“หมอสุชัย” มอบนโยบายให้ทุกโรงพยาบาลเปิดบริการตรวจหามะเร็งปากมดลูกฟรี ให้ผู้หญิงที่มีอายุ 35-60 ปี และสตรีกลุ่มเสี่ยง ผู้มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย อีกทั้งมีคู่นอนหลายคน เพื่อนำมารักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ย้ำผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกเป็นอันดับ 1 พบผู้ป่วยรายใหม่วันละเกือบ 300 คน อยู่ระหว่างรักษาขณะนี้ 60,000 คน เริ่มตรวจพร้อมกันในเดือนสิงหาคม 2548 ตั้งเป้าลดอัตราป่วยและตายลงได้ร้อยละ 50
ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มอบนโยบายการควบคุมและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพของผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นักวิชาการจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 คน ที่โรงแรมวินด์เซอร์ กทม. โดยในปีงบประมาณ 2548 นี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดให้บริการตรวจคัดกรอง หรือที่เรียกว่า แป็ปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกแต่เนิ่นๆ บริการฟรีในสถานีอนามัยและที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศใน 75 จังหวัด และกทม. ตั้งเป้าตรวจในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี ปีละ 1 ครั้ง คืออายุ 35 ปี 40 ปี 45 ปี 50 ปี 55 ปี และ 60 ปี รวมจำนวน 1.5 ล้านคน ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนจะลดอัตราป่วยและอัตราตายจากมะเร็งปากมดลูกลงได้ร้อยละ 50 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2548 เป็นต้นไป
“ประเทศไทยมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับ 1 ปีละประมาณ 45,000 คน พบรายใหม่วันละ 274 คน มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด ส่วนในผู้หญิงจะป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 1 พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 45-50 ปี ในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในระยะลุกลาม ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวชนบท อัตราการอยู่รอด 5 ปี หลังป่วยแล้วประมาณร้อยละ 60 ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ต้องติดตามรักษาไม่น้อยกว่า 60,000 คนทั่วประเทศในขณะนี้ ส่วนในระดับโลกพบรายใหม่ปีละ 10 ล้านคน ตายปีละกว่า 6 ล้านคน องค์การอนามัยโลกคาดว่าในอีก 10 ปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มเป็นปีละ 16 ล้านคน” ศ.นพ.สุชัย กล่าว
ศ.นพ.สุชัยกล่าวด้วยว่า ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะให้สถานีอนามัยและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ให้อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง เป็นแกนรณรงค์ให้ผู้หญิงมีความรู้เรื่องโรคนี้ และให้ความสำคัญในการเข้ารับการตรวจค้นหามะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจภายในและตรวจหามะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หญิงที่มีคู่นอนหลายคน ผู้หญิงที่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย หรือผู้หญิงที่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารที่อยู่ในบุหรี่สามารถกระตุ้นเซลล์ที่ปากมดลูกแบ่งตัวผิดปกติได้ และมีการตรวจพบสารที่มีอยู่ในบุหรี่ในน้ำเมือกที่ปากมดลูก
น.พ.วิชัย เทียนถาวร ปลัด สธ. กล่าวว่า หากตรวจพบความปกติจะทำการรักษาให้ฟรี โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นแรกๆ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศปีละ 2,250 ล้านบาท โดยบริการจะจัดทั้งที่สถานบริการและบริการแบบเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งจะแก้ปัญหาผู้หญิงที่ยังอายหมอ ไม่กล้าไปตรวจที่สถานบริการได้ด้วย
