นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียน อันวาร์ อิบราฮิม ที่มีเพื่อนรักอย่าง ทักษิณ ชินวัตร เป็นที่ปรึกษา สวมบทม้าอารี เรียกร้องผู้นำไทยและกัมพูชาถอนทหาร เจรจาสันติภาพ ยุติความขัดแย้งตามแนวชายแดน ลั่นสันติภาพเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ ขณะที่สถานทูตมาเลเซียในไทยเผย ชาวมาเลเซีย 3 คนในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงยังปลอดภัย
วันนี้ (24 ก.ค.) สำนักข่าวแห่งชาติมาเลเซีย เบอร์นามา (BERNAMA) รายงานว่า นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียน ปี 2025 กล่าวถึงการปะทะกันระหว่างทหารไทยกับทหารกัมพูชา แสดงความคาดหวังว่าไทยและกัมพูชาจะยุติการสู้รบตามแนวชายแดน และเข้าสู่กระบวนการเจรจาสันติภาพในเร็วๆ นี้ โดยหวังว่าจะได้พูดคุยกับผู้นำของทั้งสองประเทศในช่วงบ่ายของวันนี้ เพื่อรับฟังและแสดงความคิดเห็นจากพวกเขา
ทั้งนี้ พวกเขาเป็นสมาชิกสำคัญของอาเซียน มีความใกล้ชิดกับมาเลเซียมาก และได้ส่งข้อความถึงนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ อย่างน้อยที่สุด คาดหวังว่าทั้งสองประเทศจะถอนกำลัง และหวังว่าพวกเขาจะพยายามเข้าสู่การเจรจา ซึ่งพวกเขาพยายามแล้ว แต่ตนเห็นว่าสันติภาพเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่
นายอันวาร์กล่าวว่า แม้ว่าก่อนหน้านี้จะหารือเบื้องต้นกับ พล.อ.ฮุนมาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีของไทย ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวไปเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ยังกระตือรือร้นที่จะหารือกับทั้งสองประเทศอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ในฐานะประธานอาเซียนปี 2025 มองว่ายังเร็วเกินไปที่จะหารือถึงผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างมาเลเซียกับทั้งสองประเทศ โดยเห็นว่าเป็นเพียงเรื่องชั่วคราว ทั้งสองฝ่ายต่างยึดถือผลประโยชน์ของประเทศตนเองเป็นหลัก ทั้งสองฝ่ายต้องการแก้ไขความขัดแย้งอย่างสันติ และทั้งสองฝ่ายต้องการให้อาเซียนมีส่วนร่วม และจะทำเช่นนั้นแน่นอน
ด้านสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทยแนะนำให้ชาวมาเลเซียหลีกเลี่ยงพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา โดยนายบง ยิก จุย (Bonh Yik Jui) อุปทูตรักษาการมาเลเซียประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยังไม่มีรายงานชาวมาเลเซียได้รับบาดเจ็บหรือผลกระทบจากการยิงตอบโต้กัน ซึ่งล้วนอยู่ในเขตชายแดนที่มีจุดตรวจ และนักปั่นจักรยานหรือผู้ที่เดินทางด้วยคาราวานบางคนอาจเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้โดยไม่ได้ตั้งใจ
โดยพบว่ามีชาวมาเลเซีย 3 ราย ลงทะเบียนแล้วอาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดที่มีการรายงาน หลังจากสถานทูตติดต่อแล้ว ทั้งสามคนยืนยันว่าปลอดภัยดี และยังไม่ได้ขอรับความช่วยเหลือใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งตนเรียกร้องให้ชาวมาเลเซียที่ได้รับผลกระทบลงทะเบียนกับสถานทูต เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาได้รับการแจ้งข่าวสารล่าสุดและการช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน หากชาวมาเลเซียต้องการความช่วยเหลือได้เปิดสายด่วนของสถานทูต +6687 028 4659 โดยสถานทูตฯ จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และจะแจ้งข่าวสารล่าสุดเมื่อจำเป็น
สำนักข่าวเบอร์นามายังรายงานอีกด้วยว่า ทหารไทยและกัมพูชาปะทะกันในช่วงเช้าวันพฤหัสบดี (24 ก.ค.) ในพื้นที่พิพาทตามแนวชายแดน โดยทั้งสองฝ่ายกล่าวหาซึ่งกันและกันว่าเป็นฝ่ายเริ่มการเผชิญหน้าครั้งล่าสุด ความตึงเครียดทั้งสองประเทศเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. หลังเกิดการปะทะกันบริเวณชายแดนใกล้ปราสาทพระวิหาร ทำให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 นาย
ทั้งนี้ ประเทศเพื่อนบ้านทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทเรื่องเขตแดนที่ยังไม่กำหนด ความยาว 817 กิโลเมตรหลายทศวรรษ ส่งผลให้ความสัมพันธ์ทางการทูตเสื่อมถอยอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันพุธ (23 ก.ค.) รัฐบาลไทยลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับกัมพูชาเพื่อตอบโต้ทันที หลังทหารไทยได้รับบาดเจ็บจากการเหยียบกับระเบิด ที่รัฐบาลอ้างว่าเป็นทุ่นระเบิดที่เพิ่งวางใหม่ รัฐบาลกัมพูชาตอบโต้ด้วยการลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยลงสู่ระดับต่ำสุดในวันนี้
รายงานข่าวเพิ่มเติมจาก MGR Online ระบุว่า นายอันวาร์ประกาศแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ระหว่างที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนประเทศมาเลเซีย ต่อมาวันที่ 26 ธ.ค. 2567 นายทักษิณได้พบกับนายอันวาร์บนเรือยอชต์กลางทะเลระหว่างแนวเขตประเทศไทย จ.สตูล กับรัฐเคดะห์ ประเทศมาเลเซีย และเคยใช้เป็นหนึ่งเหตุผลในการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งศาลอาญาเคยอนุญาตให้นายทักษิณเดินทางไปยังประเทศมาเลเซียมาแล้ว 2 ครั้ง โดยให้วางหลักประกัน 5 ล้านบาท และเมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ให้มารายงานตัวภายใน 3 วัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) เคยยื่นหนังสือถึงนายอันวาร์ ผ่านสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 พ.ค. เรียกร้องให้ทบทวนการแต่งตั้งนายทักษิณเป็นที่ปรึกษาส่วนตัวประธานอาเซียน เนื่องจากเป็นจำเลยคดีความผิดอาญา มาตรา 112 และเคยถูกจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชันเมื่อครั้งเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกสังคมตั้งคำถามกับสิ่งที่นายทักษิณอ้างว่าป่วยวิกฤตและไม่เข้าเรือนจำแม้แต่วันเดียว และศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำลังไต่สวนข้อเท็จจริง เกรงว่าจะกลายเป็นเงื่อนไขใช้เป็นข้ออ้างในการเดินทางออกนอกประเทศของนายทักษิณ แล้วไม่กลับมาสู่การพิสูจน์ความจริงเหมือนที่นายทักษิณเคยกระทำมาแล้ว