หลักสูตร Super LBA รุ่นที่ 2 โดยคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จัดการเรียนการสอนใน Module 2 ภายใต้หัวข้อ "กฎหมายที่จำเป็นสำหรับขั้นตอนการประกอบธุรกิจ" ณ ห้องประชุม ดร.ไสว สุทธิพิทักษ์ อนุสรณ์ (อาคาร 6 ชั้น 7) เมื่อวันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการนำเสนอเนื้อหาด้านกฎหมายและกลยุทธ์การบริหารธุรกิจที่จำเป็น พร้อมกับยกระดับความรู้และศักยภาพของบุคลากรในภาคธุรกิจของประเทศให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดตั้งและประกอบธุรกิจ กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา และการบริหารการศึกษาในยุค 4.0
โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิและผู้เชี่ยวชาญแนวหน้าของประเทศ ได้แก่ ศาสตราจารย์ สหธน รัตนไพจิตร ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ดร.สัตยะพล สัจจเดชะ ทนายความและกรรมการผู้จัดการ บริษัท สัตยะพล แอนด์ พาร์ทเนอร์ส จำกัด, คุณกฤษณะ มิ่งทองคำ เลขาธิการสมาคมทรัพย์สินทางปัญญาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ พินิจ ทิพย์มณี ผู้อำนวยการบัณฑิตศึกษาสาขานิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และวิทยากรรับเชิญพิเศษ ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จากมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มาร่วมแบ่งปันความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์
การบรรยายเริ่มต้นด้วย “กฎหมายการจัดตั้งบริษัท: ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ - พระราชบัญญัติบริษัทมหาชนฯ” ที่เน้นถึงความเสียเปรียบของผู้ถือหุ้นส่วนน้อย ซึ่งในอดีตมักเผชิญข้อจำกัดทางกฎหมายเมื่อต้องต่อสู้กับฝ่ายผู้ถือหุ้นเสียงข้างมาก ซึ่งผู้ถือหุ้นส่วนน้อยมักจะขาดเครื่องมือปกป้องสิทธิและไม่สามารถฟ้องร้องได้หากถูกละเมิดโดยไม่สุจริต ทำให้การคุ้มครองสิทธิขาดความเท่าเทียมในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายได้เปิดช่องให้ผู้ถือหุ้นส่วนน้อยสามารถฟ้องร้องได้เมื่อมีการดำเนินการที่ไม่สุจริต ซึ่งถือเป็นพัฒนาการสำคัญในการคุ้มครองสิทธิอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมในบริบทการดำเนินธุรกิจสมัยใหม่
ต่อด้วยการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมการตั้งแต่เริ่มจัดตั้งบริษัท เช่น การเขียนข้อบังคับให้ชัดเจนตั้งแต่ต้น เพื่อวางรากฐานการคุ้มครองสิทธิของผู้ถือหุ้นทุกฝ่าย, การกำหนดมติพิเศษสำหรับการตัดสินใจในเรื่องสำคัญ และการใช้กลไกเสียงข้างมากพิเศษ (Super Majority) เพื่อป้องกันผลกระทบจากการรวมเสียงของฝ่ายข้างมาก นอกจากนี้ข้อตกลงผู้ถือหุ้น (Shareholders’ Agreement) ยังถูกนำเสนอเป็นเครื่องมือเสริม กรณีที่ไม่สามารถวางข้อกำหนดไว้ในข้อบังคับ เพื่อความยืดหยุ่นและการคุ้มครองที่ครอบคลุมยิ่งขึ้น
ขณะที่ประเด็นเกี่ยวกับการบริหารงานของกรรมการนั้นได้รับการสื่อสารอย่างชัดเจน โดยระบุว่าการทำงานต้องอยู่ในกรอบวัตถุประสงค์ของบริษัทและข้อบังคับอย่างเคร่งครัด พร้อมยึดหลักปฏิบัติตามหลักตัวการตัวแทน เพื่อหลีกเลี่ยงความขัดแย้งทางผลประโยชน์และรักษาผลประโยชน์สูงสุดของบริษัท ทั้งนี้ยังมีการยกกรณีศึกษาจริงมาใช้ประกอบ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถนำหลักการไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในสถานการณ์ธุรกิจจริงที่หลากหลายและซับซ้อน
