xs
xsm
sm
md
lg

กรมศิลปฯ ยันไม่รื้อย้ายหอประติมากรรมต้นแบบ ระบุข่าวคลาดเคลื่อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อธิบดีกรมศิลปากร โร่ชี้แจงต่อสื่อมวลชน ยืนยันไม่มีการรื้อย้ายหอประติมากรรมต้นแบบ ระบุเพียงแค่จะปรับปรุงเป็นห้องแสดงมัลติมีเดีย และจะทำความสะอาดรูปหล่อต้นแบบเท่านั้น ด้านอดีตคณบดีคณะจิตรกรรมฯ ม.ศิลปากร เสนอควรจัดทำหอฯแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์จะดีกว่า


จากกรณีที่มีกระแสข่าวว่ากรมศิลปากรจะรื้อย้ายหอประติมากรรมต้นแบบเพื่อปรับปรุงเป็นอาคารสำนักงานโดยนายอารักษ์ สังหิตกุล อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า ตนได้สั่งการให้เตรียมการปรับปรุงจริง แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อใช้ประโยชน์ในส่วนของห้องทำงานเดิมที่อาจารย์ประเวศ ลิมปรังษี เคยนั่งทำงานก่อนเกษียณอายุราชการและห้องว่างที่ติดกับห้องทำงานของกลุ่มพัฒนาระบบบริหารราชการ(กพร.) กรมศิลปฯซึ่งปัจจุบันได้ปิดตายไว้ทั้ง 2 ห้อง โดยการปรับปรุงครั้งนี้จะตกแต่ง ติดตั้งไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศ ส่วนห้องประชุมชั้นล่างจะปรับปรุงเป็นห้อง Multimedia แสดงเนื้อหาเกี่ยวกับกรรมวิธีการปั้นหล่อ กระบวนการปั้น งานปั้นหล่อ เป็นPresentation ภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณในการปรับปรุงครั้งนี้ประมาณ 5 ล้านบาท ทั้งนี้ได้มอบหมายให้สำนักสถาปัตยกรรมและหัตถศิลป์ดำเนินการออกแบบ จัดหาอุปกรณ์ รวมทั้งทำความสะอาดหุ่นต้นแบบที่มีจัดแสดงทั้งหมด เนื่องจากตั้งแสดงมานานบางชิ้นจึงมีฝุ่นเกาะหนา ดูไม่สวยงาม ส่วนห้องชั้นบนนั้นส่วนหนึ่งจะขยายห้องทำงานกพร.ให้กว้างขึ้น เนื่องจากมีเอกสารที่ต้องจัดเก็บเป็นจำนวนมาก

ผมยืนยันว่าไม่ได้มีการรื้อย้ายประติมากรรมสักชิ้นเดียวของอ.ศิลป์ พีระศรี ออกจากหอประติมากรรมต้นแบบ แต่อย่างใดซึ่งในสัญญาก็ไม่ได้มีข้อตกลงในเรื่องนี้ ขอชี้แจงเลยว่าข่าวที่ออกไปมีความคลาดเคลื่อน เอกสารที่ออกไปก็ไม่ใช่เอกสารเกี่ยวกับการรื้อย้าย เพราะหอแห่งนี้มีเจตนารมณ์ที่จะสร้างให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปะการปั้นหล่อ และผมก็จะยึดมั่นตามเจนารมย์นี้ต่อไป ” นายอารักษ์ กล่าว

นายพิษณุ ศุภนิมิตร อาจารย์ประจำคณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม กล่าวว่า หอประติมากรรมต้นแบบไม่ใช่มีความสำคัญในเรื่องสถานที่ที่เป็นแหล่งรวบรวมประวัติศาสตร์งานหล่อปั้น พระบรมรูปของรัชกาลต่างๆ และบุคคลอื่นๆที่มีความสำคัญต่อประเทศไทยเท่านั้น แต่หอแห่งนี้ยังมีความสำคัญต่อจิตใจของทุกคนโดยเฉพาะลูกศิษย์ของอาจารย์ศิลป์ ซึ่งเมื่อได้ฟังทางอธิบดีกรมศิลปฯชี้แจงก็มีความสบายใจ นอกจากนี้ถ้าเป็นไปได้ตนอยากให้มีการปรับหอแห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์ไปเลยจะดีกว่าซึ่งถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์มากๆ เพราะจุดนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะสมัยใหม่ในไทยที่มีอาจารย์ศิลป์เป็นผู้บุกเบิกที่นำวิทยาการสมัยใหม่ด้านศิลปะเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งถ้าหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ พม่า เขมร แล้วประเทศเหล่านี้ยังไม่มีผู้บุกเบิกวางรากฐานให้เหมือนที่ประเทศไทยเลย

นายพิษณุ กล่าวด้วยว่า หากเป็นไปได้ตนอยากให้มีนักวิทยาศาสตร์เข้ามาร่วมดูแลอนุรักษ์งานต้นแบบให้คงทนถาวร เพราะงานพวกนี้ย่อมมีเวลาย่อยสลายแต่หากมีนักวิทย์ฯเข้ามาดูก็จะช่วยทำให้งานต้นแบบเหล่านี้อยู่นานมากยิ่งขึ้น เพราะถ้าไม่มีนักวิทย์ฯเราก็ต้องจำลองงานต้นแบบมาเก็บไว้แทนตัวเดิมที่ต้องเสื่อมสลายไปตามอายุซึ่งงานต้นแบบเหล่านี้มีอายุประมาณ 40-50 ปี














กำลังโหลดความคิดเห็น