“วัฒนา” เสนอแผนพัฒนาเด็กปฐมวัย ตั้งห้องสมุดของเล่นให้เด็กในทุกอำเภอ พัฒนาพี่เลี้ยงให้มีคุณภาพ โดยดึงงบจากกองทุนเพื่อการศึกษามาใช้ และเตรียมพิจารณาขยายเวลาการลาคลอดจาก 90 วัน ต่อได้อีก 9 เดือน โดยมีเงื่อนไขไม่จ่ายเงินเดือนให้ แต่คงตำแหน่งงานเดิมไว้
นายวัฒนา เมืองสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวภายหลังเข้าพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือยุทธศาสตร์การพัฒนาเด็กปฐมวัย ( 0-6 ปี) ว่า ปัจจุบันผลการศึกษา พบว่า เด็กไทยมีไอคิวต่ำลงจนอยู่ในระดับที่ 88 ซึ่งน่าเป็นห่วง ทางกระทรวงจึงนำเสนอแผนงานการพัฒนาใน 3 ระดับ คือ ระดับการพัฒนาสังคมและการมีส่วนร่วม การให้ความรู้กับพ่อ-แม่ การพัฒนาสถานประกอบการเลี้ยงเด็กให้มีคุณภาพ การจัดห้องสมุดของเล่น
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีมีนโยบายให้ตั้ง 1 อำเภอ 1 ห้องสมุดของเล่น ซึ่งจะมีอยู่ประมาณ 900 กว่าแห่ง โดยห้องสมุดแต่ละแห่งจะมีของเล่นสำหรับเด็ก เวทีสำหรับพ่อ-แม่ ผู้ปกครอง และสโมสรของพ่อ-แม่ เนื่องจากปัจจุบันศูนย์เด็กเล็ก และสถานรับเลี้ยงเด็กมีไม่เพียงพอ และไม่มีคุณภาพ ส่วนใหญ่จัดให้กับลูกคนจน สิ่งสำคัญคือ พี่เลี้ยงไม่ได้คุณภาพ เพราะมีคุณสมบัติขั้นต่ำจบการศึกษาแค่ชั้นประถมศึกษาภาคบังคับ ค่าตอบแทนถูกมาก
“หลักสูตรการพัฒนาพี่เลี้ยงที่จะทำคู่ไปกับมหาวิทยาลัย โดยอาจส่งนิสิต นักศึกษา จากมหาวิทยาลัย มาฝึกสอนให้ และต่อไปสถานศึกษาจะเข้ามารับผิดชอบประเมินพี่เลี้ยง และสถานรับเลี้ยงเด็ก ถ้าไม่ได้คุณภาพ กระทรวงจะไม่ออกใบอนุญาตให้ แต่ถ้าได้คุณภาพ กระทรวงจะให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ทั้งเรื่องการจัดหาของเล่น การให้งบประมาณเพิ่มเติมเข้าไปช่วย เพราะถือเป็นการลงทุนภาครัฐ” นายวัฒนา กล่าว
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้ผู้เป็นแม่ลาคลอดได้เพิ่มจาก 90 วัน ซึ่งอาจจะให้ลาคลอดได้เพิ่มอีก 9 เดือน แต่ไม่มีการจ่ายเงินเดือน และยังได้สิทธิเข้ามาทำงานเหมือนเดิม ทั้งนี้ ข้อเสนอดังกล่าว สืบเนื่องมาจากผลการวิจัยว่า เด็กในช่วงวัย 8-12 เดือน เป็นช่วงที่ต้องการความใกล้ชิดจากพ่อ-แม่ โดยหลายประเทศจะอนุญาตให้ลาคลอดได้ โดย 3 เดือนแรก มีการจ่ายเงินเดือน และการลาต่อ 9 เดือน จะไม่มีการจ่ายเงินเดือน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นการลาดังกล่าวจะต้องมีเวลาในการศึกษา เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ แต่เรื่องการพัฒนาเด็กได้ข้อสรุปแล้ว โดยนายกรัฐมนตรีให้กลับไปทำแผนการใช้เงินสำหรับพัฒนาเด็กปฐมวัย ซึ่งโดยหลักการจะใช้เงินกองทุนเพื่อการศึกษาจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งเดิมได้จัดสรรเงินให้ประมาณปีละ 400,000 ทุน เป็นเงินประมาณ 4,000 ล้านบาท และจัดเพิ่มให้อีก 400,000 ทุน ในปีนี้ รวมเป็นเงิน 8,000 ล้านบาท ซึ่งทุกปีจะมีเด็กจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปีละร้อยละ 10 ยังมีเงินเหลืออยู่ และการที่นำเงินส่วนที่เหลือมาจัดให้กับเด็กปฐมวัย ก็จะไม่ขัดข้องกับเรื่องการใช้งบประมาณ โดยสามารถทำได้ทันที