xs
xsm
sm
md
lg

“พระปรางค์วัดอรุณ : อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” กับ 10 เรื่องน่ารู้ วันเดินหน้าสู่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ปิ่น บุตรี


พระปรางค์วัดอรุณ ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ (ลิขสิทธิ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.))
“พระปรางค์วัดอรุณ” ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานสถาปัตยกรรมไทยชิ้นสำคัญของโลก ที่วันนี้ได้รับการขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ภายใต้ชื่อ “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ซึ่งคนไทยเราต้องช่วยกันส่งกำลังใจให้พระปรางค์วัดอรุณ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของเมืองไทยโดยเร็ววัน

ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวดีของเมืองไทย เมื่อองค์การ “การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ” หรือ “ยูเนสโก” (UNESCO) ได้รับรองให้ “พระปรางค์วัดอรุณ” ขึ้นบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) อย่างเป็นทางการ ในการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 47 ณ สำนักงานใหญ่ในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ระหว่างวันที่ 6–16 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 ที่ผ่านมา

พระปรางค์วัดอรุณ พระปรางค์ขนาดใหญ่สูงที่สุดในไทยและของโลก
สำหรับพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม หรือที่นิยมเรียกสั้น ๆ ว่า “พระปรางค์วัดอรุณ” ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานสถาปัตยกรรมไทยชิ้นสำคัญของโลก ทั้งยังเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์-แลนด์มาร์กอันโดดเด่นของเมืองไทย รวมถึงมีความสำคัญและเรื่องน่าสนใจอีกหลากหลาย ดังนั้นเราจึงขอพาไปรู้จักกับ 10 เรื่องน่ารู้คู่พระปรางค์วัดอรุณ ว่าที่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทยในอนาคต ซึ่งหลายเรื่องหลายสิ่งของพระปรางค์องค์นี้ถือว่า “อะเมซิ่ง” ไม่น้อยเลย

1.พระปรางค์ขนาดใหญ่สูงที่สุดในไทยและของโลก : พระปรางค์วัดอรุณ ตั้งอยู่ที่วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร แขวงวัดอรุณ เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร เป็นสถาปัตยกรรมไทยในรูปแบบ “พระปรางค์” ขนาดใหญ่ที่สูงที่สุดในประเทศไทยและของโลก เคยได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน 10 สถานที่ทางพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียงที่สุดจากทัวร์โอเปีย รวมถึงได้รับการยกย่องจากคนจำนวนมากให้เป็นพระปรางค์ริมแม่น้ำที่สวยที่สุดในโลกอีกด้วย

พระปรางค์วัดอรุณ พระมหาธาตุแห่งพระนครกรุงรัตนโกสินทร์
2.พระมหาธาตุแห่งพระนครกรุงรัตนโกสินทร์ : พระปรางค์วัดอรุณองค์แรกเริ่มดั้งเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเคียงคู่มากับ “วัดมะกอก” (ชื่อดั้งเดิมของวัดอรุณ) มีความสูงเพียง 8 วา หรือ ประมาณ 16 เมตรเท่านั้น พอมาในสมัยรัชกาลที่ 2 พระองค์ทรงมีพระราชดำริว่าควรจะเสริมสร้างพระปรางค์องค์นี้ให้ใหญ่ขึ้นเพื่อเป็น “พระมหาธาตุแห่งพระนครกรุงรัตนโกสินทร์” จึงโปรดให้มีกำหนดการลงมือขุดวางฐานรากใหม่ แต่พระองค์ได้เสด็จสวรรคตไปเสียก่อน

ต่อมารัชกาลที่ 3 ได้สืบสานพระราชดำริต่อจากพระราชบิดา โดยโปรดฯให้เสริมสร้างองค์พระปรางค์ขึ้นใหม่จนสำเร็จ มีความสูง 1 เส้น 13 วา 1 ศอก 1 คืบ กับ 1 นิ้ว หรือประมาณ 81.85 เมตร ถือเป็นสิ่งก่อสร้างโบราณที่สูงที่สุดในกรุงเทพฯ มาอย่างช้านาน

