xs
xsm
sm
md
lg

อธิการฯ มศว จวก “ภาวิช” จัดอันดับมหา’ลัยสนองทุนนิยมสุดโต่ง ชี้ สกอ.ทำงานแบบสุกเอาเผากิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดี มศว
มศว เตรียมนำผลการจัดอันดับคุยต่อสภามหา’ลัย ย้ำการจัดอันดับเพียงแค่สอนและวิจัยไม่เพียงพอ เพราะมหา’ลัยไทยมีความหลากหลาย ชี้ที่ สกอ.ทำสนองตอบระบบทุนนิยมสุดโต่ง ชาวมหา'ลัยไม่ต้องหวั่นไหวจัดอันดับเหมือนประกวดนางงาม อธิการบดี ม.มหิดลย้ำมั่นใจสถาบันตนเองเป็นอันดับ 1 ชี้การจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยของ สกอ.เพื่อพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาให้ดีขึ้น ด้าน อธ.แม่ฟ้าหลวงระบุ สังคมไทยยังไม่พร้อมรับผลการจัดอันดับ เผย สกอ.แค่จัดกลุ่มมหาวิทยาลัยคร่าวๆ ไม่ใช่การจัดอันดับ

วันนี้ (1 ก.ย.) ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า ผลการจัดอันดับที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาประกาศออกไปนั้น มีหลายสถาบันการศึกษาไม่ยอมรับและได้ออกมาทักท้วง ในส่วนของ มศว นั้นเราไม่ได้ส่งข้อมูลไปให้ สกอ. เนื่องจากเราไม่เชื่อการจัดอันดับตั้งแต่เริ่มแรก จึงไม่มีการส่งข้อมูลไปให้เพื่อทำการจัดอันดับ

ดังนั้น ข้อมูลต่างๆ ที่ สกอ.นำไปจัดนั้นอาจเก็บตกมาจากไหน มหาวิทยาลัยมิอาจรู้ได้ และเชื่อว่าหลายมหาวิทยาลัยอาจประสบปัญหาเช่นนี้อยู่เหมือนกัน การทำงานในลักษณะที่ สกอ.ทำอยู่ ถือเป็นการทำงานแบบสุกเอาเผากิน

“อยากถามว่า การใช่ระบบออนไลน์ที่ สกอ.นำมาใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในครั้งนี้นั้น ทำงานรอบคอบแค่ไหน ผมอยากพูดว่า สกอ.กำลังจัดมหาวิทยาลัยไทยเรียงเข้าแถวเหมือนทหารเกณฑ์ จากนั้นนำมาฉีดยาสลบ หลายสถาบันจึงไม่เชื่อถือและรับไม่ได้กับการทำงานของ สกอ. อย่าลืมว่าการศึกษาต้องมีความหลากหลาย การจัดอันดับโดยใช้เพียงแค่งานวิจัยและการเรียนการสอนมาเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้า ความสำเร็จของสถาบันอุดมศึกษาจึงไม่เพียงพอ เป็นการดูมหาวิทยาลัยด้วยสายตามที่แคบมากและเอาอย่างตะวันตก ตามก้นฝรั่งจนลืมคิดถึงบริบทของสังคมไทย”

“อย่าลืมว่าการศึกษาในโลกหลังสมัยนั้นต้องมีความหลากหลาย การใช้เกณฑ์เพียงไม่กี่ตัวมาชี้วัดแล้วตัดสินมหาวิทยาลัยไทยนั้นถือว่าเชื่อถือไม่ได้อย่างยิ่ง แม้แต่การดูว่างานวิจัยมีคุณภาพหรือไม่นั้น ใครเป็นคนดูและใครเป็นผู้ประเมินผลงานวิจัย หรือดูจากการได้ตีพิมพ์ในต่างประเทศ โดยที่ผลงานอาจจะไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติเลย”

ศ.ดร.วิรุณ กล่าวอีกว่า ระบบการจัดอันดับมหาวิทยาลัยที่ สกอ.ทำอยู่นั้น เป็นการสนองตอบต่อระบบทุนนิยม เพื่อให้เข้าสู่มาตรฐานตามแบบสากล แต่ในระบบมาตรฐานสากลนั้น เราได้เตรียมคนในส่วนของฐานข้อมูลต่างๆ มากน้อยแค่ไหน ขอบอกว่าฐานข้อมูลของมหาวิทยาลัยไทยจำนวนไม่น้อยที่อ่อนแอมาก เมื่อฐานข้อมูลต่างๆ อ่อนแอ ผลลัพธ์ของการจัดอันดับซึ่งเป็นงานชิ้นสำคัญอีกชิ้นของเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา จึงออกมาอ่อนแอด้วยมาตรฐานสากลมักพูดถึงความสำเร็จต่างๆ ด้วยทุนและงบประมาณในการลงทุนเป็นหลัก

