ไม่ว่าบทสรุปของบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นอย่างไร คงได้รู้กันไม่ช้า เพราะตอนนี้รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เพื่อศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ได้ผ่านความเห็นชอบจากสภาไปแล้ว และถูกส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรีเพื่อหาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป ซึ่งสำหรับประชาชนคนไทย กระบวนการเหล่านี้มันช่างยาวนานนัก เพราะมาตรการที่ยังไม่ชัดเจน ทำให้เยาวชนยังสามารถเข้าถึงและได้รับผลกระทบจากพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง!
จากกระแสข่าวที่ผ่านมาเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีต่อสุขภาพของเยาวชน สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเข้าถึงเยาวชนได้ง่ายเพราะขาดการควบคุมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะช่องทางการซื้อขายจากระบบออนไลน์ อีกทั้งรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่ยากต่อการตรวจจับ เพราะมองผิวเผินเหมือนเป็นของเล่นชนิดหนึ่ง ขณะที่เยาวชนบางส่วนมีทัศนคติเชิงบวกต่อบุหรี่ไฟฟ้า เพราะสร้างความสนุกสนาน เข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการขาดความเข้าใจในพิษภัยที่แฝงมากับบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว และต้องการมาตรการในการควบคุมดูแลผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ให้เข้าถึงเยาวชนบุตรหลานของตน
ที่ผ่านมาประเทศไทยซึ่งแบนบุหรี่ไฟฟ้ามาตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และเป็นหนึ่งใน 42 ประเทศทั่วโลกที่แบนการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า มักจะชูประเด็นความสำเร็จของการแบนบุหรี่ไฟฟ้าว่าจะช่วยป้องกันเยาวชนและการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องไปประชุมระดับโลก เช่น การประชุมกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก แต่ทั้งหมดนั้นเป็นเพียง “ภาพลวงตา” ที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริงในสังคมที่บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดอย่างรุนแรง มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 1 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กอายุระหว่าง 13-15 ปีมีการใช้เพิ่มขึ้นเป็น 17.6% ในปี 2565 จาก 3.35% ในปี 2558 และในกรุงเทพฯ มีการใช้สูงถึง 32.3% ในกลุ่มเยาวชน
รายงานที่ศึกษาโดย กมธ.วิเคราะห์ผลกระทบจากบุหรี่ไฟฟ้าที่นำเสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สรุปเป็นแนวทางการศึกษาได้ 3 แนวทาง ได้แก่ แนวทางที่ 1 การแบน 100% ถือว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ห้ามการผลิต นำเข้า จำหน่าย และครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า แนวทางที่ 2 การควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products: HTPs) เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย มีการควบคุมมาตรฐานและความปลอดภัยอย่างเข้มงวด เป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ และแนวทางที่ 3 การให้บุหรี่ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน (Heated Tobacco Products) เป็นสิ่งที่ถูกควบคุมตามกฎหมาย รัฐสามารถจัดเก็บภาษีและควบคุมมาตรฐานได้ แต่ก็ต้องมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงของเด็กและเยาวชน
ที่ประชุมรัฐสภาได้ร่วมอภิปรายจากทั้ง 3 แนวทาง พบว่าแนวทางแบนบุหรี่ไฟฟ้า 100% อาจทำได้ง่าย เพราะมีบทลงโทษชัดเจน เน้นการป้องปราม แต่เป็นการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดจริงหรือไม่? การผลิต จำหน่าย และครอบครองอย่างผิดกฎหมาย อาจก่อให้เกิดอาชญกรรมที่รุนแรงขึ้นได้ เช่น การค้ามนุษย์ ที่มาจากการใช้แรงผิดกฎหมาย สินค้าหนีภาษี รัฐต้องใช้งบประมาณและทรัพยากรในการปราบเป็นจำนวนมาก เป็นต้น การควบคุมด้วยการแบน 100% ไม่อาจการันตีได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าจะมีจำนวนลดลง หรือลดโอกาสทางเข้าถึงของเยาวชนได้จริง
ขณะที่แนวทางการควบคุมตามกฎหมาย โดยรัฐสามารถจัดเก็บภาษีและควบคุมมาตรฐานได้นั้นน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมกับบริบทในปัจจุบันมากกว่า แต่ต้องมีมาตรการป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน โดยสร้างความตระหนักรู้ถึงพิษภัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเยาวชน มีการควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม จะช่วยลดการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในหมู่เยาวชนได้
สิ้นปีนี้จะมีการจัดประชุมกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลกอีกครั้ง หากตัวแทนประเทศไทยที่จะเข้าประชุมในครั้งนี้จะได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะจากรายงานฉบับนี้ไปกำหนดท่าทีของประเทศไทยที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมขององค์การอนามัยโลกก็น่าจะเป็นที่ยอมรับได้ว่าประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการทบทวนและหานโยบายที่เหมาะสม เพราะไทยคงไม่สามารถพูดได้อีกต่อไปว่ามาตรการห้ามบุหรี่ไฟฟ้าของไทยประสบความสำเร็จ แถมน่าจะเป็นที่อับอายไปทั่วโลกถ้าเห็นตัวเลขการเติบโตของผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย มาตรการนี้ที่ได้รับการสนับสนุนโดย WHO คงไม่ใช่ความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศ
ดังนั้น การแบน 100% อาจไม่ใช่ทางออกของการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง และมีมาตรการที่เข้มงวด ไม่ให้เยาวชนเข้าถึงได้นั้นยั่งยืนมากกว่า เหมือนดังเช่นการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่ในปัจจุบัน ที่มีมาตรการควบคุมป้องกันการเข้าถึงของเยาวชนอย่างเข้มงวดชัดเจน ลดจำนวนผู้สูบหน้าใหม่ และรัฐยังสามารถจัดเก็บภาษีได้อย่างเต็มที่อีกด้วย