xs
xsm
sm
md
lg

โรงเรียนขนาดเล็กรูปแบบใหม่ พลิกโฉมหน้าสถานศึกษาภูธร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ในช่วงที่ ดร.อดิศัย โพธารามิก รมว.ศึกษาธิการคนล่าสุด เข้ารับตำแหน่งเสนาบดีวังจันทรเกษมหมาดๆ ได้เดินทางออกตรวจเยี่ยมโรงเรียนต่างๆ หลายแห่งด้วยกัน ซึ่ง ดร.อดิศัยได้ให้ความสนใจกับโรงเรียนขนาดเล็กมากเป็นพิเศษ เนื่องจากพบว่ามีปัญหาหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาคารเรียนที่เก่าชำรุดทรุดโทรม สื่อการเรียนการสอนไม่เพียงพอ และเด็กนักเรียนส่วนใหญ่มีฐานะยากจน

โครงการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กรูปแบบใหม่จึงเกิดขึ้น โดยกำหนดนโยบายให้มีการพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กแบบครบวงจร ทั้งเรื่องอาคารสถานที่ สื่อการเรียนการสอนและทัศนียภาพสิ่งแวดล้อมภายในโรงเรียน และเมื่อวันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา โรงเรียนขนาดเล็กรูปแบบใหม่แห่งแรกก็ได้ฤกษ์เปิดใช้อย่างเป็นทางการ ที่โรงเรียนหนองหญ้าปล้อง อ.บรบือ จ.มหาสารคาม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามหาสารคาม เขต 2

สำหรับนโยบายพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็กนั้น กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ได้คัดเลือกโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อพัฒนาเป็นต้นแบบ จำนวน 11 โรง โดยให้ก่อสร้างอาคารเรียนที่มีห้องเรียนครบทุกชั้น มีห้องคอมพิวเตอร์ ห้องปฏิบัติการทางภาษา ห้องสมุด ห้องประชุม ห้องพยาบาล ห้องพักครู และห้องน้ำในอาคารช่วยอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่นักเรียน

โรงเรียนหนองหญ้าปล้อง เป็น 1 ในโรงเรียนขนาดเล็กที่ได้รับคัดเลือกให้ก่อสร้างอาคารเรียนรูปแบบใหม่ ทดแทนอาคารเรียนหลังเดิมที่ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2515 ซึ่งมีสภาพทรุดโทรมมาก หลังคารั่ว เสา ฝาผนังและกระดาน พื้น ถูกปลวกกัดกินเกือบหมดทั้งหลัง รวมทั้งไม่มีโรงอาหารและห้องน้ำอยู่ในสภาพทรุดโทรม ห่างไกลจากอาคารเรียน ซึ่งไม่ปลอดภัยสำหรับนักเรียน โดยอาคารเรียนหลังใหม่นั้น ได้จัดทำห้องน้ำสำหรับเด็กเล็ก ใช้โถส้วมสำหรับเด็ก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับบรรดานักเรียนอนุบาลด้วย

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับสร้างอาคารเรียนขนาดเล็กรูปแบบใหม่ จำนวน 7,087,100 บาท โดยให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียน ซึ่งวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามรับเป็นผู้ก่อสร้างโรงเรียนหนองหญ้าปล้องและใช้เวลาในก่อสร้างแล้วเสร็จด้วยระยะเวลา 120 วันเท่านั้น ส่วนการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณโรงเรียนหนองหญ้าปล้อง วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีมหาสารคาม รับทำการปรับปรุงให้ทั้งหมด

