xs
xsm
sm
md
lg

แอดมิชชัน: ทางเลือกใหม่ในการสอบเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สิทธิ์ ธีรสรณ์
มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต

ในการสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาในยุคแรกๆ นั้น คณะกรรมการสอบคัดเลือกจะใช้คะแนนจากการสอบข้อสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย (Entrance Examination) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า “การสอบเอนทรานซ์” ในการพิจารณาคัดเลือกเด็กเข้าเรียนในคณะต่างๆ แต่เพียงอย่างเดียว

แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่านักวิชาการและผู้กำหนดนโยบายทางการศึกษาของชาติจะให้ความสำคัญกับการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้นทุกปี โดยผนวกเอาผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายของผู้สมัครเป็นปัจจัยในการพิจารณาด้วย

การคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาสำหรับปีหน้านี้ (2549) ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ได้ปรึกษาหารือกันเมื่อไม่นานมานี้ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมีมติให้ใช้องค์ประกอบดังต่อไปนี้ในกระบวนการคัดเลือกเด็กเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

1.คะแนนเฉลี่ยระดับมัธยมปลาย ในสัดส่วน 10%

2.คะแนนรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ ในสัดส่วน 40%

3.คะแนนจากข้อสอบระดับชาติ (ซึ่งอาจรวมวิชาเฉพาะด้วย)ในสัดส่วน 50%

ประการที่ 1 และ 2 ข้างต้นนั้นได้จากการเรียนในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาของผู้สมัครสอบ จะเห็นได้ว่าเมื่อรวมทั้งสองเข้าด้วยกันจะได้สัดส่วนครึ่งหนึ่งเลยของคะแนนทั้งหมด

ข้อสอบการศึกษาระดับชาติ (National Educational Test หรือ NET) ในประการที่ 3 เป็นข้อสอบมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งออกโดยสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ข้อสอบการศึกษาระดับชาตินี้เปรียบได้กับข้อสอบเอนทรานซ์ในอดีตนั่นเอง ซึ่งประกอบด้วยวิชาหลักๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสังคมศึกษา และอาจรวมถึงวิชาความถนัดหรือเฉพาะทางหรือไม่แล้วแต่คณะ/สาขาที่เด็กสมัครจะกำหนด

ภายใต้ระบบการสอบคัดเลือกแบบใหม่นี้ การสอบเอนทรานซ์มีน้ำหนักลดลง เหลือเพียงครึ่งหนึ่ง (50%) ต่างจากในอดีตที่การสอบเอนทรานซ์เป็นสัดส่วนเต็มพิกัด 100%

เนื่องจากระบบใหม่ใช้คะแนนมัธยมฯ ปลายกึ่งหนึ่งของทั้งหมด สิ่งหนึ่งที่อาจเป็นจุดอ่อนคือ การสร้างมาตรฐานในการเรียนการสอนในระดับมัธยมศึกษา จะทำอย่างไรเพื่อให้แน่ใจว่า โรงเรียนต่างๆ จะมีการสอนและการสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน ถึงแม้ว่าแต่ละโรงเรียนใช้ข้อสอบคนละชุดกันเพราะต่างคนต่างสร้างข้อสอบกันเอง ระดับคะแนนจากโรงเรียนหนึ่งจะเทียบกับระดับคะแนนจากอีกโรงเรียนหนึ่งอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงเรียนแข็งและโรงเรียนอ่อน

ส่วนในแง่ดีก็คือ ด้วยสัดส่วนคะแนนจากมัธยมศึกษาตอนปลายที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อนๆ ระบบการคัดเลือกแบบใหม่นี้จึงทำให้เด็กให้ความสำคัญกับการเรียนในห้องเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากขึ้นกว่าเดิมมากทีเดียว เพราะตนก็ต้องการคะแนนไปแข่งขันกับผู้อื่นในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยเมื่อเรียนจบม.6

ในระบบเก่า เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายมักไม่สนใจเรียนในชั้น แต่จะยอมเสียเงินไปติวข้างนอกอย่างเอาเป็นเอาตายในวันหยุดและช่วงเย็น เพื่อหวังสอบเทียบ โดยไม่ต้องเรียนม.6 แล้วก็สอบเข้ามหาวิทยาลัยในที่สุด ปัจจุบัน เมื่อระบบสอบเทียบม.6 ใช้กับเด็กมัธยมฯ ในระบบสามัญศึกษาไม่ได้ และการที่ต้องใช้คะแนนมัธยมศึกษาตอนปลายในการสอบเข้ามหาวิทยาลัย ทำให้เด็กมัธยมศึกษาตอนปลายจำต้องตั้งหน้าตั้งตาเรียนจนสำเร็จหลักสูตรมัธยมศึกษาตามปกติ สิ่งนี้ประโยชน์แก่ตัวนักเรียนเอง เพราะเป็นการเตรียมความพร้อมด้านพุทธิปัญญา และวุฒิภาวะเพื่อก้าวเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาอย่างหนักแน่น ไม่กระท่อนกระแท่น

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือทบวงมหาวิทยาลัย (ในอดีต) ควรสำรวจความคิดของนักเรียนมัธยมฯ ปลายด้วย และมองปัญหาจากมุมมองของเด็ก แต่ไม่ว่ากฎเกณฑ์จะออกมาอย่างไร ควรให้ดำรงเช่นนั้นช่วงระยะเวลาที่นานพอที่จะเกิดความคงที่สม่ำเสมอ ที่ผ่านมา เด็กมัธยมฯ ปลายเมื่อถึงคราวตนต้องสอบจะต้องพะว้าพะวง เพราะกฎเกณฑ์เปลี่ยนมากน้อยแทบทุกปี

และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อนักเรียนที่เรียนอยู่ ทางการควรเริ่มบังคับโดยบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 3 ปี คือเพื่อให้เด็กสามารถเตรียมตัวตั้งแต่เริ่มเรียนในระดับม. 4 การที่มาเพิ่งรู้ตอนม. 6 อาจจะไม่ทันได้ตั้งตัวตั้งใจในการทำคะแนนตั้งแต่ ม. 4 ทำให้เสียเปรียบ
ระบบสอบคัดเลือกเข้าเรียนต่อระดับอุดมศึกษาเป็นนโยบายการศึกษาระดับชาติที่การเลือกอาชีพของเด็กในอีกสี่ปีข้างหน้าเมื่อจบมหาวิทยาลัย จำต้องทำให้มีความแน่นอน ชัดเจนและเป็นธรรม
กำลังโหลดความคิดเห็น