ข้อมูลที่นำมาวิเคราะห์ไม่ครบถ้วน ส่งผลเสียหายต่อสถาบันการศึกษา

ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลสำรวจเรื่อง “การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยในทรรศนะนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐเขตกรุงเทพมหานคร” จากนักศึกษามหาวิทยาลัยของรัฐ จำนวน 1,152 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-2 กันยายน ที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ หรือร้อยละ 72.8 เห็นว่า จะทำให้หางานทำได้ยากขึ้น หลังเรียนจบ หากมหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาอยู่ถูกจัดให้อยู่ในอันดับท้ายๆ ร้อยละ 46.4 คิดว่า จะทำให้สังคมไม่ยอมรับตัวนักศึกษา อย่างไรก็ตาม ตัวอย่างส่วนใหญ่ยังมีความภูมิใจในสถาบันฯ รวมทั้งภูมิใจในตัวเอง และยังเชื่อมั่นต่อสถาบันที่ตนเองศึกษาอยู่เท่าเดิม คิดเป็นร้อยละ 66.5, 69.0 และ 63.7 ตามลำดับ

สำหรับความเชื่อมั่นต่อการจัดอันดับมหาวิทยาลัยของคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 39.3 ไม่เชื่อมั่นต่อการจัดอันดับดังกล่าว โดยให้เหตุผลสำคัญคือ เกณฑ์ในการจัดอันดับไม่มีความชัดเจน ไม่ครอบคลุม ไม่เชื่อถือหน่วยงานที่ทำการจัดอันดับ ขณะที่ร้อยละ 23.6 ระบุเชื่อมั่น ร้อยละ 37.1 ไม่ระบุความคิดเห็น ส่วนความเห็นต่อแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพทางการศึกษาไทยนั้น ร้อยละ 37.3 เห็นว่า การศึกษาของไทยควรปรับปรุงในด้านหลักสูตรและพัฒนาคุณภาพการศึกษา รองลงมา คือ ควรเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการศึกษาให้เพียงพอ จัดระบบการศึกษาให้ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน รัฐบาลควรสนับสนุนการศึกษาอย่างจริงจัง พัฒนาสื่อและเทคโนโลยีการเรียนการสอน เน้นการปฏิบัติงานจริงมากกว่าการศึกษาในห้องเรียน พัฒนาด้านจริยธรรม คุณธรรม ให้กับนักศึกษา

ดร.นพดล แสดงความคิดเห็นว่า ผลสำรวจครั้งนี้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อตัวนักศึกษาอย่างน่าเป็นห่วง แม้กลุ่มนักศึกษาที่ถูกสำรวจส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงความกังวลต่อผลการจัดอันดับที่มีต่อสถาบันการศึกษาของตน เนื่องจากยังคงเชื่อมั่นและภูมิใจต่อสถาบันที่พวกเขากำลังศึกษาอยู่ แต่สิ่งที่นักศึกษาเกิดความกังวล ก็คือ การหางานทำและการยอมรับจากสังคม ถ้ามหาวิทยาลัยของตนเองถูกประกาศออกไปว่าอยู่ในอันดับท้ายๆ ของการจัดอันดับ คณะทำงานด้านการจัดอันดับจึงควรพิจารณาตนเองและน่าจะออกมาขอโทษนักศึกษาเหล่านี้ หรือแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย

“การจัดอันดับมหาวิทยาลัยมีเจตนาที่ดี แต่ดีอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ เพราะเกิดผลกระทบต่อความรู้สึกของนักศึกษาส่วนใหญ่ของประเทศ การที่พวกเขาเหล่านั้นเข้าไปรับการศึกษาตามสถาบันการศึกษาที่ถูกจัดอันดับท้ายๆ อาจเป็นเพราะบรรดาผู้ใหญ่ในสังคมที่ไม่สามารถปฏิรูปการศึกษาให้สำเร็จ ทำให้คุณภาพและโอกาสทางการศึกษาไม่ได้ถูกกระจายไปยังพื้นที่และภูมิภาคต่างๆ ของประเทศอย่างเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ เด็กนักศึกษาส่วนใหญ่อาจได้รับผลกระทบจากการสร้างมาตรฐานทดสอบแบบโอเน็ต – เอเน็ต หรือการสอบเอนทรานซ์”

รศ.วัฒนา สวรรยาธิปัติ รักษาราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า ที่ประชุมผู้บริหารของ มก.ว่า ผลการจัดอันดับของ สกอ.ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ในเรื่องขององค์ประกอบต่างๆ เช่น ด้านงบประมาณ บุคลากร ตัวชี้วัด องค์ประกอบต่างๆ ซึ่งในหลักความเป็นจริงแต่ละสถาบันมีความแตกต่างกัน ผลที่ออกมาทำให้บุคคลที่เกี่ยวข้องเกิดความเข้าใจผิดและหลงเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นจริง ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหายทั้งชื่อเสียง ความศรัทธาและความเชื่อถือจากสังคม

ดังนั้นเพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่หน่วยงาน บุคลากร นิสิตปัจจุบัน และนิสิตเก่า ของ มก.ตลอดจนประชาชนและสังคมโดยทั่วไป จึงแจ้งข้อเท็จจริง ดังนี้ 1. การดำเนินการของ สกอ.เป็นการดำเนินการโดยไม่ได้แจ้งให้แต่ละมหาวิทยาลัยตรวจสอบข้อมูล และรับฟังความเห็นก่อน อีกทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันต่างๆ เมื่อมีเผยแพร่สู่สาธารณะแล้ว ดังนั้น มหาวิทยาลัย จึงไม่ได้ทราบถึงความน่าเชื่อถือของการประมวลผล รายละเอียดของการวิเคราะห์และไม่มีโอกาสตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลแต่อย่างใด

2. จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ข้อมูลที่นำมาใช้ประกอบการจัดอันดับนั้น ไม่ถูกต้องและไม่ครบถ้วนในหลายประการ ประกอบกับความไม่ชัดเจนของกระบวนการจัดทำและความไม่สมบูรณ์ของโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผล ทำให้ผลที่ได้คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง อันนำไปสู่การสรุปผลที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง และสร้างความเข้าใจผิดต่อสาธารณะ ซึ่งมีผลด้านจิตวิทยาในการโน้มน้าวให้เข้าใจในทางที่เสื่อมเสียแก่สถาบันต่างๆ ได้ เนื่องจากสังคมได้รับข้อเท็จริงไม่ครบถ้วน ทำให้นักเรียนนำการจัดอันดับนี้ไปประกอบการตัดสินใจเลือกเข้าศึกษาต่อ

3. การดำเนินการของ สกอ. เรื่องนี้ ได้มีการหารือในที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หลายครั้ง ซึ่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐส่วนใหญ่แสดงความไม่เห็นด้วยกับวิธีการดำเนินการ และร่วมกันให้ข้อคิดเป็นว่า การจัดอันดับมหาวิทยาลัย ควรเป็นภารกิจของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ไม่ใช่ภารกิจของ สกอ.

รศ.วัฒนา กล่าวต่อว่า ในการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยไทย เป็นสิ่งที่ดี แต่ทาง สกอ.ควรที่จะดำเนินการให้รอบคอบ มีขั้นตอนและควรได้ประชุมหารือกันกับสถาบันการศึกษา เพื่อให้เกิดความถูกต้องของฐานข้อมูลต่างๆ ผลที่ออกมาจะได้ไม่มีปัญหาหรือข้อคลางแคลง และที่สำคัญที่สุดคือในเรื่องของมาตรฐานด้านข้อมูล หรือดัชนีชี้วัดต่างๆ ตลอดจนโปรแกรมที่ใช้ในการวิเคราะห์และประมวลผล ทั้งนี้ ผลของการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจเข้าเลือกในสถาบันต่างๆ ในระยะยาวด้วย

กำลังโหลดความคิดเห็น