นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (บกปภ.ช.) เพื่อติดตามสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่ม จากอิทธิพลของพายุ “วิภา” และการให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้การอำนวยการ สั่งการ และการประสานการปฏิบัติในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ทั่วถึง สามารถลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยที่อาจจะเกิดขึ้นให้น้อยที่สุด โดยมี นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งร่วมประชุมผ่านระบบออนไลน์จากกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ณ จังหวัดเชียงใหม่ ผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการพยากรณ์ ด้านการบริหารจัดการน้ำ ด้านการแจ้งเตือนภัย ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวม 22 จังหวัด พร้อมหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ผู้บริหารกระทรวงมหาดไทย เข้าร่วมประชุมฯ ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์
นายภูมิธรรม กล่าวว่า กระทรวงมหาดไทยให้ความสำคัญกับการเฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ การแจ้งเตือนภัย รวมถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยมาโดยตลอด โดยเฉพาะอิทธิพลจากพายุโซนร้อนวิภาส่งผลกระทบในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ซึ่งตนได้มีความห่วงใยพี่น้องประชาชนในพื้นที่เสี่ยงที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยดังกล่าวจึงได้สั่งการให้บูรณาการทุกหน่วยงานและติดตามสถานการณ์ผลกระทบของพายุวิภาอย่างใกล้ชิด
“การบริหารจัดการสาธารณภัยในครั้งนี้ หน่วยงานทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่างมีความพร้อมในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และให้ความช่วยเหลือประชาชนจากเหตุสาธารณภัยอย่างเต็มที่และรวดเร็ว ถือว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้รับทราบว่า ปภ. ได้มีการปรับปรุงการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cell Broadcast) ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และได้มีการนำเอาเครื่องมือเครื่องจักรกลสาธารณภัยขนาดใหญ่ไปติดตั้งไว้ในจุดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งหน่วยราชการทุกหน่วยงานและผู้ว่าราชการจังหวัดที่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัย ให้ดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และรับมือสาธารณภัย ตลอด 24 ชั่วโมง ขอขอบคุณทุกหน่วยงานที่ได้มีการตื่นตัวและร่วมมือร่วมใจกันเป็นอย่างดี หากเกิดสถานการณ์ภัยขึ้นในพื้นที่จะสามารถทำให้ความเสียหายลดน้อยลง และเป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก สาธารณภัยไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะเมื่อเกิดเหตุแล้วมีแต่ความเสียหายในเรื่องต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก หากพี่น้องประชาชนได้รับการป้องกัน แก้ไขปัญหา และได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐอย่างรวดเร็วถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนได้ถูกขจัดไปได้ในระดับหนึ่ง ขอขอบคุณและให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่และดำเนินการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่“ นายภูมิธรรม มท.1 กล่าว
นางสาวธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แม้ว่าขณะนี้พายุวิภาจะอ่อนกำลังลงเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำแล้ว แต่ก็ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด พร้อมกำชับให้ผู้ว่าราชการจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงกัยเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้นไว้ล่วงหน้า โดยเน้นย้ำให้เฝ้าระวัง ตรวจสอบพื้นที่เสี่ยง โดยเฉพาะพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำหรือพื้นที่เขตเศรษฐกิจที่ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ โดยนำเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้า รวมถึงเร่งตรวจสอบซ่อมแซมแนวคันดินริมแม่น้ำ กำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ ปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้แหล่งกักเก็บน้ำให้เหมาะสม และเตรียมพร้อมด้านบุคลากร เครื่องจักรกล และระบบสื่อสาร เพื่อการแจ้งเตือนประชาชนได้ทันท่วงที และเพื่อเป็นการป้องกัน เตรียมความพร้อมและให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างมีเอกภาพ รวดเร็ว และทันต่อสถานการณ์ และขับเคลื่อนการปฏิบัติตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงขอเน้นย้ำให้ทุกจังหวัดให้ความช่วยเหลือ โดยยึดหลักการรักษาชีวิตของประชาชนเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก รวมถึงคำนึงถึงความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเป็นสำคัญ การเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร พื้นที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำ พื้นที่เสี่ยงภัยดินถล่ม หากมีฝนตกหนักฝนตกสะสมหรือฝนตกกระหน่ำ (Rain Bomb) ให้แจ้งเตือนประชาชนทราบสถานการณ์และความเสี่ยงอันตราย และหากประเมินสถานการณ์ในพื้นที่และมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดอันตรายต่อชีวิตให้เร่งอพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยไปยังพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรักษาชีวิตของประชาชนให้มีความปลอดภัยสูงสุด รวมถึงบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามแผนเผชิญเหตุ โดยจัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด อำเภอ ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินท้องถิ่น เพื่อควบคุม สั่งการ และอำนวยการหลักในการระดมกำลัง ตลอดจนประสานการปฎิบัติระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และแบ่งมอบภารกิจในพื้นที่อย่างชัดเจนเพื่อป้องกันการสับสนในการเข้าปฏิบัติงาน สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในเบื้องต้น ให้ดูแลด้านการดำรงชีพ จัดตั้งโรงครัวเพื่อประกอบอาหารช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ได้คุณภาพ การแจกจ่ายถุงยังชีพ การดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจ การดูแลด้านความสงบเรียบร้อย รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการคมนาคม ปิดเส้นทางคมนาคมที่มีน้ำท่วมขังที่เป็นอันตรายต่อการสัญจร และตรวจสอบจุดเสี่ยงอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว หากมีความเสี่ยงที่จะเป็นอันตรายให้รีบตัดกระแสไฟฟ้าทันที เมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจความเสียหายและผลกระทบที่เกิดขึ้นให้ครอบคลุมทุกด้าน และพิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว โดยเฉพาะกรณีการช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ ขอให้เร่งรัดการดำเนินการให้ความช่วยเหลือเป็นลำดับแรก เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ครอบครัวผู้ประสบภัย นอกจากนี้ ให้ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัดรายงานสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่ม ผลกระทบและการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย ให้กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติทราบ เพื่อเป็นประโยชน์ในการสั่งการและประสานการปฎิบัติในส่วนที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประชาชนผู้ประสบภัยได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที
“จังหวัดที่มีจุดเสี่ยงอุทกภัยและดินถล่ม จำเป็นที่จะต้องมีการอพยพประชาชนออกจากบ้านเรือนประชาชนไปยังจุดปลอดภัย ให้เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบถึงสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ และขอให้ประชาชนมีความเข้าใจและยอมอพยพออกจากบ้านเรือนมาพักอาศัยในศูนย์พักพิงเพื่อความปลอดภัยในชีวิตเป็นสำคัญ รวมถึงขอให้ทุกจังหวัดดูแลและอำนวยความสะดวกในการอพยพและดูแลความเป็นอยู่ของประชาชนในศูนย์พักพิงเป็นอย่างดี ให้ประชาชนมีความสบายเหมือนกับอยู่ที่บ้านมากที่สุดและมีความพึงพอใจสูงสุด ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำในลำน้ำสายต่าง ๆ ที่กำลังจะล้นตลิ่ง ให้บูรณาการสรรพกำลังและเครื่องจักรสาธารณภัยจากทุกหน่วยงานเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่โดยเร็ว พร้อมเร่งวางแผนการบริหารจัดการน้ำ เพื่อป้องกันน้ำเข้าท่วมเขตพื้นที่เศรษฐกิจและโบราณสถานสำคัญในพื้นที่ หากจังหวัดและหน่วยงานในพื้นที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม ให้แจ้งมาที่กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ เพื่อจะได้ประสานให้การช่วยเหลือ และบริหารจัดการเครื่องมือเครื่องจักรกลต่าง ๆ เข้าไปช่วยสมทบเพิ่มเติมในพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที” นางสาวธีรรัตน์ มท.2 กล่าว
ขณะที่ นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วนเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัย และดินถล่ม รวมถึงติดตามสถานการณ์และผลกระทบจากอิทธิพลของพายุวิภา โดยร่วมกับกรมอุตุนิยมวิทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องในการเตรียมการขั้นสูงสุดโดยเน้นการทำงานเชิงรุกมาตั้งแต่ช่วงก่อนที่พายุจะเข้า โดยจัดตั้ง War room เพื่อติดตามสถานการณ์พายุวิภา และเริ่มเปิดปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2568 และยังคงเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเชื่อมโยงการทำงาน ประเมินสถานการณ์ และประสานการปฎิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้จัดตั้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (ส่วนหน้า) ณ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามสถานการณ์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจังหวัดเสี่ยงที่ได้รับผลกระทบจากพายุวิภา และยังคงปักหลักอยู่ในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้เน้นย้ำให้จังหวัดเตรียมความพร้อม 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะศูนย์บัญชาการเหตุการณ์จังหวัด ให้เตรียมรับการประสานงานจากส่วนกลาง รวมถึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก
“สำหรับการเตรียมความพร้อมเครื่องจักรกลสาธารณภัย ปภ. ได้ระดมเครื่องจักรกลสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตนอกพื้นที่ เข้าสนับสนุนการปฏฺบัติในพื้นที่ภาคเหนือ โดยติดตั้งเครื่องจักรในพื้นที่เสี่ยงไว้ล่วงหน้าเรียบร้อยแล้ว อีกทั้งส่งเฮลิคอปเตอร์ KA-32 พร้อมเจ้าหน้าที่ The Guardian Team ไปประจำ ณ ฐานการบินจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเตรียมพร้อมออกปฏิบัติการช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะพื้นที่ที่เข้าถึงยาก รวมถึงได้มีการประสานการปฏิบัติกับจังหวัด โดยได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยและดินถล่มไว้เป็นการล่วงหน้า เน้นย้ำให้ความสำคัญการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน การดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุ การเตรียมศูนย์พักพิงชั่วคราว และการเตรียมการดูแลด้านการดำรงชีพ จัดเตรียมบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข การบริหารจัดการน้ำให้คำนึงถึงผลกระทบกับประชาชนให้มีน้อยที่สุด และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายกลับเข้าสู่สภาวะปกติ ให้เร่งดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องโดยเร็ว ” นายภาสกร อธิบดี ปภ.กล่าว
ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยติดตามพยากรณ์อากาศ ข้อมูลข่าวสาร และการแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างใกล้ชิด หากมีประกาศหรือคำเตือนขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด หากพบเห็นหรือได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์ภัย สามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือได้ทาง Line Official Account “ปภ.รับแจ้งเหตุ 1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM และทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป