โบรกเกอร์ ประเมิน การสู้รบไทย - กัมพูชา กระทบเศรษฐกิจไทย - SET จำกัด เหตุการค้ากับกัมพูชามีแค่ 3% เชื่อเหตุปะทะไม่ยืดเยื้อ ระบุสถิติปะทะช่วงปี 54 พบหุ้นไทย Outperform ภูมิภาคด้วย มั่นใจการปะทะรอบนี้ไม่กระทบเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทย แต่หากขยายวงกว้างอาจกระทบดัชนีหุ้นไทยประมาณ 5% ส่วนกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมีกระจุกตัว มองหุ้นที่รับ Sentiment ลบสุด ประกอบด้วย CBG - SAV- OR
หยวนต้า เชื่อเหตุปะทะกระทบศก.-หุ้น จำกัด แต่ SAV, OR และ CBG สะเทือน
วันนี้(24 ก.ค.2568) เกิดเหตุการณ์สู้รบระหว่างไทย กับ กัมพูชา ภายหลังทหารกัมพูชาที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม จ.บุรีรัมย์ เปิดฉากโจมตีใส่ทหารไทย เพราะเกิดความไม่พอใจที่กองทัพภาคที่ 2 สั่งปิดกลุ่มปราสาทตาเมือน และด่านแนวชายแดนทั้งหมด
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การสู้รบระหว่างไทย กับ กัมพูชา มีแนวโน้มกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยจำกัด เนื่องด้วยการสู้รบดังกล่าวยังไม่ขยายวงออกจากพื้นที่ชายแดนไทย - กัมพูชา อีกทั้งมูลค่าการค้าระหว่างไทย - กัมพูชา คิดเป็นเพียง 3% เมื่อเทียบกับมูลค่าการค้าทั้งหมดของประเทศไทยเท่านั้น
"ย้อนดูสถิตในช่วงปี 2554 ที่มีการสู้รบกันของทั้ง 2 ประเทศ ในช่วงที่สถานการณ์รุนแรงเดือน ก.พ - มี.ค. 2554 ปรากฏว่า ในช่วงดังกล่าว SET Index กลับปรับตัวขึ้นได้ดีกว่าหุ้นในภูมิภาคเดียวกันอีกด้วย โดย SET Index เดือน ก.พ. ปรับตัวขึ้นได้ 2.5% จากเดือนก่อน และ มี.ค. ปรับตัวขึ้นได้ 4.5% จากเดือนก่อน และการปะทะกันครั้งนี้ คาดว่าจะไม่ยืดเยื้อเนื่องจากด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศไทยค่อนข้างเหนือกว่า ซึ่งเมื่อมีการสู้รบมักจะจบกันเร็ว เพราะจะมีการเจรจาหยุดยิง แต่ที่ผ่านมาสถานการณ์ยืดเยื้อเพราะฝ่ายความมั่นคงพยายามหาวิธีหลีกเลี่ยงการปะทะ" นายณัฐพล กล่าว
ดังนั้นการปะทะกันรอบนี้ จะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ถ้าหากการปะทะขยายวงกว้างออกมาจากพื้นที่ปัจจุบัน อาจจะกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยราว 5% เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านภาคการท่องเที่ยว และความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ
หุ้นที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดหลังมีการสู้รบระหว่างไทย - กัมพูชา ประกอบด้วย SAV, OR และ CBG เนื่องจากมีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในประเทศกัมพูชาค่อนข้างสูง
CGSI มอง SAV-CBG-OSP กระทบ สัดส่วนส่งออกไปกัมพูชามาก
นายกรรณ์ หทัยศรัทธา นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า การสู้รบกันระหว่างไทย กับ กัมพูชา มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และตลาดหุ้นไทยค่อนข้างจำกัด แม้ว่าไทยจะมีการนำเข้าส่งออกไปยังกัมพูชาค่อนข้างมาก แต่ก็เป็นการนำเข้าส่งออกที่กระจุกตัวอยู่ในไม่กี่อุตสาหกรรม จึงประเมินว่า Downside ที่ลึกสุดสำหรับเหตุการณ์นี้ต่อตลาดหุ้นไทยเพียง 40 จุด เท่านั้น
"การสู้รบกันระหว่างไทย กับ กัมพูชา มีแนวโน้มยืดเยื้อเหมือนช่วงปี 2554 แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ลดระดับความรุนแรงลงได้ เนื่องด้วยเป็นผลดีกับทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะเริ่มต้นเจรจาสำหรับการหยุดปะทะในครั้งนี้ " นายกรรณ์ กล่าว
สำหรับหุ้นที่ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อการสู้รบระหว่างไทย กับ กัมพูชา ประกอบด้วย SAV ที่มีธุรกิจบังคับการบินในกัมพูชาสัดส่วนสูง และกลุ่มเครื่องดื่ม อาทิ CBG และ OSP ที่มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปยังกัมพูชาค่อนข้างมาก
กรุงศรีฯ ประเมิน CBG - SAV รับผลกระทบเชิงลบมากสุด
บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ระบุว่า การสู้รบดังกล่าวจะสร้างจิตวิทยาลบระยะสั้นในวันนี้ต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีรายได้ อิงจากกัมพูชา เช่น กลุ่มเครื่องดื่ม CBG เพราะมียอดขายในกัมพูชา 10% OSP 7% กลุ่มโรงพยาบาลมีรายได้ลูกค้ากัมพูชาจะมีผลกระทบน้อยกว่า 5% และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางเข้ามารักษา BDMS 3.7%, BH 3%, BCH 1.7% และ CHG 1% ทำให้ทางพื้นฐานกระทบจำกัด
ขณะที่กลุ่มโรงภาพยนตร์ MAJOR สัดส่วนรายได้ราว 3.8% กลุ่มส่งออกเนื้อสตัว์ CPF, TFG, GFPT กระทบจำกัดไม่มีนัยยะ สัดส่วนรายได้น้อยกว่า 1% กลุ่มพลังงานกระทบจำกัด เพราะการค้าของกลุ่ม PTT และ SCC กับประเทศกัมพูชา ไม่ได้มากจนกระทบธุรกิจอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเครือ PTT มีรายได้รวมที่มาจากกัมพูชาราว 1% ของรายได้ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่มาจากฝั่งของ OR ที่มีสถานีบริการน้ำมัน 186 แห่ง จากสาขาทั้งหมด 2,761 แห่ง และคาเฟ่อเมซอน 254 แห่ง จากทั้งหมด 4,898 แห่ง รวมถึงสัญญาเช่าคลังน้ำมันในกัมพูชา โดย EBITDA จากกัมพูชาคิดเป็น 4% ของทั้งหมดของ OR
ด้าน SCC มีรายได้จากกัมพูชา ราว 2% ของทั้งหมด มีโรงซีเมนต์กำลังการผลิตราว 2 ล้านตัน หรือ ราว 6% ของทั้งหมด และสินทรัพย์ราว 1.3 หมื่นล้านบาทหรือราว 2% ของสินทรัพย์ทั้งหมด (SCGP มีรายได้น้อยกว่า 1% จากกัมพูชา และการขายจะส่งออกมาจากทางเวียดนาม) ส่วนประเด็นที่ต้องติดตาม คือ ทิศทางการบริหารจัดการสถานการณ์ดังกล่าวของรัฐบาลในระยะถัดไป