xs
xsm
sm
md
lg

สว.แนะยกระดับรับมืออุทกภัยเชียงราย-แก้สารพิษแม่น้ำกก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



น.ส.ภิญญาพัชญ์ ศันสนียชีวิน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะรองโฆษกคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น วุฒิสภา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดเชียงรายว่า ตนในฐานะวุฒิสมาชิกได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอส่งกำลังใจให้ประชาชนชาวเชียงรายทุกคนที่ประสบภัยในครั้งนี้ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 4,400 หลังคาเรือน โดยสถานการณ์ขณะนี้ถือว่าวิกฤติจากฝนตกหนักต่อเนื่องและน้ำป่าไหลหลาก

น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าวว่า อุทกภัยครั้งนี้หนักมากจริงๆ ตนขอเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นทุกคนที่กำลังปฏิบัติงานด้วยความระมัดระวัง ทั้งต่อชีวิตตนเองและประชาชน สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังหลังจากนี้ ต้องจับตาเรื่องดินโคลนถล่มเป็นพิเศษด้วย

น.ส.ภิญญาพัชญ์ กล่าวด้วยว่า ควรมีการยกระดับมาตรการรับมืออุทกภัยในทุกด้าน และขอให้เร่งจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบภัยอย่างทันท่วงที และเปิดระบบตรวจสอบสถานะการได้รับความช่วยเหลือเพื่อป้องกันความล่าช้าหรือการตกหล่นของผู้ประสบภัย ต้องไม่ให้มีใครตกหล่น และต้องไม่มีใครถูกมองข้ามในช่วงเวลาวิกฤตเช่นนี้ เราต้องเปลี่ยนจากระบบตั้งรับ ไปเป็นระบบป้องกันเชิงรุก โดยต้องประสานงานกับผู้นำท้องถิ่น อสม. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และอาสาสมัครภัยพิบัติในพื้นที่ให้แน่นแฟ้นกว่าเดิม

นอกจากนี้ น.ส.ภิญญาพัชญ์ ยังกล่าวถึงปัญหาในระดับข้ามพรมแดน ว่า รัฐบาลควรเร่งเจรจาระหว่างประเทศเพื่อจำกัดกิจกรรมจากเหมืองทองคำที่อาจปล่อยสารพิษลงสู่แม่น้ำกกและแม่น้ำสาย รวมถึงเรียกร้องให้มีข้อตกลงด้านข้อมูลน้ำระหว่างกันในระดับท้องถิ่น เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนน้ำหลากจากต้นน้ำได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

น.ส.ภิญญาพัชญ์ ย้ำว่า แม่น้ำกกไม่ใช่เพียงแค่แหล่งน้ำธรรมชาติ แต่เป็นเส้นเลือดของเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของคนเชียงราย หากเกิดการปนเปื้อนจากสารโลหะหนัก หรือไซยาไนด์จากกิจกรรมเหมือง อาจส่งผลสะสมต่อสุขภาพคนทั้งจังหวัดในระยะยาว

นอกจากนี้ น.ส.ภิญญาพัชญ์ ยังเรียกร้องให้มีการติดตั้งระบบตรวจวัดคุณภาพน้ำแบบเรียลไทม์ (real-time monitoring) ในแม่น้ำสายหลัก พร้อมเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ เพื่อให้ประชาชนและภาคประชาสังคมมีบทบาทร่วมในการเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ สิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ และเราต้องทำให้ประชาชนรู้เท่าทันภัยที่จะมาถึงก่อนที่มันจะกลายเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต

น.ส.ภิญญาพัชญ์ ย้ำว่า นอกจากการรับมือเชิงโครงสร้างแล้ว ยังควรส่งเสริมการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครเตือนภัยตามหมู่บ้าน โดยเฉพาะในเขตเสี่ยงน้ำหลาก เพื่อให้มีบุคลากรในพื้นที่คอยรายงานสถานการณ์และดูแลกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก

"ในช่วงเวลาวิกฤต คนที่เปราะบางที่สุดมักเป็นคนที่ถูกลืม ดังนั้นการออกแบบระบบภัยพิบัติในอนาคต ต้องมีมุมมองของความเท่าเทียมและความยืดหยุ่นในเชิงพื้นที่ (area-based resilience) ไม่ใช่แค่แผนงานที่อยู่บนกระดาษ"