น.พ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลราชิถี กล่าวว่า การทำแป็ปสเมียร์เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บ โดยใช้วิธีป้ายมูกที่ปากมดลูกไปตรวจเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีผลศึกษาวิจัยทั่วโลกว่าสามารถลดอัตราป่วยและตายจากมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าร้อยละ 90 เมื่อสถานพยาบาลต่างๆ ตรวจพบความผิดปกติจะเป็นผู้ส่งต่อคนไข้มารักษาที่สถานพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูงต่อไป
น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสหงอนไก่ หรือที่เรียกว่าไวรัสฮิวแมน แป็ปปิลโลมา (Human Pappilloma Virus :HPV) พบได้ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเชื้อนี้จะอยู่ที่ปลายอวัยวะเพศของผู้ชายที่มีหนังหุ้ม ในรายที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ ไวรัสตัวนี้ทำให้เยื่อบุปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงกลายเป็นมะเร็ง โดยในการตรวจหาความผิดปกติเซลล์ปากมดลูก กรมการแพทย์ได้ฝึกอบรมวิธีการตรวจให้โรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งแล้ว และทราบผลภายใน 15 วัน ผู้ที่พบความผิดปกติจะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ โดยหากเซลล์มะเร็งยังไม่การลุกลามก็สามารถรักษาโดยใช้วิธีจี้ด้วยความเย็น ซึ่งได้ผลดีสูงถึงร้อยละ 80-90 และทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล
สำหรับผู้หญิงที่มีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ ส่วนใหญ่จะยังไม่อาการแสดงใดๆ แต่สัญญาณเตือนภัยที่ต้องรีบพบแพทย์และตรวจหามะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีเลือดออกช่องคลอดกะปริบกะปรอย มีเลือดออกระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ การมีตกขาวออกผิดปกติ
ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) มอบนโยบายการควบคุมและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพของผู้หญิงไทยที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล นักวิชาการจากทั่วประเทศจำนวนกว่า 500 คน ที่โรงแรมวินด์เซอร์ กทม. โดยในปีงบประมาณ 2548 นี้ กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดให้บริการตรวจคัดกรอง หรือที่เรียกว่า แป็ปสเมียร์ (Pap smear) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของเซลล์มะเร็งที่ปากมดลูกแต่เนิ่นๆ บริการฟรีในสถานีอนามัยและที่โรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศใน 75 จังหวัด และกทม. ตั้งเป้าตรวจในกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ตรวจทุก 5 ปี ปีละ 1 ครั้ง คืออายุ 35 ปี 40 ปี 45 ปี 50 ปี 55 ปี และ 60 ปี รวมจำนวน 1.5 ล้านคน ซึ่งหากดำเนินการได้ครบถ้วนจะลดอัตราป่วยและอัตราตายจากมะเร็งปากมดลูกลงได้ร้อยละ 50 คาดว่าจะเริ่มดำเนินการพร้อมกันทั่วประเทศตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2548 เป็นต้นไป
“ประเทศไทยมีคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากเป็นอันดับ 1 ปีละประมาณ 45,000 คน พบรายใหม่วันละ 274 คน มะเร็งที่พบบ่อยที่สุดในผู้ชาย ได้แก่ มะเร็งตับ มะเร็งปอด ส่วนในผู้หญิงจะป่วยและเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับ 1 พบมากที่สุดในกลุ่มอายุ 45-50 ปี ในแต่ละปีพบผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 6,300 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยในระยะลุกลาม ซึ่งกว่าร้อยละ 80 เป็นชาวชนบท อัตราการอยู่รอด 5 ปี หลังป่วยแล้วประมาณร้อยละ 60 ทำให้มีผู้ป่วยสะสมทั้งรายใหม่และรายเก่าที่ต้องติดตามรักษาไม่น้อยกว่า 60,000 คนทั่วประเทศในขณะนี้ ส่วนในระดับโลกพบรายใหม่ปีละ 10 ล้านคน ตายปีละกว่า 6 ล้านคน องค์การอนามัยโลกคาดว่าในอีก 10 ปีทั่วโลกจะมีผู้ป่วยโรคมะเร็งรายใหม่เพิ่มเป็นปีละ 16 ล้านคน” ศ.นพ.สุชัย กล่าว
ศ.นพ.สุชัยกล่าวด้วยว่า ตามโครงการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจะให้สถานีอนามัยและโรงพยาบาลในสังกัดทุกแห่ง ให้อาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศ ซึ่งกว่าร้อยละ 90 เป็นผู้หญิง เป็นแกนรณรงค์ให้ผู้หญิงมีความรู้เรื่องโรคนี้ และให้ความสำคัญในการเข้ารับการตรวจค้นหามะเร็งปากมดลูกอย่างต่อเนื่อง ผู้หญิงที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไปควรตรวจภายในและตรวจหามะเร็งปากมดลูกปีละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ได้แก่ ผู้หญิงที่แต่งงานแล้ว หญิงที่มีคู่นอนหลายคน ผู้หญิงที่แต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย หรือผู้หญิงที่สูบบุหรี่ เนื่องจากสารที่อยู่ในบุหรี่สามารถกระตุ้นเซลล์ที่ปากมดลูกแบ่งตัวผิดปกติได้ และมีการตรวจพบสารที่มีอยู่ในบุหรี่ในน้ำเมือกที่ปากมดลูก
น.พ.วิชัย เทียนถาวร ปลัด สธ. กล่าวว่า หากตรวจพบความปกติจะทำการรักษาให้ฟรี โรคมะเร็งปากมดลูกสามารถรักษาให้หายขาดได้หากพบตั้งแต่ระยะเริ่มเป็นแรกๆ จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายโดยรวมของประเทศปีละ 2,250 ล้านบาท โดยบริการจะจัดทั้งที่สถานบริการและบริการแบบเคลื่อนที่เข้าไปในหมู่บ้าน ซึ่งจะแก้ปัญหาผู้หญิงที่ยังอายหมอ ไม่กล้าไปตรวจที่สถานบริการได้ด้วย
น.พ.วิสิทธิ์ สุภัครพงษ์กุล สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลราชิถี กล่าวว่า การทำแป็ปสเมียร์เป็นวิธีที่ไม่ยุ่งยาก ไม่เจ็บ โดยใช้วิธีป้ายมูกที่ปากมดลูกไปตรวจเซลล์มะเร็ง ซึ่งมีผลศึกษาวิจัยทั่วโลกว่าสามารถลดอัตราป่วยและตายจากมะเร็งปากมดลูกได้มากกว่าร้อยละ 90 เมื่อสถานพยาบาลต่างๆ ตรวจพบความผิดปกติจะเป็นผู้ส่งต่อคนไข้มารักษาที่สถานพยาบาลที่มีขีดความสามารถสูงต่อไป
น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมการแพทย์กล่าวว่า สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูกยังไม่ทราบแน่ชัด แต่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การติดเชื้อไวรัสหงอนไก่ หรือที่เรียกว่าไวรัสฮิวแมน แป็ปปิลโลมา (Human Pappilloma Virus :HPV) พบได้ประมาณร้อยละ 5 ซึ่งเชื้อนี้จะอยู่ที่ปลายอวัยวะเพศของผู้ชายที่มีหนังหุ้ม ในรายที่ทำความสะอาดไม่ดีพอ ไวรัสตัวนี้ทำให้เยื่อบุปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลงแบบค่อยเป็นค่อยไปใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงกลายเป็นมะเร็ง โดยในการตรวจหาความผิดปกติเซลล์ปากมดลูก กรมการแพทย์ได้ฝึกอบรมวิธีการตรวจให้โรงพยาบาลจังหวัดทุกแห่งแล้ว และทราบผลภายใน 15 วัน ผู้ที่พบความผิดปกติจะได้รับการตรวจรักษาจากแพทย์ โดยหากเซลล์มะเร็งยังไม่การลุกลามก็สามารถรักษาโดยใช้วิธีจี้ด้วยความเย็น ซึ่งได้ผลดีสูงถึงร้อยละ 80-90 และทำได้ที่แผนกผู้ป่วยนอก ไม่ต้องนอนค้างคืนที่โรงพยาบาล
สำหรับผู้หญิงที่มีเซลล์ปากมดลูกผิดปกติ ส่วนใหญ่จะยังไม่อาการแสดงใดๆ แต่สัญญาณเตือนภัยที่ต้องรีบพบแพทย์และตรวจหามะเร็งปากมดลูก ได้แก่ มีเลือดออกช่องคลอดกะปริบกะปรอย มีเลือดออกระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์ การมีตกขาวออกผิดปกติ