สำหรับในช่วงต่อมาเป็นหัวข้อ “การพัฒนาแบรนด์เนมและการสร้างสรรค์นวัตกรรม : กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา” นำเสนอมิติที่หลากหลายของทรัพย์สินทางปัญญาในภาคธุรกิจ โดยเริ่มจากความหมายหลักว่า “การนำปัญญามาก่อให้เกิดทรัพย์สิน” ซึ่งสะท้อนถึงการเปลี่ยนแนวคิดจากสินค้าที่จับต้องได้ไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าทางจิตวิญญาณและนวัตกรรม ประเภทของทรัพย์สินทางปัญญาที่มีบทบาทสำคัญในโลกธุรกิจ ได้แก่ เครื่องหมายการค้า (Trademark) ลิขสิทธิ์ (Copyright) และสิทธิบัตร (Patent) โดยแต่ละประเภทมีเงื่อนไขและอายุความคุ้มครองที่แตกต่างกันตามกฎหมายไทยและหลักสากล
สำหรับการจดทะเบียน “เครื่องหมายการค้า” ประเทศไทยยึดหลัก “ยื่นก่อน มีสิทธิดีกว่า” คุ้มครองนาน 10 ปีและต่ออายุได้ไม่จำกัด ผู้ประกอบการจึงควรให้ความสำคัญกับการจดทะเบียนก่อนใครเพื่อรักษาความได้เปรียบ เครื่องหมายการค้าต้องมี "ลักษณะบ่งเฉพาะ" ไม่ใช่คำทั่วไปหรือคำบรรยายสินค้า เว้นแต่จะพิสูจน์การใช้แพร่หลายจนเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง (เช่น กรณี "รสดี") วิทยากรได้กล่าวถึงการใช้สัญลักษณ์ ® โดยที่เครื่องหมายการค้านั้นยังไม่ได้จดทะเบียน ถือเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
ด้านลิขสิทธิ์นั้นเกิดขึ้นทันทีโดยไม่ต้องจดทะเบียน และมักใช้สัญลักษณ์ © กำกับเพื่อแสดงความเป็นเจ้าของสิทธิ ซึ่งคุ้มครองตลอดชีวิตของผู้สร้างสรรค์บวกอีก 50 ปีนับแต่ผู้สร้างสรรค์ถึงแก่ความตาย เพื่อส่งเสริมการสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง ส่วนสิทธิบัตรมีข้อกำหนดที่เข้มงวดด้านความใหม่ (ต้องใหม่ทั่วโลก) ความสามารถในการผลิตในอุตสาหกรรม และกระบวนการสร้างที่ต้องมีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น โดยสิทธิบัตรการประดิษฐ์คุ้มครอง 20 ปี และการออกแบบผลิตภัณฑ์ 10 ปี ดังนั้นหากคิดค้นผลิตภัณฑ์ได้ “ควรยื่นจดทะเบียนสิทธิบัตรก่อนนำออกจำหน่ายหรือเผยแพร่” เพื่อไม่ให้ขาดคุณสมบัติ "ความใหม่" และรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
สำหรับ Special Talk by Special Guest: จัดการเชิงกลยุทธ์ในยุคดิจิทัลให้ประสบความสำเร็จ: ประสบการณ์จริงในการบริหารสถาบันการศึกษา ถือเป็นไฮไลต์สำคัญของวันนี้โดย ดร.ดาริกา ลัทธพิพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ในฐานะรุ่นพี่ Super LBA รุ่นที่ 1 ได้แบ่งปันประสบการณ์และความท้าทายในการบริหารสถาบันการศึกษา รวมถึงภาพรวมของการศึกษาไทยและแนวโน้มการศึกษาในอนาคต โดยมุ่งเน้นไปที่ "โอกาสและความท้าทายของการศึกษาไทย"
ดร.ดาริกาชี้ว่า ประเทศไทยประสบความสำเร็จในการขยายโอกาสทางการศึกษาในระดับอนุบาลและประถมศึกษา โดยมีอัตราการเข้าเรียนสูงถึง 95-99% และอัตราการรู้หนังสือสูงถึง 99% อย่างไรก็ตามแม้จะมีอัตราการรู้หนังสือสูง แต่ข้อมูลระบุว่า 67.7% ของคนไทยไม่สามารถอ่านและเข้าใจข้อความสั้นๆ เพื่อแก้ปัญหาง่ายๆ ได้ และ 74.1% มีทักษะด้านดิจิทัลต่ำกว่าเกณฑ์