บัณฑิต สมจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคาม ในฐานะดูแลการก่อสร้างอาคารเรียนฯ เปิดเผยว่า วิทยาลัยฯ เทคนิคเป็นผู้รับเหมาจาก สพฐ. โดยให้นักศึกษาสาขาช่างก่อสร้าง ช่างเชื่อมและช่างไฟฟ้า จำนวน 80 คน มาทำงานงานร่วมกับครู อาจารย์ในสถาบันและช่างฝีมืออาชีพ ซึ่งเป็นการฝึกความชำนาญและประสบการณ์ให้กับนักศึกษาด้วย โดยมีอาหารเลี้ยงนักศึกษา 3 มื้อ แต่ไม่มีเบี้ยเลี้ยงให้

“ปัญหาคือแบบแปลนที่วิศวกรออกแบบมาให้ สอศ.ก่อสร้างนั้น มีการประเมินราคาวัสดุไว้ต่ำกว่าราคาในท้องตลาดมาก บางรายการต่ำกว่าถึง 3-4 เท่า ทำให้งบประมาณที่ได้มาเพียงพอแค่ก่อสร้างอาคารเรียนเท่านั้น แต่ไม่เพียงพอสำหรับการจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ เช่น คอมพิวเตอร์ ซึ่งเกรงว่าจะเป็นปัญหาสำหรับการก่อสร้างโรงเรียนขนาดเล็กแห่งอื่นๆ เช่นกัน”

นอกจากอาคารเรียนที่เป็นฝีมือนักศึกษาแล้ว อาจารย์บัณฑิต ยังนำเสนอกระดานดำรูปแบบใหม่ที่เป็นการคิดค้นและพัฒนาของนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคมหาสารคามด้วยความภาคภูมิใจ ซึ่งกระดานดำดังกล่าวสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มพื้นที่ แบ่งออกเป็น 3 ชั้น ชั้นแรก เป็นกระดานไวท์บอร์ด 2 บาน ที่สามารถเปิดออกได้เหมือนหน้าต่าง และใช้พื้นที่ได้ทั้งหน้า-หลัง หรือจะให้นักเรียนใช้ในการจัดบอร์ดก็ได้ ชั้น 2 จะเป็นกระดานสไลด์ และชั้นที่ 3 เป็นไวท์บอร์ดยาวเต็มเนื้อที่

“ที่พัฒนากระดานนี้ขึ้นมา เพราะเราเห็นว่ากระดานดำที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเมื่อเขียนเต็มพื้นที่แล้วก็ต้องลบ บางครั้งเด็กตามไม่ทันจะมาดูซ้ำก็ทำไม่ได้ เราเลยทำกระดานออกมาให้มีพื้นที่ใช้สอยเพิ่มมากขึ้น สามารถเก็บข้อมูลเก่าไว้ได้ ภายในเนื้อที่กระดานดำเท่าเดิม โดยใช้งบประมาณ 7,000 บาท ”

หลังจากได้อาคารเรียนหลังใหม่แล้ว อาจารย์นิยม สิทธิวงศ์ ครูประจำชั้นนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 1 เปิดเผยว่า เด็กๆ อยากมาเรียนหนังสือทุกวันและไม่มีใครอยากขาดเรียนเลยหากไม่จำเป็น รวมทั้งไม่เกี่ยงงอนในการทำความสะอาดห้องเรียนด้วย ขณะที่พ่อแม่ ผู้ปกครองคนในชุมชนต่างก็รู้สึกว่า โรงเรียนเป็นของเขา ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่จะทำให้ชุมชนเข้ามาช่วยในการดูแลโรงเรียน

ปัญหาของโรงเรียนขนาดเล็กรูปแบบใหม่ที่น่าเป็นห่วง ก็คงจะอยู่ที่การดูแล บำรุงรักษาต่อจากนี้ไป เพราะครุภัณฑ์ที่นำไปไว้ในโรงเรียนบางอย่าง ไม่นับรวมการดูแลรักษาอาคารเรียน จำเป็นต้องมีผู้เชี่ยวชาญและวิธีการดูแลที่ถูกวิธี ไม่เช่นนั้นก็อาจจะใช้งานได้ไม่กี่ปี เสียดายงบประมาณที่ทุ่มลงไป
กำลังโหลดความคิดเห็น