พระปรางค์วัดอรุณสร้างขึ้นตามแนวคิดคติจักรวาล
3.คติจักรวาล : พระปรางค์วัดอรุณสร้างขึ้นตามแนวคิด “คติจักรวาล” (หรือภูมิจักรวาล) มีองค์ปรางค์ประธานเปรียบเสมือนเขาพระสุเมรุ ซึ่งเป็นแกนกลางหรือศูนย์กลางของจักรวาล แวดล้อมด้วยปรางค์ทิศทั้งสี่แทน 4 ทวีปในไตรภูมิ ได้แก่ อุตรกุรุทวีป (เหนือ) บุรพวิเทหทวีป (ตะวันออก) อมรโคยานทวีป (ตะวันตก) และชมพูทวีป (ใต้) ซึ่งเป็นที่อาศัยของมนุษย์

4.ทรงจอมแห : พระปรางค์วัดอรุณแม้มีขนาดสูงใหญ่ แต่กลับดูสมส่วนงดงามลงตัว (ไม่เทอะทะ) โดยรองศาสตราจารย์ “สมคิด จิระทัศนกุล” จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านงานสถาปัตยกรรมไทยในอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ได้อธิบายถึงรูปทรงของพระปรางค์วัดอรุณฯ ไว้ในหนังสือ “รู้เรื่อง วัดวิหาร โบสถ์ เจดีย์ : พุทธสถาปัตยกรรมไทย” ว่า เป็น “ทรงจอมแห” โดยในหนังสือได้กล่าวไว้ดังนี้

พระปรางค์วัดอรุณ งดงามสมส่วนด้วยรูปแบบทรงจอมแห (ลิขสิทธิ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.))
“...ทรงจอมแห : หมายถึงรูปทรงของพระปรางค์ที่สร้างโครงรูปเส้นรอบนอกให้มีลักษณะแอ่นโค้งเหมือนอาการทิ้งน้ำหนักตัวของ “แห” ที่ถูกยกขึ้น รูปทรงเช่นนี้ความจริงถูกนำมาใช้กับการออกแบบพระเจดีย์สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์มาก่อนแล้ว ก่อนจะนำมาพัฒนาใช้กับรูปทรงพระปรางค์บ้าง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาที่บรรลุผลทางการออกแบบอย่างสูงสุดครั้งสุดท้าย โดยเฉพาะกับองค์พระปรางค์ประธาน วัดอรุณราชวรารามฯ ธนบุรี ที่ต้องถือว่ามีความงดงามที่สุดในกระบวนการพระปรางค์ยุคกรุงรัตนโกสินทร์ทั้งหมด

ซึ่งความสำเร็จของการออกแบบ “รูปทรงจอมแห” ของพระปรางค์แห่งนี้ อยู่ที่การเน้นส่วนฐานด้วยการซ้อนชั้นจำนวนนับไม่ถ้วนเพื่อเป็นการเสริมให้อาคารมีความสูงมากๆ จึงต้องยืดส่วนของฐานให้กว้างขึ้นกว่าปกติ เพียงพอให้สามารถเบียดทรวดทรงอาคารให้เกิดลักษณะที่แอ่นโค้งได้สำเร็จตามรูปทรงดังกล่าว ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่เรือนธาตุกับส่วนยอดอันเพรียวบางนั้น ซึ่งแม้ว่าจะไม่หลงเหลือความยิ่งใหญ่ตระการตาอย่างต้นฉบับแบบเดิมของ “ทรงศิขร”อยู่เลย แต่ทว่ากลับสะท้อนถึงความสุนทรีย์แห่ง “รูปทรง” ลักษณะใหม่ที่งดงามอย่างหมดจด รวมทั้งความละเอียดในเชิงการออกแบบรูปแบบแผนผัง และองค์ประกอบตกแต่ง ซึ่งก็ยังสามารถสนองรับกับแนวคิดในเรื่องของ “คติจักรวาล” ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ตามคติเดิมอีกด้วย...”


ประติมากรรมพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ
5.ที่ประทับพระอินทร์ : องค์ปรางค์ประธาน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก ๆ คือ ฐาน เรือนธาตุ และเรือนยอด โดยฐานมีกว้างราว 234 เมตรมีการย่อมุม ส่วนเรือนธาตุมีการซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ขึ้นไป มีการประดับรูปเทวดาแบก กระบี่ (ลิง) แบก และยักษ์แบก และมีรูปครุฑยุดนาคและเทพพนมประดับอยู่ด้านบน (เหนือซุ้มคูหา)

ขณะที่ซุ้มคูหาด้านบนขององค์ปรางค์ประธานทั้ง 4 ทิศ ประดับรูป “พระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ” ซึ่งตามคติจักรวาลเชื่อว่า ยอดของเขาพระสุเมรุเป็นสวรรค์ชั้นดาวดึงส์อันเป็นที่ประทับของ “พระอินทร์” เทวดาผู้เป็นใหญ่ที่สุดบนสวรรค์ โดยส่วนเรือนธาตุและยอดของพระปรางค์ประธานวัดอรุณนั้นเปรียบดัง “วิมานไพชยนต์” ที่ตั้งอยู่กลางนครไตรตรึงษ์ อันเป็นที่ประทับของพระอินทร์บนยอดเขาพระสุเมรุ

ยอดพระมหามงกุฎ
6.ยอดพระมหามงกุฎ : พระปรางวัดอรุณ (องค์ปรางค์ประธาน) มีส่วนยอดปรางค์ที่เป็นเอกลักษณ์แตกต่างไปจากปรางค์ทั่ว ๆ ไปในบ้านเรา ซึ่งปกติจะมีส่วนยอดคือ “ตรีนภศูล” โดย (ส่วนใหญ่) จะอัญเชิญฉัตรครอบตรีนภศูลอีกที

แต่บนส่วนยอดสุดของปรางค์ประธานวัดอรุณนั้น เป็น “พระมหามกุฎ” ซึ่งรัชกาลที่ ๓ โปรดในความงดงามของมหามกุฎที่ประดับองค์พระประธานทรงเครื่องของวัดนางนอง จึงให้อัญเชิญมาไว้เหนือตรีนภศูลขององค์ปรางค์ประธาน แล้วโปรดฯ ให้สร้างมหามกุฎองค์ใหม่ถวายแทนของเดิม

ดังนั้นหากใครอยากเห็นแบบของพระมหามงกุฎบนยอดพระปรางค์วัดอรุณ แบบชัด ๆ สามารถมาชมอย่างใกล้ชิดกันได้ที่วัดนางนอง ในย่านจอมทอง กรุงเทพฯ

เทวดาแบกกับศิลปะพระราชนิยม
7.ศิลปะพระราชนิยม : พระปรางค์วัดอรุณมีงานประดับตกแต่งที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ ด้วยกระเบื้องเคลือบ และถ้วยชามเบญจรงค์ เป็นลวดลายดอกไม้ ใบไม้ และลายอื่น ๆ ซึ่งเมื่อมองไกล ๆ จะเห็นกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียว แต่เมื่อมองใกล้ ๆ จะเห็นถึงรายละเอียด ลวดลาย และสีสันสดใสงดงาม ซึ่งช่างได้สร้างสรรค์ออกมาตามรูปแบบของ “ศิลปะพระราชนิยม” อันเป็นงานศิลปะที่นิยมในสมัยที่รัชกาลที่ ๓

พระปรางค์วัดอรุณสถาปัตยกรรมไทยริมแม่น้ำที่รากฐานแข็งแรงมายาวนานนับร้อยปี
8.ฐานรากแข็งแรง : แม้จะเป็นพระปรางค์องค์สูงใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ทว่าพระปรางค์วัดอรุณที่สร้างมาแล้วนับร้อยปีกลับยังคงแข็งแรงมาจนถึงทุกวันนี้ เนื่องจาก ฐานรากของพระปรางค์วัดอรุณเป็นฐานรากแผ่ที่รองรับไว้ด้วยไม้ มีลักษณะเหมือนเสาเข็ม ถือเป็นโครงสร้างที่เหมาะกับชั้นดินอ่อนตามแบบชั้นดินของที่ราบลุ่มแม่น้ำตามสภาพพื้นที่ นับเป็นภูมิปัญญาเชิงช่างและการก่อสร้างของคนไทยสมัยก่อนที่น่าทึ่งไม่น้อยเลย