สอดคล้องกับผลการประเมิน PISA ในปี 2022 คะแนนของไทยส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม "Low Performers" หรือมีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ 400 คะแนน ปัญหาหลักเกิดจากหลักสูตรที่ยังไม่นิ่ง ระบบการคัดเลือกครูที่ไม่เหมาะสม และปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ขาดแคลนครูและงบประมาณ การควบรวมโรงเรียนจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทย และเป็น "ก้อนหินก้อนใหญ่" ที่ต้องแก้ไขเป็นอันดับแรก เพื่อจัดโครงสร้างการศึกษาให้เหมาะสม
“เพื่อจัดโครงสร้างให้มีประสิทธิภาพและจัดการทรัพยากรทั้งครูและงบประมาณ ได้อย่างเหมาะสม เพราะหากไม่ทำเช่นนี้ การแก้ไขปัญหาอื่นๆ จะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยเปล่าประโยชน์ เหมือนละลายแม่น้ำ การควบรวมโรงเรียน หรือมีกระบวนการจัดกลุ่มโรงเรียนเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดโครงสร้างและจัดการทรัพยากร ทั้งครูและงบประมาณให้เหมาะสม” ดร.ดาริกาย้ำ
ข้อมูลจาก World Bank ยังเคยทำการวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าหากบริหารจัดการแบบเครือข่ายจะสามารถลดจำนวนโรงเรียนลงได้ครึ่งหนึ่ง และลดความต้องการครูจาก 540,000 คน เหลือ 300,000 คน ซึ่งน่าจะทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตามการขับเคลื่อนนโยบายนี้ในระดับปฏิบัติยังทำได้ยาก เนื่องจากความท้าทายในแต่ละพื้นที่และประเด็นทางการเมือง
ในส่วนของการศึกษาระดับอุดมศึกษาของไทยอัตราการเข้าเรียนยังคงที่อยู่ที่ 46% มาเป็นเวลา 20 ปี ในขณะที่ทั่วโลกมีอัตราการเข้าเรียนที่สูงขึ้นอย่างมหาศาล โดยเฉพาะในเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งความต้องการของนักศึกษาทั่วโลกไม่ได้มุ่งเน้นที่มหาวิทยาลัยชั้นนำที่เน้นงานวิจัยเชิงลึกเท่านั้น แต่ต้องการ "Career aligned program" และ "Skill based learning" ที่ช่วยให้สามารถทำงานได้ทันทีหลังเรียนจบ รวมถึง "micro-credentials" ที่เป็นโมดูลย่อยๆ ที่สอดคล้องกับโลกการทำงาน
ดร.ดาริกายังกล่าวถึงแนวโน้มของโลกที่มุ่งสู่ Education 4.0 ซึ่งเน้นการเรียนรู้แบบหลากหลายสาขาวิชา (multidisciplinary), มีความยืดหยุ่น (flexible) และการเรียนรู้ตลอดชีวิต (lifelong learning) เพื่อผลิต "เถ้าแก่" หรือคนที่มีความรู้รอบด้าน แต่การรื้อระบบเดิมเพื่อไปสู่ Education 4.0 นั้นเป็นเรื่องยากมาก และอาจไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ในอีก 10-20 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ ในช่วงท้ายได้มีการแลกเปลี่ยนกันถึงผลกระทบจาก AI ซึ่งกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่า “อีก 6 ปีข้างหน้า AI จะเก่งเป็นล้านเท่า” การเปลี่ยนแปลงในระดับนี้ทำให้ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเน้นว่าผู้เรียนควรได้รับการส่งเสริมให้ใช้ AI Tools อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์ ซึ่งถือเป็นหัวใจในการเตรียมพร้อมสู่อนาคตที่ไม่แน่นอนแต่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว