xs
xsm
sm
md
lg

วัยกลางคน ผู้สูงอายุ หมั่นเดิน-วิ่ง ใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงกันอัลไซเมอร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แพทย์เตือนผู้ที่ชอบนั่งอยู่กับที่ให้เร่งออกกำลังกายไว้ตั้งแต่วัยกลางคน ไม่เว้นแม้กระทั่งผู้สูงอายุ ก็ให้หมั่นออกกำลังกาย สัปดาห์ละ 2 ครั้ง ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคอัลไซเมอร์ได้ถึงร้อยละ 60

นพ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ภาวะสมองเสื่อมในผู้สูงอายุเป็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และสังคม จากการศึกษาความชุกของกลุ่มอาการสมองเสื่อมในประชากรสูงอายุไทยของสถาบันวิจัยสาธารณสุขไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และสำนักนโยบายและแผนสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบว่าปัจจุบันมีความชุกประมาณร้อยละ 3.2 คิดเป็น 218,000 คน และยังหมายรวมถึงบุคคลในครอบครัวจำนวน 218,000 ครอบครัว ที่มีหน้าที่ต้องดูแลผู้ป่วยด้วย

นพ.ชาตรี กล่าวว่า ในอนาคตจะมีผู้สูงอายุที่มีปัญหาจากกลุ่มอาการสมองเสื่อมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นผู้สูงอายุเพศหญิงมากกว่าชายประมาณ 2 เท่า นอกจากนี้ ยังพบว่าความชุกของโรคดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นตามอายุที่สูงขึ้นด้วย โดยช่วงอายุระหว่าง 60-64 ปี พบร้อยละ 1 อายุ 65-69 ปี พบร้อยละ 2 และอายุ 70-74 ปี พบร้อยละ 5 เป็นต้น

ทั้งนี้ โรคสมองเสื่อมเกิดจากความผิดปกติทางสมองซึ่งมีผลต่อความจำ ความคิด เชาว์ปัญญา การใช้เหตุผลและการแก้ไขปัญหา โดยโรคสมองเสื่อมที่พบมากที่สุดคือ อัลไซเมอร์ เกิดจากการสะสมของโปรตีนชนิดหนึ่งในเซลล์ประสาท และ Amyloid plaques ในเนื้อสมองส่วนความจำ ทำให้เซลล์ตาย ไม่สามารถรับส่งกระแสประสาทได้ดังเดิม ปัจจัยที่เป็นเหตุส่งเสริม คือ อายุมากกว่า 65 ปี และพันธุกรรม เช่น มีบิดา มารดา ป่วยเป็นโรคนี้ ส่วนโรคสมองเสื่อมจากโรคหลอดเลือดสมองจะพบมากเป็นอันดับ 2 เกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดสมอง ซึ่งส่งผลให้เนื้อสมองตาย เช่น หลอดเลือดสมองตีบ มักพบในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยมีอาการแขนขาชาหรืออ่อนแรง เดินลำบาก เกร็ง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ร่วมด้วย นอกจากนี้ ภาวะสมองเสื่อมยังอาจเกิดได้จากการติดเชื้อในสมอง การขาดวิตามินบางชนิด เช่น วิตามินบี 1 หรือ วิตามินบี 12 การได้รับสารพิษบางชนิด และต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น

อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมที่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกได้รับการรักษาจากแพทย์ รวมทั้งการที่ผู้ป่วยและญาติได้รับคำปรึกษาจากบุคลากรทางการแพทย์ สามารถชะลอการดำเนินโรคให้ช้าลง ทำให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น และลดภาระของผู้ดูแลผู้ป่วยลงได้ ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่าการใช้ชีวิตกระฉับกระเฉงโดยการออกกำลังกายในช่วงวัยกลางคน เช่น การเดิน จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนฮิปโปแคมปัสเป็นการลดความเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม นอกจากนี้ การวิ่งและการปั่นจักรยาน นอกจากจะช่วยลด ควบคุมน้ำหนักตัว ยังทำให้หลอดเลือดหัวใจขยายตัวและร่างกายแข็งแรงขึ้น ช่วยลดความเสี่ยงจากโรคดังกล่าว โดยผู้ที่ออกกำลังกายอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง สามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคดังกล่าวได้ถึงร้อยละ 60 สำหรับผู้ที่สนใจในเรื่องเกี่ยวกับผู้สูงอายุสามารถเข้าชมได้ที่เว็บไซต์ของสถาบันเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข www.agingthai.org
กำลังโหลดความคิดเห็น