พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวภายหลังประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 กรณีความผิดฐานฟอกเงินของบุคคลหรือคณะบุคคลที่เกี่ยวกับการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) รวมถึงผู้ที่เป็นสมาชิกอั้งยี่และผู้สนับสนุน หรือคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน สว. ว่า วันนี้เป็นการประชุมร่วมของคณะพนักงานสอบสวน และได้เชิญนายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. ในฐานะผู้แทนสำนักงาน ปปง. ประชุมร่วมกับพนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวน ติดตามความคืบหน้าเรื่องการสอบสวนพยาน รวมทั้งสอบถามในส่วนของข้อกฎหมายการฟอกเงินซึ่งได้รับความมั่นใจจาก ปปง. ว่ากรณีดังกล่าว พฤติกรรมของการเตรียมเงินและจ่ายเงินให้กับหัวคะแนนหรือโหวตเตอร์ที่ไปสนับสนุนการกระทำความผิดในครั้งนี้ จะถือเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามนิยามของกฎหมาย ปปง. หรือไม่ ซึ่งเราก็ได้ความชัดเจนตรงนี้
นอกจากนี้ ในการสอบถามเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐาน พบว่ามีการจ่ายเงินในหลายพื้นที่ และการสอบสวนเท่าที่ได้รับฟังก็พบความชัดเจนมากขึ้น รับฟังได้ว่ามีมูลในการกระทำความผิดตามที่มีการกล่าวหาเกิดขึ้น ทั้งอั้งยี่และการฟอกเงิน รวมถึงที่ประชุมมีการกำหนดสอบพยานอีกส่วนหนึ่ง เพื่อที่จะพิจารณาเรียกผู้ถูกกล่าวหามารับทราบข้อกล่าวหาในโอกาสต่อไป ทั้งนี้ การสอบสวนในตอนนี้มีความคืบหน้าแล้ว 60-70%
สำหรับการสอบปากคำพยานในคดีอั้งยี่-ฟอกเงินที่ผ่านมา รวมแล้ว 90 ปาก โดย 90 ปากนี้มีทั้งกลุ่มที่เข้าไปรู้เห็นการวางแผน การทำหน้าที่ต่าง ๆ โดยเป็นการรู้เห็นด้วยตนเอง และพยานหลักฐานเกี่ยวกับการเงินด้วย โดยผลการให้ปากคำในส่วนของผู้ที่มีเส้นทางการเงินเกี่ยวข้อง มีประมาณ 7-8 ราย แต่เราดูหลักฐานการเดินบัญชีเป็นหลัก ว่าการโอนและรับโอนเงินนั้น ส่วนใหญ่พยานจะอ้างว่าเป็นการโอนเงินตามมูลหนี้ แต่ก็ต้องมาชั่งน้ำหนักอีกทีว่ารับฟังได้มากน้อยแค่ไหน ดังนั้น สำหรับพยานในลอตถัดไป จะมีพฤติการณ์ไม่เหมือนกับ 90 รายแรกที่สอบสวนไป โดยมีพฤติกรรมจากเส้นทางการเงิน ซึ่งเราจะพิสูจน์ว่าบรรดาผู้ช่วยหรือผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาประจำตัว สว. ที่มีการแต่งตั้งมีที่มาอย่างไร เพราะทราบว่ามีเงินบางส่วนได้ถูกโอนกลับไปที่คณะบุคคลบางกลุ่ม ก็ต้องติดตามตรวจสอบต่อไป
เมื่อถามว่ามีรายชื่อ สส.ที่จะต้องเข้าให้ปากคำในฐานะพยานบ้างหรือไม่ พ.ต.ต.ยุทธนา ระบุว่า ไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่มีทุกกลุ่มแน่นอน ซึ่งหมายเรียกพยานนั้น เมื่อหมดลอตถัดไป ก็จะพิจารณาเรื่องหมายเรียกผู้ต้องหา
พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ประมาณ 1 เดือน จะเห็นความคืบหน้าที่ชัดเจนมากขึ้น หรืออาจเป็นขั้นตอนเรียกมารับทราบข้อกล่าวหาเลยก็ได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการได้มาของพยานหลักฐาน โดยการฟอกเงิน พฤติกรรมคือการรับโอนเงินและทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ส่วนอั้งยี่ คือ การเป็นคณะบุคคลหรือจัดตั้งเป็นคณะบุคคล ปกปิดวิธีดำเนินการ เพื่อไปกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งตอนนี้มันก็ชัดแล้วว่ามีการจัดตั้งคณะขึ้นมาและแบ่งหน้าที่กันทำ
