xs
xsm
sm
md
lg

อังกฤษเตรียมโละบิทคอยน์ 5 พันล้านปอนด์ อุดงบขาดดุล นักเทรดหวั่น "ขายทิ้งตอนขึ้น" ย้อนรอยปมอดีต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รัฐบาลอังกฤษภายใต้การนำของราเชล รีฟส์ เดินเกมเสี่ยง เตรียมขายบิทคอยน์ที่ยึดมาจากคดีอาญามูลค่ากว่า 5 พันล้านปอนด์ หวังอุดหลุมดำการคลัง แต่เจอกระแสต้านว่ากำลังโยนสินทรัพย์แห่งอนาคตทิ้งลงตลาด ขณะที่หลายประเทศกำลังทยอยถือครองคริปโตไว้เป็นทุนสำรองชาติ

รัฐบาลสหราชอาณาจักรกำลังเดินหน้าพิจารณา "ขายโหด" บิทคอยน์มูลค่ากว่า 5 พันล้านปอนด์ ที่ยึดมาจากคดีอาชญากรรมทางการเงิน หวังปิดรูรั่วงบประมาณของประเทศ ที่ถูกประเมินว่าอาจขาดดุลสูงถึง 2 หมื่นล้านปอนด์ ในขณะที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่ง อัตราดอกเบี้ยพุ่ง และความเชื่อมั่นของประชาชนร่วง

แผนดังกล่าวถูกผลักดันโดย ราเชล รีฟส์ นายกรัฐมนตรีหญิงแห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งถูกตั้งคำถามหนักว่ากำลังเดินซ้ำรอย “Black Wednesday 2.0” โดยแลกอนาคตกับเงินสดระยะสั้น ท่ามกลางราคาบิทคอยน์ที่ยังคงแนวโน้มขาขึ้นทั่วโลก

เบื้องหลังของบิทคอยน์ ก้อนนี้มาจากคดีอื้อฉาวเมื่อปี 2561 ที่ตำรวจสหราชอาณาจักรเข้ายึดเหรียญดิจิทัลจากเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ข้ามชาติซึ่งเชื่อมโยงกับจีน โดยผู้ต้องหาอย่าง เจี้ยน เหว่ง ถูกตัดสินโทษในข้อหาอำนวยความสะดวกในการฟอกเงิน

ขณะที่มูลค่าบิทคอยน์ ณ เวลานั้นอยู่ที่ 300 ล้านปอนด์ แต่ราคาปัจจุบันพุ่งทะลุ 5 พันล้านปอนด์ นั่นคือการเพิ่มขึ้นกว่า 1,500% ภายในเวลาไม่ถึง 10 ปี

แม้จะดูเป็นขุมทรัพย์สำหรับงบประมาณ แต่หลายฝ่ายมองว่านี่คือ “ทรัพย์สินยุทธศาสตร์” ที่ไม่ควรถูกขายทิ้งง่าย ๆ โดยเฉพาะในยุคที่คริปโตกลายเป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงทางการเงินระหว่างประเทศ ไม่ใช่แค่ "เหรียญเสี่ยงโชค" อย่างในอดีต

ขณะที่แรงกดดันจากกระทรวงการคลัง ทำให้รัฐบาลต้องหาทางหลีกเลี่ยงการขึ้นภาษีหรือการตัดงบสวัสดิการ ซึ่งเป็นประเด็นอ่อนไหวต่อฐานเสียง โดยรายได้จากการขายบิทคอยน์ ครั้งนี้ถูกมองว่าเป็น "ทางลัด" ที่เร็วที่สุด แม้จะต้องแลกกับการเสียโอกาสมหาศาลในระยะยาว

ประเด็นที่น่าจับตาคือ ยังไม่มีความชัดเจนว่าเหยื่อของแชร์ลูกโซ่จะได้รับการชดใช้หรือไม่ โดยเฉพาะกลุ่มที่อยู่ต่างประเทศ หรือไม่สามารถพิสูจน์ตัวตนได้ตามข้อกฎหมาย

เสียงวิจารณ์เริ่มเปรียบเทียบการตัดสินใจครั้งนี้กับความผิดพลาดของ กอร์ดอน บราวน์ อดีตรัฐมนตรีคลัง ที่เคยขายทองคำของชาติในราคาต่ำสุดช่วงปี 1999 จนถูกขนานนามว่า “การขายที่โง่เขลาที่สุดแห่งศตวรรษ”

“การถือครองบิทคอยน์ในยุคนี้ คือการถือทองคำในยุคใหม่ ถ้ารัฐบาลอังกฤษยังคิดแบบศตวรรษที่แล้ว ก็คงได้ผลลัพธ์แบบเดิม” นักวิเคราะห์จากกลุ่ม ThinkTank ด้านสินทรัพย์ดิจิทัล กล่าว

ขณะที่หลายประเทศเริ่มปรับนโยบายถือครองบิทคอยน์เป็น “ทุนสำรองยุทธศาสตร์” เช่น เอลซัลวาดอร์ ที่ปัจจุบันทำกำไรคริปโตไปแล้วกว่า 430 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่อังกฤษเองกลับกำลังจะโละทิ้งในจังหวะที่ตลาดกำลังบูม

ในฝั่งของสหรัฐฯ หน่วยงาน US Marshals Service เคยเทขาย BTC จากคดี Silk Road จำนวน 185,000 BTC ในราคาถูกระหว่างปี 2557-2564 หากยังถือไว้จนวันนี้ รัฐบาลจะได้มูลค่ากว่า 21 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 4 เท่าจากตอนขาย

ในขณะที่โลกกำลังวิ่งเข้าสู่ยุคการเงินดิจิทัล อังกฤษกลับดูเหมือนกำลังเดินถอยหลัง ด้วยความเข้าใจผิดระหว่าง “ของผิดกฎหมาย” กับ “โอกาสทางเศรษฐกิจ”

อย่างไรก็ดีถ้าหากราคาบิทคอยน์พุ่งขึ้นอีก 3-5 เท่าตามที่นักวิเคราะห์หลายแห่งคาดการณ์ไว้ ชื่อของราเชล รีฟส์ อาจถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าเป็นนายกรัฐมนตรีที่ "เทขายอนาคต" เพื่อแลกเศษเงินในปัจจุบัน