พระปรางค์วัดอรุณหนึ่งในจุดชมพระอาทิตย์ตกสุดสวยริมเจ้าพระยา (ลิขสิทธิ์ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.))
9.จุดชมพระอาทิตย์ตกสุดสวยริมเจ้าพระยา : พระปรางค์วัดอรุณจะดูงดงามที่สุดในช่วงยามเย็นโพล้เพล้ โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ตกดิน โดยพระอาทิตย์จะตกลับไปบริเวณด้านหลังวัดทางทิศตะวันตก ทิ้งไว้เพียงแสงฉาบทองที่ช่วยขับให้องค์พระปรางค์ดูโดดเด่นขึ้นเมื่อถ่ายภาพแบบย้อนแสง หรือซิลลูเอทท์ เป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่สวยงามที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เมื่อมองมาจากฝั่งพระนคร

ภาพยามเย็นของวัดอรุณฯ นี้งดงามจน “ลิซ่า โอโนะ” ศิลปินแจ๊ซ-บอสซ่าชื่อดังชาวญี่ปุ่น ได้นำเอาฉากภาพพระปรางค์วัดอรุณยามโพล้เพล้มาเป็นปกอัลบั้มของเธอในชุด “เอเชีย” (พ.ศ.2553) ทำให้พระปรางค์แห่งนี้เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากยิ่งขึ้นไปอีก

ปกอัลบั้มชุดเอเชียของลิซ่า โอโนะ (ซ้าย) โลโก้ ททท. (ขวา)
10.โลโก้ ททท. : ความงดงามของพระปรางค์วัดอรุณ ริมแม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นภาพชินตาของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ ที่เมื่อมาเยือนเมืองไทยก็ต้องมาชมและถ่ายภาพความงามมุมนี้กลับไปเป็นที่ระลึก ทำให้ “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)” นำภาพของพระปรางค์วัดอรุณไปเป็นเครื่องหมายสัญลักษณ์ หรือโลโก้ ขององค์กรตั้งแต่ พ.ศ.2505 โดยนำภาพพระปรางค์วัดอรุณอยู่คู่กับเรือสุพรรณหงส์ ที่แสดงถึงความเป็นเมืองไทยอันโดดเด่นประชาสัมพันธ์ประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก

และนี่ก็คือ 10 เรื่องน่ารู้ของพระปรางค์วัดอรุณ ที่วันนี้ยูเนสโกได้บรรจุไว้ในบัญชีรายชื่อเบื้องต้นมรดกโลก (Tentative List) นับเป็นก้าวสำคัญในการเดินหน้าสู่การเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย (ในอนาคต) ภายใต้ชื่อ “พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม อัตลักษณ์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ : Phra Prang of Wat Arun Ratchawararam : The Masterpiece”

พระปรางค์วัดอรุณ กำลังเดินหน้าสู่มรดกโลกแห่งใหม่ของไทย (ในอนาคต)
โดยพระปรางค์วัดอรุณ มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ (Criteria met) ของการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ดังนี้

เกณฑ์ข้อที่ 1 พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นตัวแทนสถาปัตยกรรม ประเภทเจดีย์ในพุทธศาสนาที่มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ด้านรูปแบบ เทคนิคการก่อสร้าง คติการสร้าง และศิลปกรรม เป็นเจดีย์ประเภทพระปรางค์ที่มีขนาดใหญ่และสวยงามที่สุดในราชอาณาจักรไทยและเอเชีย

เกณฑ์ข้อที่ 2 พระปรางค์วัดอรุณราชวราราม เป็นสถาปัตยกรรม ประเภทเจดีย์ในพุทธศาสนาที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปกรรมสมัยอยุธยา และมีพัฒนาการด้านการออกแบบ แผนผัง สถาปัตยกรรม และศิลปกรรม จนเป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของสมัยรัตนโกลินทร์เพียงแห่งเดียวในราชอาณาจักรไทยและเอเชีย

ดังนั้นคนไทยเราต้องช่วยกันส่งกำลังใจให้ทีมงานที่เกี่ยวข้อง นำพระปรางค์วัดอรุณให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งใหม่ของเมืองไทยโดยเร็ววัน





กำลังโหลดความคิดเห็น