xs
xsm
sm
md
lg

ฟุตบอล ดนตรี แฟชั่น ยุค 90 / คอลัมน์ “Final Whistle" โดย "ผู้เล่นคนที่ 12"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คอลัมน์ “Final Whistle" โดย "ผู้เล่นคนที่ 12"

รูดม่านไปอย่างสวยสดงดงามสำหรับคอนเสิร์ตที่ก่อนหน้านี้คิดว่าชาตินี้จะไม่มีวันเกิดขึ้น คือการรียูเนียนรอบ 16 ปีของวง Oasis กับ 2 แกนนำ โนล-เลียม พี่น้องตระกูลกัลลาเกอร์ ที่กลับมาจูบปากกันเป็นที่เรียบร้อย โดยหลังจากเล่นที่ คาร์ดิฟฟ์ จากนี้จะโยกไปเล่นที่บ้านเกิดเมืองแมนเชสเตอร์ต่อไป

นอกจากตั๋วคอนเสิร์ตที่ Sold Out ไปก่อนแล้ว บรรดาของที่ระลึกต่างๆ ก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า โดยเฉพาะ Adidas ที่ประจวบเหมาะคลอดเสื้อผ้าของ Oasis ออกมาขายไม่ว่าจะเป็นเสื้อยืดกับแจ็คเก็ต ฯลฯ ล้วนออกแบบได้สวยงามชนิดที่ว่าแฟนเพลงอดใจไม่ไหวต้องซื้อมาใส่เดินโยกให้เหมือน เลียม ฟรอนต์แมนมาดก๊วน

แต่น่าเสียดายที่ดันเป็นแบรนด์ Adidas ไม่ใช่ Umbro ที่เปรียบเสมือนต้นตำรับภาพจำของ เลียม ที่เคยใส่แบรนด์ Double Diamond เป็นชุดซ้อมขึ้นเวทีคอนเสิร์ตที่ เมน โรด ดูแล้วเรียกได้ว่าคลาสสิกกว่าเป็นไหนๆ รวมถึงที่พี่น้องกัลลาเกอร์ใส่เสื้อแข่งทีมรัก แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ช่วยโปรโมตจนทำให้กลายเป็นเสื้อแข่งระดับขึ้นหิ้งไปแล้ว

หากย้อนไปยุค 90 แบรนด์ Umbro กับรูป Double Diamond ไม่ใช่แค่โลโก้เท่านั้น แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของยุคสมัยที่ซึมซาบเข้าสู่ฟุตบอล ดนตรี แฟชั่น และ วัฒนธรรมของคนยุคนั้นอย่างไม่รู้ตัวชนิดที่ว่าใส่ออกมาแล้วนั้นดูเท่แบบไม่ต้องพยายาม

Umbro คือแบรนด์กีฬาก็จริง แต่ปัจจัยสำคัญที่ถ่ายทอดจากสนามฟุตบอลไปจนถึงทางคือเท้ายุค 90 คือเป็นยุคที่ฟุตบอลทีมชาติอังกฤษได้รับความนิยมอย่างมากด้วย ทุกอย่างถูกมัดรวมอย่างลงตัวโมเมนต์ภาพ พอล แกสคอยน์ ร้องไห้หลัง อังกฤษ ตกรอบตัดเชือกเพราะแพ้ เยอรมนีตะวันตก ในศึก เวิลด์ คัพ 1990 ที่อิตาลี

มันทำให้คนอังกฤษกลับมาหลงใหลฟุตบอลแบบบ้าคลั่งอีกครั้ง ต่อด้วย ยูโร 96 ที่รับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพ แต่กลับกลายเป็นว่าแฟนบอลเต็มไปด้วยความอกหักและผิดหวังอีกครั้ง เพราะจอดป้ายเพียงแค่รอบรองชนะเลิศ ยาวมาจนถึง เวิลด์ คัพ 1998 ที่ฝรั่งเศส

มันคือช่วงเวลาที่ Umbro เป็นมากกว่าชุดกีฬา แต่เหมือนการประกาศตัวตน ชุดฝึกซ้อมหรือ Pro Training กลายเป็นชุดกีฬาสำหรับเด็กผู้ชายทั่วประเทศ เสื้อวอร์มผ้าร่มที่รูดซิปขึ้นมาถึงคาง สิ่งนี้คือแฟชั่นฟุตบอลยุคบุกเบิกก็ว่าได้ก่อนที่ในทุกวันนี้เมืองไทยหนุ่มสาวจะนิยมใส่กันมากขึ้น

ยุค 90 เวลานั้นฟุตบอลกับดนตรีไม่ได้เป็นแค่เพื่อนร่วมงานเท่านั้น แต่เหมือนพี่น้องสายเลือดเดียวกัน เลียม ที่ใส่เสื้อโลโก้ Umbro ตัวใหญ่กับท่าทางเดินสุดทะนงตน มันกลายเป็นแฟชั่นที่ลงตัวแบบ ทำให้เสื้อกีฬากลายมาเป็นสัญลักษณ์แห่งความเท่แบบ Britpop ในคราวเดียวกัน

Umbro เหมือนสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมฟุตบอลในยุค 90 ตอนนี้ก็ยังมีการปล่อยสินค้าคลาสสิกที่ออกใหม่หรือคอลเลกชันที่ได้รับแรงบันดาลใจจากอดีต พวกเขายังคงใช้ประโยชน์จากแหล่งขุมทรัพย์แห่งความคิดถึงนั้น ซึ่งเตือนให้เราทราบว่ายุค 90 ไม่ใช่แค่ทศวรรษธรรมดา แต่คือกระแสที่ทำให้คนทุกวันนี้โหยหาเป็นอย่างยิ่ง

คำว่าวัฒนธรรมฟุตบอลอาจจะอธิบายเป็นความหมายยืดยาวให้ลูกหลานฟัง แต่สิ่งที่ง่ายที่สุดคือให้ชี้ไปที่รูปคอนเสิร์ตที่ เมน โรด ของ Oasis แล้วเปิดเพลง Don't Look Back in Anger พวกเขาจะได้เห็นแบรนด์ Umbro โลโก้ที่ไม่ได้เป็นตัวแทนของแบรนด์เพียงอย่างเดียว แต่ยังกำหนดนิยามของเจเนอเรชันได้อีกด้วย

ปัจจุบันโลกของฟุตบอลและสไตล์เชื่อมโยงกันมากกว่าที่เคย บรรดาแบรนด์ต่างๆ รวมถึงยักษ์ใหญ่แห่งวงการสตรีทแวร์ได้พยายามขุดรากเหง้าแฟนชั่นอดีตขึ้นมาในคอลเลคชั่นใหม่ๆ ที่ออกมาเองหรือคอลแลบกัน พร้อมพรีเซนต์การผลิตด้วยผ้าและเทคโนโลยีระดับพรีเมียมออกมาขายใหม่ที่เห็นกันเกลื่อนตลาดไปหมด

ยกตัวอย่างเสื้อฟุตบอลของสโมสร แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ภายใต้แบรนด์ Adidas ก็มีการผลิตชุด retro ออกมาขายใหม่โกยเงินจากกระเป๋าแฟนๆ ไปพอสมควร ฤดูกาลใหม่นี้ก็จะมี ลิเวอร์พูล อีกที่เพิ่งย้ายค่าย ก็ถือเป็นอีกหนึ่งการตลาดที่หลายๆ ทีมหลายๆ แบรนด์ก็ทำกันไม่ได้ผิดอะไร
กำลังโหลดความคิดเห็น