นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ที่ระดับ 32.10-32.80 บาท/ดอลลาร์ และกรอบเงินบาทในช่วง 24 ชั่วงโมงข้างหน้า คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.30-32.50 บาท/ดอลลาร์ จากระดับเปิดเช้านี้(21ก.ค.68) ที่ 32.40 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง”จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ณ ระดับ 32.38 บาทต่อดอลลาร์ โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา เงินบาท (USDTHB) เคลื่อนไหวในลักษณะ Sideways (แกว่งตัวในกรอบ 32.35-32.42 บาทต่อดอลลาร์) สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวไร้ทิศทางที่ชัดเจน ของปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อเงินบาทอย่าง เงินดอลลาร์ และราคาทองคำ
ทั้งนี้ เงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้าง ตามการรีบาวด์แข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ หลังรายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนกรกฎาคม ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 61.8 จุด ดีกว่าคาด ส่วนอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะ 1 ปี และ 5 ปี ข้างหน้า ก็ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 4.4% และ 3.6% ต่ำกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดลดความกังวลต่อแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลงบ้าง
สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากการทยอยปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ยของเฟด ตามรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ทยอยออกมาดีกว่าคาด และอัตราเงินเฟ้อ CPI ก็สูงกว่าคาด
สำหรับในสัปดาห์นี้ เรามองว่า ควรรอติดตาม รายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศเศรษฐกิจสำคัญ พร้อมรอลุ้น รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน และเตรียมรับมือความผันผวนจากความวุ่นวายการเมืองญี่ปุ่น
สำหรับแนวโน้มเงินบาทเรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทเริ่มมีกำลังมากขึ้น ทำให้โดยรวมเงินบาทยังไม่ได้อ่อนค่าตามที่เราประเมินไว้ก่อนหน้า แม้ว่าเงินดอลลาร์จะทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องก็ตาม โดยเงินบาทยังพอได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่า ตามการทยอยปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทใกล้โซนแนวต้านในช่วงที่ผ่านมาได้เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนทยอยปรับสถานะถือครอง ขณะเดียวกัน ความหวังการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ และแนวโน้มการปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ภายใต้การนำของผู้ว่าการธปท. ท่านใหม่ ยังได้หนุนให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวสูงขึ้นและดึงดูดแรงซื้อหุ้นไทยจากบรรดานักลงทุนต่างชาติ
อย่างไรก็ดี เราขอคงมุมมองเดิมว่า ความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการค้าของสหรัฐฯ กอปรกับความเสี่ยงการเมืองในประเทศไทย อาจกดดันให้เงินบาทยังมีความเสี่ยงอ่อนค่าลงบ้าง แต่เงินบาทจะอ่อนค่าได้มากน้อยเพียงใด จะขึ้นกับการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ โดยหากราคาทองคำยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจเป็นเรื่องยากที่จะเห็นเงินบาทสามารถอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้ จากการประเมินในเชิงเทคนิคัล เงินบาทมีโซนแนวต้านแรกแถว 32.50 บาทต่อดอลลาร์ (โซนแนวต้านถัดไป 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์) ส่วนโซนแนวรับจะอยู่แถว 32.30 บาทต่อดอลลาร์ (แนวรับถัดไป 32.10 บาทต่อดอลลาร์)
อนึ่ง เมื่อประเมินด้วยกลยุทธ์ Trend-Following เงินบาทจะกลับมาอยู่ในแนวโน้มอ่อนค่าลงอีกครั้ง หากสามารถอ่อนค่าทะลุโซน 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้ชัดเจน (หรืออ่อนค่าทะลุเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน)
ในส่วนเงินดอลลาร์นั้นมองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น หากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์อาจได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินเยนญี่ปุ่น ท่ามกลางความวุ่นวายการเมืองญี่ปุ่น หลังรับรู้ผลการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก (Upper House Election)