ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2568 จะยังขยายตัวใกล้เคียงมุมมองเดิมที่ 1.5% แม้ในกรณีที่ไทยเจรจาสหรัฐฯ ขอลดภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ลงได้บ้างภายในวันที่ 1 สิงหาคม 2568 แต่อัตราภาษีไทยสูงกว่าคู่แข่งหลัก ส่วนหนึ่งเพราะมีการเร่ง Front-loading สินค้าส่งออกก่อนสหรัฐฯ จะเริ่มเก็บภาษีนำเข้าสูงไว้แล้ว แต่ในช่วงครึ่งปีหลัง การส่งออกจะได้รับผลกระทบรุนแรงขึ้นจาก Reciprocal tariffs ไทยที่อาจสูงกว่าคู่แข่งในตลาดสหรัฐฯ ในปัจจุบันพบว่า กำแพงภาษีสหรัฐฯ รายสินค้าเริ่มส่งผลลบต่อคู่ค้าที่เน้นส่งออกสินค้าที่ถูกเก็บ Specific tariffs แล้ว
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2569 จะขยายตัวต่ำลงมาก โดยคาดว่าจะเหลือเพียง 1.2% จากการส่งออก และลงทุนภาคเอกชน ที่จะหดตัวมากขึ้นจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อเนื่องไปถึงปี 2569 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยเผชิญความเสี่ยงจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯ ให้คู่แข่งที่ถูกเก็บภาษีตอบโต้ต่ำกว่า โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีแนวโน้มจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดให้คู่แข่งในอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้
นอกจากนี้ ไทยอาจเผชิญความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีสินค้าสวมสิทธิ เช่นเดียวกับเวียดนาม ซึ่งจะยิ่งเพิ่มต้นทุนการค้า รวมถึงสินค้าไทยอาจต้องเผชิญมาตรการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าของสหรัฐฯ ที่เข้มงวดขึ้น กระทบการส่งออกสินค้าไทยที่มีสัดส่วนการนำเข้า (Import content) สูงเพิ่มเติมอีกด้วย
SCB EIC ระบุว่า สำหรับกรณีเลวร้าย (Worse case) หากไทยเจรจาไม่สำเร็จ โดยสหรัฐฯ เก็บภาษีตอบโต้ไทยในอัตรา 36% เท่าเดิม เริ่มตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2568 แต่คู่แข่งสำคัญในตลาดสหรัฐฯ เช่น เวียดนาม เสียภาษีตอบโต้ในอัตราต่ำกว่ามากอยู่ที่ 20% นั้น SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตเหลือเพียง 1.1% ในปีนี้ และขยายตัวต่ำลงมากเหลือเพียง 0.4% ในปี 2569 จากการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่จะหดตัวมากต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์ระบุด้วยว่า ในระยะต่อไป ต้องจับตาข้อเสนอใหม่ของไทย ในการเจรจาการค้ากับสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน รัฐบาลยังคงพิจารณาการเปิดตลาดเสรีตามข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาคเกษตร เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการ
โดย SCB EIC ประเมินว่า อุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ โดยเฉพาะสุกร ไก่เนื้อ และข้าวโพด จัดอยู่ในกลุ่มที่มีความอ่อนไหวสูง หากไทยต้องเปิดตลาดเสรีให้สินค้าสหรัฐฯ เนื่องจาก
1. ต้นทุนการผลิตของไทยสูงกว่าสหรัฐฯ (รวมค่าขนส่งมาไทย) ค่อนข้างมาก
2. ปัจจุบัน ไทยพึ่งพาผลผลิตในประเทศเป็นหลัก หากจะต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้น ภาครัฐจะต้องพิจารณาประเด็นความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างสมดุล
3. ผู้ผลิตและผู้เล่นที่เกี่ยวข้องในห่วงโซ่การผลิตในประเทศ อาจได้รับผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีต้นทุนผลิตสูงกว่า
