xs
xsm
sm
md
lg

"สมชัย" แนะนักการเมือง เลิกแค่ประณาม "ม็อบกวักมือเรียกทหาร" ถึงเวลาใช้กลไก ปชต.พิสูจน์ตัวเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ฟาดนักการเมืองแรง! ชี้แค่ปากเปล่าต่อต้านรัฐประหารไม่พอ ต้องใช้กลไกประชาธิปไตยแก้ปัญหาจริงจัง หลังม็อบ "จุดติด" กลายเป็นประเด็นร้อน ชี้ให้เห็นหลายกรณีที่นักการเมืองมีโอกาสใช้กลไกแต่กลับไม่ทำ จนน่าสงสัยว่า "ปฏิญญาฮ่องกง" มีอยู่จริงหรือไม่

วันนี้ (30 มิ.ย.) สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกมาโพสต์ข้อความวิเคราะห์ประเด็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีการชุมนุมที่ถูกมองว่า “กวักมือเรียกรัฐประหาร” จากการปราศรัยของนายสนธิ ลิ้มทองกุล ทำให้พรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนออกโรงประณามการกระทำดังกล่าว โดยอดีต กกต.รายนี้ได้ระบุข้อความว่า

"นอกจากปากที่กล่าวว่าต่อต้านรัฐประหาร นักการเมืองต้องช่วยกันใช้กลไกในระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมืองด้วย

ม็อบจุดติด กลายเป็นม็อบติดไฟที่โดนฝ่ายการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชนรุมประณามว่ากวักมือเรียกรัฐประหารจากคำอภิปรายบนเวทีของสนธิ ลิ้มทองกุล

การยืนหยัดในหลักการไม่เอารัฐประหารเป็นสิ่งที่ต้องชื่นชม เพราะ 9 ปีหลังรัฐประหาร ฝ่ายทหารที่ยึดอำนาจไม่ได้พิสูจน์ว่าเข้ามาแก้ไขปัญหา หนำซ้ำยังร่วมมือกับนักการเมืองที่ส่วนหนึ่งเป็นรัฐบาลในปัจจุบันทำให้ประเทศหยุดนิ่งและถอยหลัง

แต่นักการเมืองที่ปากประณามรัฐประหาร ต้องเชื่อมั่น ศรัทธา และทุ่มเทใช้กลไกทุกอย่างในระบอบประชาธิปไตยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วย

1. เมื่อเคยอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีแพทองธาร เมื่อเดือนมีนาคม 2568 ว่ามีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ กรณีใช้ตั๋วสัญญา PN แบบไม่ระบุวันคืน ไม่มีดอกเบี้ยกับคนในครอบครัวเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีมากกว่า 200 ล้านบาท แม้ลงมติแพ้ในสภา ก็สมควรใช้กลไกยื่น ป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยต่อว่านายกฯ ขาดคุณสมบัติเรื่องความซื่อสัตย์หรือไม่ แต่ท่าน (พรรคประชาชน) ไม่ทำ

2. เมื่อมีการเผยแพร่คลิปเสียงการสนทนาระหว่าง แพทองธารกับฮุนเซ็น มีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะสมกับการเป็นผู้นำประเทศ เช่น การว่าร้ายแม่ทัพภาคที่ 2 การเสนอว่าอีกฝ่ายอยากได้อะไรให้บอก เมื่อผิดพลาดควรแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก แต่ท่าน (แพทองธาร) ไม่ทำ

3. เมื่อจะจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่ หลังจากพรรคภูมิใจไทยถอนตัว โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ท่านมีโอกาสถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ท่าน (พรรคร่วมรัฐบาล) ไม่ทำ

4. เมื่อพรรคภูมิใจไทยพยายามใช้ช่องทางการอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาฯ แต่เสียงไม่พอเพราะต้องมีเสียง ส.ส.ลงชื่อ 99 เสียง ท่าน (พรรคประชาชน) ไม่ทำ โดยอ้างว่า ไม่ควรทำพร่ำเพรื่อ

5. ไม่อยากให้ประชาชนเขาลงถนน เกรงว่าจะเป็นการกวักมือเรียกทหารมายึดอำนาจ ฝ่ายการเมืองต้องแสดงให้เห็นว่า ท่านใช้กลไกทางการเมืองอย่างเต็มที่ในการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ซูเอี๋ย หรือแผ่นเสียงตกร่องว่าให้ยุบสภาอย่างเดียว หรือ จะให้เชื่อว่าปฏิญญาฮ่องกงมีจริง"
กำลังโหลดความคิดเห็น