สถาบันอุดมศึกษาจำนวนมากได้งบประมาณน้อยมาก เขาจึงบริหารจัดการทุกอย่างด้วยความพอเพียง ขยับทำอะไรได้ไม่มากนักซึ่งก็น่าเห็นใจ ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ แต่ปรากฏว่าสถาบันเหล่านั้นถูกจัดอันดับต่ำ หรืออยู่ในขั้นต้องปรับปรุง แก้ไข นี่หรือคือมุมมองของการจัดอันดับให้มหาวิทยาลัยไทยที่ต้องออกมาพูดเช่นนี้ไม่ใช่กลัวการประเมินหรือการจัดอันดับ แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับสถาบันอื่นๆ ด้วย

ดังนั้นจะเห็นว่า หลายสถาบันที่งงและตกใจกับผลการจัดอันดับของ สกอ. ในส่วนของ มศว นั้น เราจะนำผลที่ สกอ.จัดอันดับมาพูดคุยในการประชุมยุทธศาสตร์ของผู้บริหารมหาวิทยาลัย และนำไปประชุมในสภาวิชาการ และสภามหาวิทยาลัยต่อไปด้วย ทั้งนี้ เรื่องนี้อาจต้องพูดคุยกันในการประชุม ทปอ.ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวเสริมว่า ไม่ว่าสถาบันอุดมศึกษาแห่งไหนจะได้มีผลการจัดอันดับในอันดับไหน เชื่อว่าแต่ละมหาวิทยาลัยรู้ตัวเองดีว่ายังต้องปรับตัวอีกมาก ไม่จำเป็นต้องมีการจัดอันดับเขาก็รู้ตัวดี แต่มันไม่ใช่เรื่องง่าย การปรับปรุงคุณภาพมหาวิทยาลัยต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณที่มหาวิทยาลัยได้รับ ก็ไม่เพียงพอกับการพัฒนา แต่ละสถาบันการศึกษามีความแตกต่างกัน แต่เมื่อมาจัดอันดับโดยให้มาตรฐานเดียวกันในการจัดอันดับ ถือว่าข้อมูลอาจจะผิดพลาดและไม่ตรงตามความเป็นจริง ผลสุดท้ายแต่ละสถาบันการศึกษาจะวิ่งเข้าหามาตรฐานสากลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานวิจัยเพื่อให้ต่างชาติยอมรับ ได้ลงตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการระดับนานาชาติ แต่ความรู้เหล่านั้นอาจจะไม่เหมาะกับบริบทหรือประโยชน์ของสังคมไทยเลย

“ที่ออกมาพูดไม่ได้มาขัดขวางการจัดอันดับมหาวิทยาลัย แต่อยากถามว่าขั้นตอนการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยโดย สกอ.นั้น เร่งทำและรีบร้อนมากเกินไป ทำงานแบบสุกเอาเผากิน และการจัดอันดับก็ควรจะได้มาพูดคุยกับชาวมหาวิทยาลัยเสียก่อน ไม่ใช่มาขอข้อมูลแล้วให้ทางมหาวิทยาลัยกรอกข้อมูลใส่ไป จากนั้นนำข้อมูลที่ได้ไปจัดอันดับ ตัวดัชนีชี้วัดต่างๆ เคยถามมหาวิทยาลัยบ้างไหม การทำงานในลักษณะนี้ไม่เกิดประโยชน์ต่อสถาบันอุดมศึกษาไทยเลย

สุดท้ายมหาวิทยาลัยไทยก็ตกเป็นเหยื่อของการจัดอันดับ เนื่องจากการจัดอันดับเป็นการจัดอันดับที่มีเพียงมาตรฐานเดียว ขณะที่มหาวิทยาลัยไทยมีความหลากหลาย มีความเป็นมา มีเอกลักษณ์และมีตัวตนของตัวเอง ทาง สกอ.เคยรับรู้บ้างหรือไม่ แม้จะมีการจัดอันดับมหาวิทยาลัยแล้วก็ตาม แต่สุดท้ายผลประโยชน์ต่างๆ คงไม่เกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษามากนัก สุดท้ายพอถึงฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัย ก็ยังคงมีการแย่งชิงที่นั่งเพื่อเข้าสู่มหาวิทยาลัยอีกเหมือนเดิม”

รศ.ดร.นภาภรณ์ กล่าวอีกว่า ฝากถึงมหาวิทยาลัยทุกแห่งว่า อย่าไปสนใจผลการจัดอันดับมากนัก แต่สิ่งที่ชาวมหาวิทยาลัยต้องทำก็คือการทำงานที่หนักขึ้น เราต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง ตัวมหาวิทยาลัยเท่านั้นจะรู้ตัวเองว่าส่วนไหนคือจุดอ่อนและส่วนไหนคือสิ่งที่เข้มแข็ง ไม่มีใครที่รู้ดีเท่ามหาวิทยาลัยเอง การประกาศผลการจัดอันดับอาจจะฮือฮาสักระยะหนึ่ง เหมือนประกาศผลนางงามแล้วอีกไม่นานทุกอย่างกลับสู่สภาพเดิม แต่สิ่งหนึ่งที่ชาวมหาวิทยาลัยต้องทำก็คือ ต้องรู้จุดยืนและรู้ตัวเองให้มาก และไม่ต้องสะทกสะท้านและหวั่นไหวกับผลการจัดอันดับมากนัก

