นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานสมาคมศาลรัฐธรรมนูญและสถาบันเทียบเท่าแห่งเอเชีย (AACC) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการสมาชิกสมาคมว่าที่ประชุมมีมติอย่างเป็นทางการให้รับศาลฎีกากลาง แห่งสาธารณรัฐอิรัก (Federal Supreme Court of Iraq) เข้าเป็นสมาชิก AACC และเชิญเข้าร่วม การประชุมใหญ่ (Congress) ของสมาคม AACC ครั้งที่ 7 ซึ่งอุซเบกิสถานจะเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นระหว่าง ปี 2568-2570
นายนครินทร์ เปิดเผยว่า ศาลฎีกากลางแห่งสาธารณรัฐอิรัก ส่งใบสมัครมาตามขั้นตอน โดยมติของที่ประชุม 18 ประเทศจาก 21 ประเทศ สนับสนุนให้เข้าเป็นสมาชิก ตามกฎระเบียบของที่ประชุม ที่ถือว่าเสียงสนันสนุนเกิน 2 ใน 3 ของสมาชิกที่เข้าประชุม และไม่มีผู้คัดค้าน ทำให้ขณะนึ้สมาคม AACC มีสมาชิกเพิ่มเป็น 22 ประเทศแล้วในปี 2568 จากเดิมในปี 2554 มีสมาชิกเพียง 7 ประเทศ
ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไทยเห็นพ้องว่าการรับศาลฎีกากลางแห่งสาธารณรัฐอิรักเข้าเป็นสมาชิก AACC จะเป็นประโยชน์ต่อสถานะและการดําเนินงานของ AACC ในเวทีศาลรัฐธรรมนญูโลกต่อไป รวมทั้งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีระหว่างรไทยและสาธารณรัฐอิรักได้ในอีกส่วนหนึ่งตามข้อมูลที่ได้รับทราบจากกระทรวงการต่างประเทศว่า สาธารณรัฐอิรักได้ประสานผ่าน กระทรวงการต่างประเทศว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาเพื่อเปิดสถานเอกอัครราชทูตอิรักประจําประเทศไทยอีกครั้ง ในเร็วๆ นี้ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อทางเลือกแหล่งพลังงานปิโตรเลี่ยมในภาวะปัจจุบันด้วย
นอกจากนี้ ยังเห็นว่าแม้อิรักจะไม่มีศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาลฎีกากลางแห่งสาธารณรัฐอิรักก็มีแผนกคดีรัฐธรรมนูญ เมื่อเข้าเป็นสมาชิกก็จะได้มีการแลกเปลี่ยนและช่วยทางวิชาการ เพราะเรื่องการขัดแย้งเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญมีทุกประเทศ ไม่ว่าประเทศเล็กหรือประเทศใหญ่ ซึ่งการมีสมาชิกเพิ่มสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญและคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นกับทุกประเทศ เงื่อนไขการรับเข้าเป็นสมาชิก ต้องมีศาลที่ทำหน้าที่ด้านนี้ ยึดหลักสากล ได้มาตราฐานเป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ตาม นอกจากอิรักที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ล่าสุดแล้ว ยังมีติมอร์เลสเตที่แสดงท่าทีสนใจเข้าเป็นสมาชิกด้วย