ณ เวลานี้สถานการณ์การทำร้ายร่างกายในหมู่วัยรุ่นวัยเรียนนับวันจะเพิ่มขึ้น และรุนแรงกว่าสมัยก่อน อย่างที่เป็นข่าวครึกโครมขึ้นหน้าหนึ่งติดต่อกันหลายวัน มีนักเรียนหญิงทำร้ายร่างกายเพื่อนนักเรียนหญิงโรงเรียนเดียวกัน แล้วยังมีการถ่ายวิดีโอคลิปเก็บไว้ หรือเหตุการณ์ที่นักเรียนชาย 8 คนไล่เพื่อนนักเรียนออกจากห้องให้เหลือเพียงเด็กผู้หญิง 1 คน แล้วช่วยกันถอดกระโปรง ทำอนาจารเพื่อนนักเรียนหญิง
การทำร้ายร่างกายของนักเรียนนี้เอง สร้างความตื่นตระหนกให้แก่สังคมไทย แล้วมีคำถามว่าเกิดอะไรขึ้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ผศ.ดร.สมบัติ ตาปัญญา นักจิตวิทยา ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งข้อสังเกตว่า จากการทำแบบสอบถามนักเรียนทั่วประเทศกว่า 3,000 คน ครู 1,300 คน เกี่ยวการทำร้ายร่างกาย ผลการสำรวจพบว่ามีการทำร้ายเพื่อนรักเรียนที่เรียนอยู่โรงเรียนเดียวกัน และต่างโรงเรียนเพิ่มขึ้น ที่สำคัญวิธีการทำร้ายจะรุนแรงมากกว่าอดีต
“สมัยก่อนเด็กมีปัญหากันก็จะนัดพบกันตัวต่อตัว แต่เดี๋ยวนี้มีการรุมกันครั้งละหลายคน และกว่า ครู ผู้ปกครอง ทราบเรื่อง ต่อเมื่อเห็นร่องรอยของการถูกทำร้าย”
สำหรับบริเวณที่ทำร้ายจะเกิดขึ้นที่ห้องเรียน โรงอาหาร ห้องน้ำ บันได สนามหญ้า หรือบริเวณที่ไม่มีผู้คนเดินผ่าน ส่วนกลุ่มที่ก่อเหตุจะเป็นเด็กดื้อ เกเรหนีเรียน และชอบรังแกเพื่อน ทั้งนี้ จากการสอบถามครู ครูจะบอกว่าเห็นพฤติกรรมของนักเรียนว่าเป็นเรื่องปกติ จึงไม่ได้มีมาตรการคุมความประพฤติเด็กอย่างจริงจัง
ผศ.ดร.สมบัติเสนอทางเลือกใหม่ เพื่อลดปัญหาการรังแก ด้วยการใช้ “โครงการเยาวชนสมานฉันท์” โดยให้ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง เข้ามามีส่วนร่วมเลือกคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง เพื่อมาทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทของเพื่อนนักเรียน หรือสืบค้นต้นต่อของเหตุการณ์รุนแรง แล้วพยายามหาทางออกเพื่อไม่ให้ทั้ง 2 ฝ่ายใช้กำลังทำร้ายซึ่งกันและกัน ซึ่งไม่เป็นผลดีแถมยังเป็นตัวอย่างที่ไม่ดีให้แก่รุ่นน้องหรือเพื่อนนักเรียน จะเอามาเป็นแบบอย่างหากเกิดการขัดแย้งกัน
“ขบวนการไกล่เกลี่ยเพื่อให้แต่ละฝ่ายฟังกัน ในต่างประเทศเขาใช้กันมานานแล้ว และได้ผล แต่บ้านเรายังไม่มี ดังนั้น ตนวิธีการไกล่เกลี่ยมาใช้นำร่อง 2 โรงเรียนในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวะ กับโรงเรียนเทศบาล เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษา ที่เลือกโรงเรียนต่างกัน เนื่องเพราะเด็กในแต่ละวัยจะมีปัญหาต่างกัน ความรุนแรงต่างกัน ซึ่งถ้าหากผลการนำร่องประสบความสำเร็จจะมีการขยายไปยังโรงเรียนอื่นต่อไป”
ขณะที่ พญ.พรรณพิมล หล่อตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล บอกว่า การทำร้ายร่างกายกัน ออกมาในรูปของการเลียนแบบ น้องเห็นพี่แสดงพฤติกรรมที่ไม่ดี น้องก็ทำตามบ้าง โดยไม่มีใครไปชี้แนะว่าพฤติกรรมเหล่านี้ไม่ดี อีกอย่างหนึ่งผู้ใหญ่มักจะละเลย มองว่าเป็นเรื่องปกติของเด็กวัยนี้ต้องมีการกระทบกระทั่งชกต่อยกันเป็นเรื่องธรรมดา โดยไม่มีการฉุกคิดว่า ที่เด็กลุกขึ้นมาทำร้ายกันสาเหตุมาจากอะไร
และที่น่าสังเกตพบว่าเด็กที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นมีความถี่ในการทำร้ายกันน้อยกว่าสมัยเด็กเรียนประถม แต่จะใช้กำลังรุนแรงเพื่อให้อีกฝ่ายได้รับบาดเจ็บ
ด้านสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก คณะกรรมการคุ้มครองเด็กแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ปกครอง ครู เข้าใจพัฒนาการเด็กน้อยเกินไป ตามปกติจะคอยดูเด็กอย่างใกล้ชิดจนเด็กชั้นมัธยมฯ แล้วจะปล่อยให้เด็กช่วยเหลือตัวเอง เพราะมั่นใจว่าเด็กเติบโตพอที่จะช่วยเหลือตนเองได้แล้ว
ทั้งๆ ที่ความจริงวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องใกล้ชิด คอยสอดส่องพฤติกรรมของเขา เนื่องเพราะวัยนี้เป็นวัยอยากรู้อยากเห็นโดยเฉพาะเรื่องเพศสัมพันธ์ ผู้ใหญ่ควรสอนไม่ใช่ให้เด็กเรียนรู้กันเอง และวัยนี้อีกนั่นแหละmพอมีปัญหาถูกข่มเหรงรังแกจะไม่กล้าเอ่ยปากบอกใคร จะเก็บเงียบไว้คนเดียว ซึ่งจะมีปัญหาด้านจิตใจตามมาในภายหลัง
ทั้งนี้ เพื่อป้องกันการถูกรังแก พ่อแม่ ผู้ปกครอง ต้องป้องกันไม่ให้เด็กไปรังแกคนอื่น และรู้จักการยอมรับคนอื่น ขณะเดียวกันเพื่อไม่ให้ลูกถูกรังแก พ่อแม่ต้องเตรียมความพร้อมลูกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาไม่ให้ถูกเพื่อนทำร้าย เช่น พูดคุยกับลูกว่าหากถูกเพื่อนล้อเลียน และถ้าหากรู้ว่าในห้องมีเด็กเกเร พ่อแม่ควรแนะนำให้ลูกอยู่ใกล้ชิดผู้ใหญ่ สอนให้ลูกขอความช่วยเหลือจากคนอื่นด้วย เพื่อลดปัญหาการได้รับบาดเจ็บ