วันเดียวกัน นายพรชัย มาตังคสมบัติ อธิการบดี ม.มหิดล กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า ถ้าถามเรื่องการจัดอันดับตนค่อนข้างมั่นใจว่า ม.มหิดล เป็นที่ 1 เพราะเป็นมหาวิทยาลัยที่อยู่มานาน อีกทั้งมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเราพยายามทำให้ดีที่สุดอยู่แล้ว แต่ไม่ขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับใครที่จะพอใจหรือไม่พอใจการจัดอันดับครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม การที่ สกอ.จัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยในครั้งนี้ก็เพื่อให้แต่ละสถาบันพัฒนาตนเอง โดยให้รู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนของมหาวิทยาลัย แม้ว่า ม.มหิดลจะอยู่ในอันดับดีเลิศแต่ก็ต้องพัฒนามหาวิทยาลัยอย่างต่อเนื่องอีก

“ผมอยากให้การแข่งขันของมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นการแข่งขันที่เป็นมิตรและเอื้อประโยชน์ต่อกันในด้านการให้ความช่วยเหลือและร่วมมือกันพัฒนามหาวิทยาลัย ไม่ใช่การแข่งขันแบบขัดแข้งขัดขากันเอง จึงไม่อยากให้เรื่องนี้ทำให้ความร่วมมือของแต่ละสถาบันด้อยลงไป ซึ่งผมขอเน้นย้ำว่า ม.มหิดลพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยทุกแห่ง โดยจะทำอย่างเท่าเทียมไม่คิดแบ่งแยก แต่จะเน้นการยกระดับการจัดการศึกษา ส่งเสริมช่วยให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ และเคารพซึ่งกันและกันอย่างเท่าเทียม ไม่มีการยกตนเหนือผู้อื่น ที่สำคัญมหาวิทยาลัยเก่าแก่ก็ต้องช่วยเหลือสถาบันอื่นๆ เพื่อประโยชน์ส่วนรวมดีขึ้นด้วย” อธิการบดี ม.มหิดล กล่าว

ด้าน รศ.ดร.วันชัย ศิริชนะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง (มฟล.) กล่าวว่า การประกาศผลการจัดอันดับดังกล่าว คิดว่าไม่ใช่การจัดอันดับแต่เป็นการแบ่งกลุ่มของสถาบันอุดมศึกษา ดังนั้นผลประเมินคราวนี้ไม่สามารถระบุภาพรวมคุณภาพของมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้ เพราะใช้การประเมินตามดัชนีชี้วัดเพียง 2 ตัวเท่านั้น อีกทั้งจากดัชนีดังกล่าวจะนำมาพิจารณาว่ามหาวิทยาลัยไหนมีสถานภาพอย่างไรคงไม่ได้ เพราะเป็นเพียงการแบ่งกลุ่มคร่าวๆ แต่ตนก็มีข้อสังเกตด้วยว่า ข้อมูลที่ใช้ในการประเมินถูกต้องเพียงใด เป็นปัจจุบันหรือไม่ และการประเมินควรได้รับความร่วมมือจากผู้ถูกประเมินอย่างแท้จริงด้วย เนื่องจากข้อมูลบางอย่างอาจไม่เป็นปัจจุบันเท่าที่ควร

ส่วนการประกาศผลจัดอันดับจะส่งผลให้เกิดความแตกแยกในหมู่สถาบันอุดมศึกษาหรือไม่นั้น ตนไม่คิดว่าจะเกิดความแตกแยกของมหาวิทยาลัย แต่สำหรับนักเรียน นักศึกษา และผู้ปกครองอาจรู้สึกได้ว่ามหาวิทยาลัยที่นั่นดีกว่าที่อื่นก็เป็นได้ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าข้อมูลเหล่านี้ทุกคนทราบอยู่แล้ว

“สำหรับผมไม่ได้มีความรู้สึกอะไรเป็นพิเศษกับการจัดอันดับและการประเมินครั้งนี้ เพราะเราเป็นองค์กรสาธารณะก็มีสิทธิ์ที่จะถูกวิจารณ์ได้ แต่ข้อมูลที่เปิดเผยนั้นมองว่าสภาพสังคมไทยในปัจจุบันยังไม่พร้อมรับสภาพการประกาศผลประเมิน เพราะขณะนี้ยังมีปัญหาและการจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาคุณภาพของมหาวิทยาลัยยังไม่เพียงพอ จึงอยากให้ประเมินอย่างสร้างสรรค์ ส่งเสริมและสนับสนุนให้แก้ไปจุดอ่อนและพัฒนาไปในทิศทางที่ดี ซึ่งการจะประเมินแล้วนำไปสู่การลงโทษคงไม่เหมาะ ขณะนี้ต้องให้โอกาสมหาวิทยาลัยปรับปรุงเสียก่อนหากไม่ดีขึ้น อาจต้องมีการพิจารณาหรือหาทางผ่าตัดต่อไป” รศ.ดร.วันชัย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น