xs
xsm
sm
md
lg

บล.ภัทรแต่งตัวเข้าตลาดหุ้นปี 48

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บล.ภัทรเตรียมเข้าตลาดหุ้นไทย หวังระดมทุนเพื่อใช้ลงทุนบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพ คาดจะระดมทุนประมาณ 1 พันล้านบาท พร้อมเล็งยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจกองทุนส่วนบุคคล เพื่อประกอบธุรกิจตลาดทุนครบวงจร หวังปี 48 ได้อันเดอร์ไรต์หุ้นยักษ์ใหญ่ กฟผ.-ทศท.

นายสุวิทย์ มาไพศาลสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ภัทร เปิดเผยว่าภายมกราคม คณะกรรมการบริษัทจะประชุม ซึ่งมีวาระนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย

คาดว่าจะระดมทุน 1 พันล้านบาท เงินที่ได้จากการระดมทุน บริษัทมีแผนจะใช้ลงทุนบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพจะเติบโต เงินส่วนหนึ่ง จะใช้รองรับทำธุรกิจตราสารอนุพันธ์ ที่จะเกิดขึ้นอนาคต

“บล.ภัทรสนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เพราะเห็นถึงโอกาสในการลงทุนในบริษัทต่างๆ ที่มีศักยภาพ ซึ่งเป็นการลงทุนในลักษณะเวนเจอร์แคปปิตอล รวมถึงตลาดตราสารอนุพันธ์ ที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ ดังนั้น บริษัทจึงต้องเตรียมความพร้อมที่จะทำธุรกิจด้านนี้ ซึ่งบริษัทจึงมีความจำเป็นที่จะต้องใช้เงินทุน ดังนั้น บริษัทต้องระดมทุน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ยังไม่ได้กำหนดระยะเวลาแน่นอนที่จะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์" นายสุวิทย์กล่าว

สาเหตุทื่สนใจลงทุนบริษัทต่างๆ เนื่องจากเห็นว่า ธุรกิจหลักทรัพย์ในไทยปัจจุบัน แข่งขันกันสูง ดังนั้นบริษัทจึงต้องการจะหารายได้ด้านอื่นเพิ่ม ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์ทั่วโลก ก็ลงทุนลักษณะดังกล่าวเช่นกัน คาดว่าผลตอบแทนที่จะได้รับ จะพิจารณาจากอัตราผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ROE) รวมทั้งต้องไม่ต่ำกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

ปัจจุบัน บล. ภัทรมีทุนจดทะเบียน 800 ล้านบาท ส่วนทุนประมาณ 1.1 พันล้านบาท ผลประกอบการปี 2546 บริษัทกำไรสุทธิ 600 ล้านบาท เป็นที่ปรึกษาการเงิน หรือแกนนำจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นใหญ่ 3 บริษัท ประกอบด้วย หุ้นเพิ่มทุนบริษัท การบินไทย (THAI) หุ้นเพิ่มทุนธนาคารกรุงไทย (KTB) หุ้นใหม่บริษัท ไทยโอเลฟินส์ (TOC)

ผลประกอบการปีนี้ คาดว่ากำไรจะลดจากปีก่อน ปีนี้ บริษัทเป็นที่ปรึกษาการเงินหุ้นใหญ่ 2 บริษัท ประกอบด้วย หุ้นบริษัท ไทยออยล์ (TOP) และ อสมท. (MCOT) แต่เมื่อเทียบปีก่อน ระดมเงินน้อยกว่า นายสุวิทย์กล่าวว่า

ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัทที่ผ่านมา ส่วนแบ่งตลาดเพิ่มต่อเนื่อง ปัจจุบัน ส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 3% แบ่งเป็น ลูกค้าสถาบันประมาณ 80% ลูกค้ารายบุคคลประมาณ 20% บริษัทมีแผนจะเพิ่มสัดส่วนลูกค้ารายบุคคลมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะยื่นขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจการบริหารกองทุนส่วนบุคคล
เพื่อจะทำให้บริษัทดำเนินธุรกิจได้ครบวงจร แม้บริษัทจะดำเนินนี้ธุรกิจล่าช้า แต่เขาเชื่อว่าไม่ส่งผลเสียบริษัท เพราะแต่ละบริษัท จะมีกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงกลยุทธ์การลงทุน ต่างกัน

ส่วนธุรกิจวาณิชธนกิจ คาดว่าปีหน้า บล. ภัทรจะเป็นที่ปรึกษาการเงิน นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 3 บริษัท แบ่งเป็น รัฐวิสาหกิจ 2 แห่ง คือ ทศท. คอร์ปอเรชั่น และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และบริษัทเอกชนอีกแห่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น