โลกออนไลน์กำลังปั่นป่วนจากกระแสแชร์โพสต์เตือนภัย "สึนามิยักษ์" ที่อ้างว่าจะถล่มไทยในเดือนกรกฎาคม 2568 โดยระบุวัน เวลา สถานที่ และความเสียหายอย่างละเอียด โพสต์ดังกล่าวถูกแชร์ไปแล้วกว่า 3 พันครั้ง วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อ รอข้อเท็จจริงจากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ
วันนี้ (30 มิ.ย.) ผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความแจ้งเตือนสึนามิยักษ์ โดยได้ระบุข้อความว่า
สึนามิยักษ์ ในเดือน ก.ค จะมา 5 ก.ค. 68 เวลาตี 4-5 จะโดนเฉพาะภาคใต้เท่านั้น ได้แก่ ชุมพร นราธิวาส คลื่นจะสูง 200 m จะมา 9 วัน จะมาทั้งสองฝั่ง ฝั่งอันดามัน และฝั่งอ่าวไทย ใครที่อยู่ติดทะเล หรืออยู่บนพื้นที่ราบ ไม่รอดค่ะ
ประเทศที่จะโดนแน่ๆ คือ ญี่ปุ่น > ไต้หวัน > ฮ่องกง > มาเก๊า > ฟิลิปปินส์ > อินโดฯ > สิงคโปร์ > มาเลย์ > ไทย
ฝ่ายมืดเขากำหนดเวลาให้มาตอนดึกๆ เพื่อคนจะได้ตายแบบไม่ทรมาน ไม่ต้องกลัวหรอกค่ะ เพราะจะไม่รู้สึกอะไรเลย ถ้าใครกลัวตายมาก ก็ย้ายไปอยู่ที่อื่นก่อน ตลอดเดือน ก.ค.-ส.ค. 68
ส่วนภาคอื่นๆ ใจเย็นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ราบ จะโดนน้ำท่วม 2-3 m ทุกตารางนิ้วภายในปี 2025 แน่นอน อ่วมไม่แพ้กัน คิดดูว่าปี 2026 ก็จะหนักกว่านี้ 10 เท่า บอกละเอียดมากแล้ว ไม่ต้องถามอะไรกันอีกแล้วนะคะ นุดขี้เกียจมาคอยตอบทีละคนค่ะ
ทั้งนี้ โพสต์ดังกล่าวมียอดแชร์ออกไปแล้วกว่า 3 พันครั้ง อย่างไรก็ตาม ข้อความดังกล่าวมีข้อสังเกตที่แสดงว่าเป็นข่าวปลอม เช่น
ความไม่สมเหตุสมผลของข้อมูล
การที่คลื่นสึนามิสูงถึง 200 เมตร และกินเวลานาน 9 วัน รวมถึงระบุถึง "ฝ่ายมืด" เป็นผู้กำหนดเวลา เป็นข้อมูลที่ไม่มีหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ และเป็นไปไม่ได้ตามธรรมชาติ
การอ้างอิงพื้นที่กว้างขวางเกินจริง
การระบุว่าสึนามิจะเกิดขึ้นทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามันพร้อมกัน รวมถึงประเทศในภูมิภาคทั้งหมดในลักษณะที่ขาดความแม่นยำทางภูมิศาสตร์ แสดงให้เห็นถึงการขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับกลไกการเกิดสึนามิ
การสร้างความตื่นตระหนก
ข้อความมีเจตนาสร้างความหวาดกลัวและทำให้ประชาชนเข้าใจผิด โดยเฉพาะการแนะนำให้ผู้คนอพยพหรืออ้างว่า "จะไม่รู้สึกอะไรเลย" ซึ่งเป็นการกระตุ้นอารมณ์มากกว่าให้ข้อมูลที่ถูกต้อง
การคาดการณ์น้ำท่วมทั่วประเทศ
การระบุว่าภาคอื่นๆ โดยเฉพาะพื้นที่ราบ จะโดนน้ำท่วม 2-3 เมตร ในปี 2568 และจะหนักกว่าเดิม 10 เท่าในปี 2569 ก็เป็นข้อมูลที่ไร้เหตุผลและมีเจตนาบิดเบือน
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและงดส่งต่อข้อมูลดังกล่าวในทุกช่องทาง หากได้รับข้อมูลที่น่าสงสัยเกี่ยวกับภัยพิบัติ ขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากแหล่งข้อมูลทางการที่น่าเชื่อถือเท่านั้น เช่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา หรือหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของข่าวปลอมและลดความตื่นตระหนกที่ไม่จำเป็น