xs
xsm
sm
md
lg

"วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ" ศรัทธาเหนือกาลเวลา แห่งเมืองอุบลฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สัมผัสความศักดิ์สิทธิ์และเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ณ วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หนึ่งในวัดเก่าแก่ของจังหวัดอุบลราชธานี ที่หลอมรวมพลังศรัทธา ศิลปะ และตำนานไว้ได้อย่างงดงาม

วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ หรือ วัดใต้เทิง เป็นวัดราษฎร์ ตั้งอยู่ที่ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ใกล้ริมฝั่งแม่น้ำมูล แต่เดิมวัดใต้มี 2 วัด คือ วัดใต้เทิงกับวัดใต้ท่า วัดใต้ท่า (วัดร้าง) ตั้งอยู่ริมน้ำมูล ทางทิศใต้ท่าน้ำ ส่วนวัดใต้เทิง (คำว่าเทิง ความหมายว่า ที่สูง ข้างบนหรืออยู่สูง อยู่เหนือขึ้นไป) ตั้งอยู่ถัดขึ้นไปจากวัดใต้ท่าที่อยู่ใกล้ริมแม่น้ำมูล ต่อมาได้นำวัดใต้ท่าไปรวมกับวัดใต้เทิง และเพื่อให้สื่อความหมายถึงพระประธานในอุโบสถพระนามว่าพระเจ้าองค์ตื้อ จึงได้นำพระนามของพระพุทธรูปมาต่อกับชื่อวัด กลายเป็น "วัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ"


ภายในวัดแห่งนี้มีปูชนียวัตถุที่สำคัญ คือ พระพุทธประธานในพระอุโบสถนามว่า "พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ" เป็นพระพุทธรูปเนื้อทองสำริด ปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง 51 นิ้ว สูง 85 นิ้ว (รวมฐาน) ตามประวัติในประเทศไทย มีพระเจ้าใหญ่องค์ตื้ออยู่ 5 องค์ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช เดิมทีประดิษฐานอยู่บนแท่นพระอุโบสถหลังเก่า ภายหลังอุโบสถทรุดโทรม พระเจ้าองค์ตื้อจึงอยู่กลางแจ้ง ตากแดด ตากฝน เป็นเวลานานทำให้องค์พระพุทธรูปองค์ตื้อมีรอยแตก เป็นสะเก็ดออกมา จึงได้พอกพระพุทธรูปด้วยเปลือกไม้ ยางบด ผสมผงอิทธิเจ และทองคำ เงิน นาก สัมฤทธิ์ เงิน รางกาชาดซะพอก ให้น้ำเกลี้ยง น้ำชาดผสมทาปอมพอก แล้วลงรักปิดทองที่เข้าเมืองอุบลราชธานี แต่เนื่องจากกลัวข้าศึกขนเอาพระพุทธรูปไปจึงได้พอกปิดไว้ และปล่อยทิ้งเป็นวัดร้างนานถึง 200 ปี


ต่อมาราว พ.ศ. 2507–2508 สมัยพระภิกษุสวัสดิ์ ทสฺสนีโย เป็นเจ้าอาวาสวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ รูปที่ 13 ได้ทำการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่ขึ้น ก่อสร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2519 เมื่อสร้างฐานแท่นพระพุทธรูปพระประธานเสร็จจึงได้ยกพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อขึ้นประดิษฐานที่แท่นจนถึงปัจจุบันนี้




อุโบสถมณฑปเพชรเจ็ดแสงพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อเป็นศิลปะขอมผสมเวียดนาม ส่วนฐานเป็นศิลปะไทยภาคอีสาน ขนาดกว้าง 9 เมตร ยาว 11 เมตร หน้าต่าง 5 ช่อง ประตู 2 ประตู เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2509 จัดงานฉลองพิธีผูกพัทธสีมา วันที่ 1–5 มีนาคม พ.ศ. 2523 ผนังทุกด้านของอุโบสถเขียนภาพจิตรกรรมพุทธประวัติและทศชาติชาดก


พระอุโบสถของวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ โดดเด่นด้วยซุ้มขอบประตูและหน้าต่างที่ตกแต่งด้วยสีทองอร่าม เพิ่มความวิจิตรตระการตา แต่ยังคงไว้ซึ่งความเรียบง่ายของผนังด้านนอกอย่างกลมกลืน


ภายในอุโบสถประดับด้วยภาพจิตรกรรมฝาผนังอย่างวิจิตรงดงาม ด้านหลังองค์พระประธาน พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ เป็นภาพ ต้นพระศรีมหาโพธิ์ อันดูคล้ายกับพระพุทธเจ้าประทับนั่งใต้ร่มโพธิ์ใหญ่ ผนังโดยรอบถ่ายทอดเรื่องราว พุทธประวัติ และ ทศชาติชาดก อย่างประณีต สะท้อนถึงพลังแห่งศรัทธาและภูมิปัญญาของช่างในท้องถิ่น




บริเวณมุมด้านข้างของอุโบสถยังมีองค์ประกอบศิลป์ที่น่าสนใจ อาทิ รูปปูนปั้นยักษ์ ยืนเฝ้าอยู่ทั้งสองฝั่ง และรูปปั้นท้าวจตุคาม-รามเทพ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชา มีมณฑปพระอุปคุต จุดศูนย์รวมจิตใจที่ผู้คนมักจุดธูปเทียนสักการะกัน ณ บริเวณนี้


นอกจากนี้บริเวณสองข้างของอุโบสถวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ จะมีหลักศิลาจารึกเป็นหินทรายตั้งอยู่ ที่ฐานของหลักจารึกมีข้อมูลชี้แจงว่า จารึกหลักที่ 1 อบ.13 วัดใต้ “เทิง” อักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกไม้ ประเภทสักทอง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 55 ซ.ม. สูง 143 ซ.ม. หนา 9 ซ.ม. และจารึกหลักที่ 2 อบ. 14 วัดใต้ “เทิง” เป็นอักษรธรรมอีสาน วัตถุจารึกศิลาประเภทหินทรายสีแดง ลักษณะรูปใบเสมา กว้าง 67 ซม. สูง 82 ซม. หนา 7 ซม.




ส่วนวิหารเฉลิมพระเกียรติ 200 ปี เป็นที่ประดิษฐานของพระประธาน คือ พระพุทธมงคลรัตนสิริธัญสถิต เจดีย์พระบรมสารีริกธาตุ ตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถพระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ภายในเจดีย์เป็นที่สถานที่เก็บพระบรมสารีริกธาตุ พระพุทธรูปเก่าแก่ เช่น พระบรมสารีริกธาตุ พระแก้วจักรพรรดิโกเมน พระแก้วจักรพรรดิมรกต พระแก้วจักรพรรดิบุษราคัม และสิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ


การเดินทางมายังวัดใต้พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ไม่เพียงแต่ได้สักการะองค์พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ แต่ยังเป็นการเปิดโลกสู่ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และศิลปกรรมแห่งเมืองอุบลฯ อย่างแท้จริง เหมาะสำหรับทั้งสายบุญและผู้ที่สนใจเรื่องราวของท้องถิ่น

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือ ชมคลิปต่าง ๆ ได้ที่ Youtube :Travel MGR และ Instagram : @travelfoodonline และ TikTok : @travelfoodonline


กำลังโหลดความคิดเห็น