ดังนั้น หากไทยจะเปิดเสรีสินค้าเกษตรกับสหรัฐฯ ภาครัฐจะต้องเตรียมมาตรการรองรับ เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ และช่วยให้สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม
SCB EIC ยังชี้ว่า นอกจากผลการเจรจาต่อรองการค้ากับสหรัฐฯ ที่ยังไม่แน่นอน เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ จะมีแรงกดดันเพิ่มเติม จากหลายปัจจัย คือ
1. การท่องเที่ยวไทยยังเผชิญปัจจัยเสี่ยงสูง แม้นักท่องเที่ยวจีนจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเล็กน้อย แต่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนจากกำแพงภาษีของสหรัฐฯ อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายท่องเที่ยวในระยะข้างหน้า
2. ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา ที่จะกระทบเศรษฐกิจไทยได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของมาตรการตอบโต้ระหว่างกัน
3. ความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่อาจกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณในปี 2568-2569
สำหรับมุมมองเศรษฐกิจโลกในปี 2569 ปรับดีขึ้นบ้าง หลังสหรัฐฯ เลื่อนเก็บภาษีตอบโต้เป็น 1 สิงหาคม 2568 และการเจรจากับประเทศคู่ค้ามีความคืบหน้ามากขึ้น แต่ผลของกำแพงภาษีสหรัฐฯ จะชัดเจนมากขึ้นหลังเดือนสิงหาคม และจะกดดันเศรษฐกิจโลกต่อเนื่องไปถึงปี 2569
โดยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ พบว่า เครื่องชี้กิจกรรมเศรษฐกิจของโลก ยังขยายตัวได้ดีจากการเร่งผลิตเพื่อส่งออก เช่น เศรษฐกิจจีน ขยายตัวได้ดีกว่าคาดในไตรมาส 2 อยู่ที่ 5.2%YOY ส่วนหนึ่งจากการส่งออกที่ยังขยายตัวดี โดยเฉพาะในตลาดอาเซียนและยุโรป อย่างไรก็ดี การนำเข้าของสหรัฐฯ ในไตรมาส 2 เริ่มลดลงต่ำกว่าเทรนด์ปกติ หลังเร่งนำเข้าล่วงหน้า (Front-load) ไปมากตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 4/67 ต่อเนื่องมาถึงไตรมาส 1 ปีนี้
ล่าสุด สหรัฐฯ เจรจาประเทศต่างๆ คืบหน้ามากขึ้น โดยเฉพาะหลังประธานาธิบดีทรัมป์ ส่งจดหมายถึงคู่ค้าหลักกลุ่มแรกๆ แจ้งอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่จะเริ่มเก็บตั้งแต่ 1 สิงหาคม 2568 พร้อมกับเร่งให้คู่ค้ายื่นข้อเสนอที่ดี และเป็นประโยชน์ต่อสหรัฐฯ มากขึ้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังขู่จะเริ่มเก็บภาษีรายสินค้า (Specific tariffs) เพิ่มอีกหลายรายการ เช่น ทองแดง ยา และเซมิคอนดักเตอร์ ภายในปีนี้
อย่างไรก็ดี นโยบายการเงินโลกยังมีแนวโน้มผ่อนคลายในปีนี้ แต่ความเสี่ยงจากสงครามการค้า จะมีผลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า เช่น ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังไม่เร่งปรับลดดอกเบี้ยในไตรมาส 3/68 เนื่องจากตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และผลกระทบกำแพงภาษีต่อเงินเฟ้อยังไม่ชัดเจน ขณะที่ญี่ปุ่นมีแนวโน้มคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ จากผลกำแพงภาษีที่อาจกระทบค่าจ้างและชะลอวัฏจักรเชิงบวกของเงินเฟ้อ
"จากสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป SCB EIC ประเมินว่ามีโอกาสมากขึ้น ที่จะเห็นที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า ที่จะแย่ลงกว่าที่ กนง. เคยประเมินไว้ แต่หากการเจรจากับสหรัฐฯ ไม่สำเร็จหรือเกิดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เพิ่มเติม เศรษฐกิจไทยจะยิ่งเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำสูงขึ้น อาจมีโอกาสเห็น กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่า 2 ครั้งในปีนี้" บทวิเคราะห์ ระบุ