xs
xsm
sm
md
lg

กสทช.เตือนภัย! มิจฉาชีพแอบอ้างให้กดลิงก์แนบ sms เล็งออกแอปฯ "กันกวน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายแพทย์สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้ กสทช. ได้ประสานผู้ประกอบการโทรคมนาคมทุกรายหลังจากเกิดปัญหา sms หลอกลวงจากมิจฉาชีพที่แนบลิงก์เพื่อเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลของผู้รับ sms เมื่อกดลิงก์ โดยสำนักงาน กสทช. ได้ประสานไปยังผู้ประกอบการโทรคมนาคมให้เฝ้าระวังและติดตาม sms ในลักษณะดังกล่าว

ปัญหาการหลอกลวงที่พบมากยังคงเป็นการโทรจากมิจฉาชีพ หรือแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มาใน 3 รูปแบบหลัก ได้แก่ หลอกให้ลงทุน โฆษณาชวนเชื่อในการซื้อขาย หลอกว่าเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือองค์กรต่างๆ และ หลอกให้หลงรักเพื่อหาผลประโยชน์จากเหยื่อ โดยกลุ่มมิจฉาชีพมีการเตรียมข้อมูลและเปลี่ยนแปลงรูปแบบ วิธีการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา

นายแพทย์สรณ ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการ หรือธนาคาร ไม่มีนโยบายติดต่อประชาชนโดยตรง อย่าหลงเชื่อถ้ามีคนติดต่อมา กรณีสำนักงาน กสทช. ก็ไม่มีการโทรออกไปก่อน หน่วยงานเราก็โดนเอาไปแอบอ้าง และที่สำคัญไม่ควรกดลิงก์ที่แนบมากับ sms ง่ายๆ โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางที่หาประโยชน์จากมิจฉาชีพได้ง่าย เพราะมีเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและสามารถใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน

ประธาน กสทช. กล่าวว่า มาตรการการป้องกันอาชญากรรมออนไลน์ของสำนักงาน กสทช. ปัจจุบันได้ดำเนินการระงับหมายเลขโทรศัพท์ที่มีการโทรออกมากกว่า 100 ครั้ง โดยเจ้าของหมายเลขจะต้องมาแสดงตน เพื่อยืนยันว่าเป็นการใช้บริการที่ถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ที่ถือครองซิมตั้งแต่ 6 ซิมขึ้นไป จะต้องมาแสดงตน ตามประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการยืนยันตัวตนและข้อมูลเกี่ยวกับการใช้บริการของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2567 นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถยกเลิก sms โฆษณาได้ด้วยตนเอง ด้วยการกด *137 แล้วโทรออก โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับประชาชนที่ต้องการแจ้งเรื่องร้องเรียนหรือสอบถามข้อมูล สามารถแจ้งศูนย์ Call Center ของ สำนักงาน กสทช. โทร 1200 ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์ (Anti Online Scam Operation Center : AOC ) โทร 1441 ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงาน กสทช. ยังได้เตรียมพัฒนาการรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบ "traffy fondue" ที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งเป็นระบบ LINE chatbot แบบอัตโนมัติ ที่กรุงเทพมหานครได้ใช้ระบบดังกล่าวในการรับเรื่องร้องเรียน และบริหารจัดการปัญหาเมืองในพื้นที่ กทม. ซึ่งเป็นช่องทางที่สะดวกและประหยัดเวลา

นอกจากนี้ ยังมีแอปพลิเคชัน "กันกวน" สำหรับแจ้งเตือนเบอร์หรือ sms ที่น่าสงสัย ซึ่งอยู่ในระหว่างพัฒนา เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทาง ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี รวมทั้งสามารถรับมือกับอาชญากรรมสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