xs
xsm
sm
md
lg

เสียงทางการเมืองที่ขาดหาย “ความจริง” ของหญิงไทยที่ควรรู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


แม้ปัจจุบัน บทบาทของผู้หญิงไทยในแวดวงต่างๆ จะเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตก็ตาม แต่เมื่อวิเคราะห์ลงลึกไปถึงบทบาททางการเมือง รวมทั้งองค์กรสำคัญของภาครัฐ กลับพบว่า ยังมีสัดส่วนที่น้อยกว่าที่ควรจะเป็นพอสมควรเลยทีเดียว

ดร.จุรี วิจิตรวาทการ ประธานอนุกรรมการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการเมืองและการบริหาร สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และประธานผู้หญิงเพื่อการพัฒนาประชาธิปไตย ในฐานะในผู้วิจัยและผู้จัดทำรายงาน"สิทธิของสตรีกับเสียงทางการเมืองในประเทศไทย” ฉบับล่าสุด ของมูลนิธิผู้หญิงเพื่อพัฒนาประชาธิปไตยและสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDP ให้ข้อมูลในภาพรวมว่า ในหลายๆ ด้านของวัฒนธรรมไทยยังคงกระทำกับผู้หญิงเสมือนเป็นพลเมืองชั้นสองที่ต้องมีบทบาทรองในครอบครัว ในชุมชนและในการเมือง ขณะที่ปัจจุบันผู้หญิงมิใช่เพียงแค่ต้องทำงานบ้านเท่านั้น แต่ต้องทำงานนอกบ้าน แต่กลับถูกกีดกั้นไปเสียทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการไม่เป็นผู้นำ ภาวะการตัดสินใจ อ่อนไหวง่าย ขาดคุณสมบัติ รวมทั้งไม่มีความอาวุโส ทำให้ไม่สามารถทำงานอย่างราบรื่น และก้าวหน้าถึงจุดสูงสุดได้

ทั้งนี้ จากการเก็บรวบรวมข้อมูลพบว่า ปัจจุบันนี้บ้านเมืองของเรามีรัฐมนตรีหญิงเพียง 1 คน จากจำนวนรัฐมนตรีทั้งหมด 36 คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดหญิงเพียง 1 คน จากจำนวนผู้ว่าฯ ทั้งหมด 76 คน และมีเพียงร้อยละ 10 ที่ผู้หญิงมีที่นั่งในรัฐสภา เมื่อเปรียบเทียบกับชาติต่างๆ แล้ว ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 113 จาก 185 ประเทศ ซึ่งถือว่าแย่กว่าประเทศชาติในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ แต่เมื่อเปรียบเทียบทั่วโลกแล้ว ปรากฏว่าเฉลี่ยผู้หญิงเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ร้อยละ 16 และสมาชิกวุฒิสภา ร้อยละ 15 ขณะที่ประเทศไทยมีสัดส่วนร้อยละ 10.4 และ 10.5 ตามลำดับ อีกทั้งสัดส่วนของข้าราชการหญิงระดับสูง มีอัตราเพียง 1 ใน 4 ในขณะที่อัตราส่วน 2 ใน 3 เป็นข้าราชการหญิงระดับผู้ช่วยแทบทั้งสิ้น

รายงานระบุอีกด้วยว่า ในการเมืองท้องถิ่นมีผู้หญิงที่ดำรงตำแหน่งเป็นนายอำเภอ ร้อยละ 0.3 เป็นรองนายอำเภอ ร้อยละ 12.6 เป็นผู้ใหญ่บ้านหญิง 3.3 ส่วนตำแหน่งทางการเมืองมีผู้หญิงได้รับการเลือกเข้ามาในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยเฉลี่ยต่ำกว่า ร้อยละ 7 ทั้งประเทศ ส่วนในการเลือกตั้งปี 2548 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหญิงที่อยู่ในบัญชีรายชื่อพรรคไทยรักไทย มีจำนวนร้อยละ 7 และร้อยละ14ในบัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ขณะที่ รัฐบาล ตั้งเป้าจะเพิ่มสัดส่วนของผู้หญิงในรัฐสภา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้บริหารระดับสูงในปี 2549 ตามข้อตกลงในการประชุมสุดยอดขององค์การสหประชาชาติ เมื่อปี 2543 ก็เป็นเพียงลมปาก เพราะในทางปฏิบัติไม่สามารถทำได้จริง

“ผู้หญิงสมัยนี้มีความสามารถมาก สามารถดำรงตำแหน่งสูงๆ ในกระทรวง องค์กรอิสระ และคณะกรรมการต่างๆ ในภาคราชการ แต่ก็ยังไม่สามารถขจัดการกีดกันผู้หญิงในการก้าวสู่ตำแหน่งบริหาร”ดร.จุรีแจกแจง

นอกจากนี้ มีการจัดอันดับกระทรวงที่มีผู้บริหารผู้หญิงมากที่สุดใน 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงพาณิชย์ ร้อยละ 50 กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร้อยละ 38.5 และกระทรวงศึกษาธิการ ร้อยละ 31.6 ส่วนลำดับที่มีจำนวนผู้บริหารหญิงระดับสูงน้อยที่สุดในกระทรวง คือ กระทรงเกษตรและสหกรณ์ ร้อยละ 6.4 กระทรวงคมนาคม ร้อยละ 3.7 และกระทรวงมหาดไทย ร้อยละ 3.3

ส่วนองค์กรอิสระ 3 อันดับแรกที่มีจำนวนกรรมการหญิงมากที่สุด 3 องค์กรแรกได้แก่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร้อยละ 45 คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ร้อยละ 20 และคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ ร้อยละ 18 สำหรับลำดับรั้งท้ายสุด 4 องค์กร คือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติและคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์

ขณะที่องค์กรรัฐวิสาหกิจที่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหารและคณะกรรมการมากที่สุด คือ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร้อยละ 33 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ร้อยละ 20 และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ร้อยละ 20 และลำดับรั้งท้าย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีผู้หญิงเป็นกรรมการในแต่ละองค์กรเพียง 1 คน ส่วนการบินไทย จำกัด (มหาชน) มีคณะกรรมการเป็นผู้ชายจำนวน 15 คน โดยไม่มีผู้หญิงแม้สักคนเดียว

สำหรับทางออกนั้น ดร.จุรี ได้เสนอให้ลดสัดส่วนในการให้ผู้ชายทำหน้าที่ผู้บริหารสูงๆ น้อยลง กระตุ้นข้าราชการและองค์กรเอกชนเกี่ยวกับความเท่าเทียมกันของหญิงชายและสร้างศูนย์ประสานงานด้านความเสมอภาคระหว่างหญิงชาย ที่จัดตั้งขึ้นในทุกส่วนราชการ รวมทั้งกระตุ้นพรรคการเมืองต่างๆ ให้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีส่วนร่วมทางการเมืองและกระตุ้นให้ผู้หญิงสนใจมากขึ้น สรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้หญิงเพิ่มขึ้น และตั้งเป้าให้มีผู้หญิงอยู่ในระบบบัญชีรายชื่ออย่างสมดุล ที่สำคัญคือการสร้างทัศนะคติใหม่ๆ ที่ให้ความสำคัญแก่ผู้หญิงให้กับเยาวชน คนรุ่นใหม่ โดยขจัดภาพลักษณ์ผิดๆ ออกไป

“หากให้โอกาสผู้หญิง พวกเธอจะทำได้ดีและสรรหานโยบายเพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตัวอย่างแน่นอน”ดร.จุรีสรุป
กำลังโหลดความคิดเห็น