xs
xsm
sm
md
lg

Krungthai GLOBAL MARKETS เผยค่าบาทเปิดที่ 32.17-ยังคงมีแรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้(23 ก.ค.68) ที่ระดับ 32.17 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันที่ผ่านมา ณ ระดับ 32.29 บาทต่อดอลลาร์ และมองกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วโมง คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.10-32.30 บาท/ดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) ยังคงทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง เข้าใกล้โซนแนวรับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ (แกว่งตัวในกรอบ 32.15-32.31 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่เผชิญแรงกดดันจากจังหวะการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังบรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวท่ามกลางความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ (ใกล้ถึงกำหนดเส้นตาย 1 สิงหาคม ที่สหรัฐฯ ขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ารอบใหม่ที่ได้ประกาศไป หากไม่มีการบรรลุข้อตกลงการค้ากับบรรดาประเทศคู่ค้า)

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังเผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม ในช่วงเช้าของตลาดการเงินฝั่งเอเชีย หลังเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ทยอยแข็งค่าขึ้น เข้าใกล้โซน 146 เยนต่อดอลลาร์ ตอบรับข่าวสหรัฐฯ บรรลุข้อตกลงการค้ากับญี่ปุ่น ลดอัตราภาษีนำเข้าเหลือ 15% จาก 25% ซึ่งภาพดังกล่าวยังหนุนให้ผู้เล่นในตลาดปรับเพิ่มความคาดหวังการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ในปีนี้ บ้าง โดยล่าสุด ผู้เล่นในตลาดมอง BOJ มีโอกาส 75% ที่จะเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในปีนี้ (ในการประชุมปลายปี) และนอกเหนือจากการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ เงินบาทยังได้อานิสงส์จากการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ (XAUUSD) สอดคล้องกับจังหวะการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้ ราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน 3,450 ดอลลาร์ต่อออนซ์

สำหรับในช่วง 24 ชั่วโมงหลังจากนี้ ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานข้อมูลตลาดบ้านสหรัฐฯ ทั้งยอดการยืนขอสินเชื่อบ้าน (Mortgage Applications) และยอดขายบ้านมือสอง (Existing Home Sales) ในเดือนมิถุนายน นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดน้ำมัน ก็จะรอลุ้น รายงานยอดสต็อกน้ำมันคงคลังสหรัฐฯ โดย EIA

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตาม รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence) เดือนกรกฎาคม
และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ สหรัฐฯ อย่าง Alphabet และ Tesla ซึ่งรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ ดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เงินบาทยังคงได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าขึ้น ตามแนวโน้มการทยอยอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาทองคำ อีกทั้ง ในช่วงนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติก็ทยอยกลับเข้าซื้อหุ้นไทย อย่างไรก็ดี เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาท แม้จะยังมีโมเมนตัมอยู่บ้าง ก็อาจเป็นไปอย่างจำกัด โดยในส่วนของราคาทองคำนั้น เรามองว่า หากบรรดาประเทศคู่ค้าต่างๆ ทยอยบรรลุข้อตกลงการค้า ลดระดับอัตราภาษีนำเข้าลงจากที่ทางการสหรัฐฯ ได้ขู่ไว้ ก็อาจทำให้ บรรดาผู้เล่นในตลาดทยอยคลายกังวลแนวโน้มการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ได้

ขณะเดียวกัน หากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ออกมาสดใส โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ ก็น่าจะยิ่งทำให้บรรยากาศในตลาดการเงินเริ่มกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งควรจะกดดันราคาทองคำให้ย่อตัวลง โดยเฉพาะในจังหวะที่ราคาทองคำได้ปรับตัวขึ้นเข้าใกล้โซนแนวต้าน อย่างไรก็ดี เรายอมรับว่า ในภาพดังกล่าว ราคาทองคำก็อาจพอได้แรงหนุนบ้าง หรือไม่ได้ปรับตัวลดลงหนัก หากเงินดอลลาร์ย่อตัวลงหรือแกว่งตัว Sideways (จนกว่าตลาดจะปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดอย่างชัดเจน) ทั้งนี้ จากการคำนวณของเราล่าสุด พบว่า เงินบาทมีความอ่อนไหว (Beta) กับการเปลี่ยนแปลงของราคาทองคำอยู่ราว 0.3 ทำให้ หากราคาทองคำมีการย่อตัวลงมาทดสอบโซนแนวรับอีกครั้ง ก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้บ้าง

นอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจยังพอได้แรงหนุนอยู่ หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงทยอยออกมาสดใส รวมถึง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด และหนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ

นอกจากนี้ เรามองว่า บรรดาผู้เล่นในตลาดบางส่วน โดยเฉพาะฝั่งผู้นำเข้า อาจรอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์บ้าง หากเงินบาทแข็งค่าขึ้นทดสอบโซนแนวรับ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ หรือแข็งค่าทะลุโซนดังกล่าว และจากการประเมินค่าเงินบาทในเชิง Valuation โดยใช้ทั้ง โมเดล REER และ BEER ของเรา พบว่า เงินบาทได้แข็งค่าขึ้นมาพอสมควรในระดับมากกว่า +1.0 SD ซึ่งมักจะสะท้อนว่า เงินบาทยังมีความเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงมาได้บ้าง หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ เรามองว่า การแข็งค่าขึ้นของเงินบาทควรจะเป็นไปอย่างจำกัด และมีโอกาสที่เงินบาทเสี่ยงทยอยอ่อนค่าลงได้บ้างจากระดับปัจจุบัน ในช่วงระยะสั้นนี้
กำลังโหลดความคิดเห็น