ขณะที่การฮั้วนั้น พฤติกรรมแวดล้อมจะบ่งบอก อย่างช่วงเลือกตั้งบางทีไม่มีเหตุผลอะไรที่จะมีการรับโอนเงินเงินก้อนใหญ่ หรือเงินกระจายไปยังบุคคลอื่นหลาย 10 เส้น และบุคคลเหล่านั้นก็ไปสมัครสมาชิกวุฒิสภาในช่วงนั้น แล้วก็มีการเลือกคนที่อยู่ในโพย ซึ่งมันก็มีความโยงใยกัน จึงยืนยันว่าเราไม่ได้ดูแค่พยานหลักฐานเรื่องเส้นทางการเงินเพียงอย่างเดียว และตอนนี้ทราบว่าเส้นทางการเงินกระจายมากกว่า 30 จังหวัด ทุกภาค
พ.ต.ต.ยุทธนา เปิดเผยด้วยว่า สำหรับคดีฮั้ว สว. ที่รับผิดชอบโดยคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน กับคดีอาญาอั้งยี่-ฟอกเงิน ที่รับผิดชอบโดยดีเอสไอนั้น โดยหลักการแล้วจะไม่ยึดโยงกัน แต่สนับสนุนเอื้อซึ่งกันและกัน ฉะนั้น ไม่ได้หมายความว่าหากบุคคลใดโดนดำเนินคดีในส่วนของ กกต. แล้วจะต้องถูกดำเนินคดีอั้งยี่-ฟอกเงินด้วย ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน โดยดีเอสไออาจจะขอพยานหลักฐานหรือความเห็นในส่วนของ กกต. มาประกอบสำนวนด้วยได้
อย่างไรก็ตาม ตนจะไม่ขอตอบในส่วนของการดำเนินการของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน เพราะเป็นส่วนของ กกต. แม้ดีเอสไอส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมก็ตาม แต่ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานอื่น ซึ่งมาตราฐานความผิดใด ก็ต้องเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการฯ
เมื่อถามจำนวนเป้าหมายผู้ที่เข้าข่ายกระทำความผิด อธิบดีดีเอสไอ ระบุว่า รวมๆ แล้วของดีเอสไอ และ กกต. อาจมีอย่างน้อยประมาณหลักร้อยคน แต่ก็ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน เนื่องจากการสอบสวนเอาผิดใคร ไม่สามารถระบุเจาะจงจำนวนได้ แต่ดูตามพยานหลักฐานว่าเชื่อมโยงถึงใครที่เกี่ยวข้องบ้าง จึงจะมีการพิจารณาว่าบุคคลใดร่วมกันกระทำความผิดความ เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน แต่ถ้ามองคร่าวๆ ตอบได้ว่ามีหลักร้อยคน
ต่อข้อถามว่าจากการดูเรื่องเส้นทางการเงิน อธิบดีดีเอสไอ ยอมรับว่ามีความเชื่อมโยงไปยังนักการเมืองท้องถิ่นกับขบวนการจัดฮั้ว แต่ขอสงวนเรื่องรายละเอียดไว้ก่อน ส่วนเชื่อมโยงถึงระดับกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ยืนยันว่าเงินตอนนี้ยังไม่ถึงขนาดนั้น แต่พบว่าเชื่อมโยงถึงกลุ่มคนใกล้ชิดของกรรมการบริหารพรรค
ส่วนกรณีที่ กกต. ยกคำร้อง 206 ผู้สมัคร สว. ระดับอำเภอ จ.อำนาจเจริญ เนื่องจากไม่พบเส้นเงินจ้างลงสมัคร อธิบดีดีเอสไอชี้แจงว่า ในส่วนของ กกต. ตนไม่อยากพูด เพราะไม่ได้ไปรู้เห็นในเรื่องดังกล่าว แต่ถามว่ามันจะเกี่ยวกันหรือไม่ มันไม่เกี่ยวกัน เป็นคนละเหตุการณ์คนละส่วน และพยานหลักฐานก็คนละชุดกัน เหตุการณ์ก็คนละเหตุการณ์ แม้ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นคนเดียวกันก็ตาม แต่มันไม่ใช่เรื่องเดียวกัน ทั้งนี้ จะดำเนินการสอบสวนคดีอั้งยี่-ฟอกเงิน อย่างเร็วที่สุด ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าจะทำสำนวนตีคู่ขนานไปกับคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน แต่ขอย้ำว่าการดูเรื่องเส้นทางการเงิน ก็ต้องดูว่ามีความสมบูรณ์หรือไม่ และพยานหลักฐานในส่วนขององค์ประกอบอั้งยี่ จะต้องมีการสอบสวนปากคำใครเพิ่มเติม หรือต้องไปดูเอกสารใดบ้าง อีกทั้งในส่วนของความผิดฐานฟอกเงิน เราจะตัดกรอบแค่ไหน เพราะการโอนเงินมันกระจายเป็นกลุ่มจังหวัด เราจะพิจารณาอย่างไร อย่างไรก็ตาม เป็นไปได้ที่ดีเอสไอจะกันพยานไว้ หากพยานคนนั้นอยู่ในเงื่อนไขที่ไม่ใช่บุคคลสำคัญ และยังให้การเป็นประโยชน์ และมั่นใจได้ว่าพยานรายนั้นจะสามารถเบิกความเป็นประโยชน์ต่อคดี จนเอาผิดถึงตัวการสำคัญได้ ส่วนหลังจากนี้เราจะโฟกัสเรื่องพยานหลักฐาน โดยเราจะเน้นการสอบสวนให้เห็นว่าการกระทำความผิดตามข้อกล่าวหาเกิดขึ้นแล้ว แต่ใครที่จะต้องรับผิดในส่วนใดบ้างก็ต้องพิจารณาเป็นรายไป
สำหรับฐานความผิดต่าง ๆ ใน พ.ร.ป.สว.61 และมาตรา 113 ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่มีการดำเนินคดีนั้น กกต. จะมีการแยกสำนวนอย่างไร เพราะ พ.ร.ป.สว.61 ตามหลักการต้องส่งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขณะที่มาตรา 113 แห่ง รธน.60 จะต้องให้ กกต. ส่งศาลรัฐธรรมนูญนั้น พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะเป็น 1 ใน 7 คณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน กล่าวว่า มาตราความผิดใดเกี่ยวกับกฎหมายการเลือกตั้งก็เป็นอำนาจของ กกต. ที่จะพิจารณา แต่ในทางปฏิบัติ ทาง กกต. อาจต้องมีการตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีกชุดเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ ทราบว่าสำนวนการไต่สวนของคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวน คณะที่ 26 จะดำเนินการเสร็จภายในวันนี้ ส่วนจำนวนผู้ถูกดำเนินคดียังไม่เรียบร้อยเท่าไร รอทางประธานคณะกรรมการ กกต. อาจจะมีการแถลง
ด้านนายวิทยา นีติธรรม ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า วันนี้ทางดีเอสไอ เชิญ ปปง. มาให้ความเห็นทางคดีเกี่ยวกับความผิดมูลฐานฟอกเงิน และเกี่ยวข้องกับทรัพย์สิน แบ่งเป็น 1.ทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด 2.ทรัพย์สินที่ช่วยสนับสนุนการกระทำความผิด และ 3.บุคคลที่เกี่ยวข้องกับตัวทรัพย์สิน เป็นเรื่องของคดีอาญาฟอกเงิน ฉะนั้น เมื่อถึงวันที่ดีเอสไอ ต้องดำเนินคดีฐาน "อั้งยี่-ฟอกเงิน" กับบุคคลใด ปปง. จะเข้ามาตรวจสอบเรื่องการสืบทรัพย์สินเพื่อออกคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์ชั่วคราวนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกัน เพราะ ปปง. เข้ามาดูจะต้องมีความชัดเจน และประชาชนก็ให้ความสำคัญ ส่วนการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดในขณะนี้ ยังให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย สามารถเข้ามาชี้แจงได้ สำหรับเส้นทางการเงินเชื่อมโยงบุคคลจำนวนมากที่เกี่ยวข้อง แต่มูลค่ายังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากต้องมีความชัดเจนตามพยานหลักฐาน